ลำไส้ดี ชีวีมีสุข

จากอภัยภูเบศรสาร คอลัมน์พืชใกล้ตัว โดย ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้ข้อมูลว่า ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงอาหารให้เป็นพลังงาน ทำให้เรามีกำลังในการดำรงชีวิต ซึ่งต้องผ่านทั้งกระบวนการตั้งแต่การเคี้ยว กลืน ดูดซึม และขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าขั้นตอนใดก็ตาม จะทำให้คนเราเจ็บป่วยได้

การขับถ่ายเป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากระบบการย่อย พวกกากอาหารจะเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นจะดูดน้ำและเกลือแร่ที่เหลืออยู่ออก เมื่อกากอาหารมารวมกันมากพอจะมีผลกระตุ้นให้เราขับถ่ายต่อไป

สมอไทย

การขับถ่ายอุจจาระที่น้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ซึ่งจะมีลักษณะของก้อนอุจจาระที่แข็งและขับถ่ายออกมาได้ยาก ต้องออกแรงเบ่ง ใช้เวลานานในการถ่ายอุจจาระ อาการดังกล่าวเรียกว่า อาการท้องผูก หากเป็นเรื้อรังก็อาจนำไปสู่โรคริดสีดวงทวารได้ เนื่องจากการเบ่งอุจจาระและก้อนอุจจาระที่แข็ง หรืออาจก่อให้เกิดโรคลำไส้อุดตันได้

ฝักคูน

สมุนไพรที่นิยมใช้เป็นยาระบาย มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งก็มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป สมุนไพรที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายก็จะเป็นกลุ่มที่มีกลไกกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxative herbs) ทำให้เกิดการขับถ่ายออกมา

มะขามป้อม

จากคำบอกเล่าของเจ้าขุนแหลง หมอยาชาวไทยใหญ่ประจำเมืองขอน ว่าเพียงแต่แกะฝักคูนเอาเนื้อในสีดำที่เป็นแผ่นๆ มากิน 4-5 ชิ้น แล้วกินน้ำตาม แค่นี้ก็ช่วยให้ถ่ายสบายท้องแล้ว โดยภาพหลังมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับฝักคูนว่า สารสกัดจากฝักมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ซึ่งคนไทยนิยมใช้เนื้อในฝักคูนเป็นยาระบาย การใช้งานตามสาธารณสุขมูลฐานนั้น ได้แนะนำให้ใช้เนื้อในฝักหรือเนื้อหุ้มเมล็ดขนาดเท่าหัวแม่มือ (4 กรัม) มาต้มกับน้ำที่เติมเกลือเล็กน้อย และให้ดื่มก่อนนอน

สมอพิเภก

สำหรับยาระบายน้ำฝักคูนของอภัยภูเบศร จะมีการเพิ่มมะขามป้อม สมอพิเภก สมอไทย เข้าไปในตำรับ เพื่อช่วยปรับการบีบตัวของลำไส้ โดยแนะนำให้รับประทานเวลามีอาการท้องผูกครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ก่อนเข้านอน ก็จะช่วยทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้นในเช้าวันถัดมา

อย่างไรก็ตาม หากเริ่มมีอาการท้องผูก เพียงแต่รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ประเภทผักผลไม้ ผักดอง ซึ่งจะช่วยเสริมโปรไบโอติก ช่วยในการขับถ่ายได้ หากต้องการรับประทานยาระบายก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากลำไส้ใหญ่จะชินต่อยา เมื่อหยุดยา ลำไส้จะไม่บีบตัวหรือบีบตัวได้น้อยลง