‘มะแขว่น’ ใช้แทนเครื่องเทศ รสชาติเผ็ดร้อนคล้ายพริก รู้จักดีในเขต..จาวเหนือ

มะแขว่น พืชพื้นบ้านที่เป็นเครื่องเทศทางเหนือ ชื่ออื่น ลูกระมาศ หมากมาศ (กรุงเทพฯ) กำจัด กำจัดต้น มะแขว่น (เหนือ) มะแข่น มะข่วน บ่าแข่น หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน)ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Zanthozylum Limonella Alston วงศ์ส้ม Rutaceae มี 2 ชนิด คือพันธุ์หนัก และพันธุ์เบา มักขึ้นในป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขา เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน

ภาพจาก อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ หาวิทยาลัยมหิดล

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 6-8 คู่ ใบมีลักษณะยาวรีหรือรูปขอบขนาน ฐานใบไม่เสมอกัน ปลายใบเรียวแหลม ดอกออกเป็นช่อและก้านดอกยาว ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเขียว เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือดอกเพศเมียและเพศผู้อยู่คนละต้น จะออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

ภาพจาก อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ หาวิทยาลัยมหิดล

ผลมีลักษณะแห้งกลม ผิวขรุขระสีน้ำตาล เมื่อแก่ผลจะแตกจนเห็นเมล็ดสีดำกลม ผิวเรียบเป็นมัน มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายผักชี มีรสเผ็ดเล็กน้อย

พะเยา พบในแถบตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง ที่ได้ชื่อว่าเป็นมะแขว่นที่มีคุณภาพดีของภาคเหนือ

มีบทเพลงพื้นบ้านกล่าวถึงมะแข่นว่า “มะแข่นดีปี๋ ไผมีขะใจ๋เอามา คั่วเหียนาใส่ลาบบ่ขื่น” แปลว่า ใครมีมะแข่นกับดีปลี ให้รีบเอามา แล้วคั่วใส่ลาบจะได้ไม่มีรสขื่นมาก นอกจากนี้ ยังนิยมใส่ในยำเนื้อไก่ หลู้ แกงขนุน แกงผักกาด ช่วยทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้น และถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้กินแก้สำหรับอาหารจานที่มีเนื้อสัตว์มาก เพราะช่วยย่อยเนื้อได้

ส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารคือ ใบอ่อนและผล ใบและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ลาบ ยำ ผล เป็นเครื่องเทศที่นิยมในภาคใต้และภาคเหนือ โดยเฉพาะทางภาคใต้ นิยมผสมในเครื่องแกง เช่น แกงฟักทอง แกงปลาไหล เป็นต้น ช่วยให้แกงมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอม

สรรพคุณทางยา แพทย์แผนโบราณใช้รากและเนื้อไม้เป็นยาขับลมในลำไส้ ลมขึ้นเบื้องสูงทำให้หน้ามืดตาลาย วิงเวียน ลดความดัน เป็นยาขับโลหิต ระดูของสตรี แต่ไม่ใช้กับหญิงมีครรภ์ เมล็ดสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหย

ลาบปลากะพงมะแขว่น

ข้อมูลจาก “สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ระบุว่า น้ำมันหอมระเหยสกัดจากเมล็ดมะแขว่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของหนูทดลองที่เกิดจากพิษของสาร formalin และ Carragenin และเมื่อทดลองกับคนสามารถระงับการอักเสบบนผิวหนังได้เมื่อทาด้วยน้ำมัน

น้ำมันยังมีฤทธิ์ในการทำให้กระจกตาของหนูทดลองชาเมื่อใช้ในความเข้มข้น 0.25% แต่ไม่ได้ทำให้ผิวของกระจกตาชาไปด้วย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้ความดันโลหิตลดลงเมื่อทดลองกับแมวและสุนัข

นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากผลมีฤทธิ์ในการขับพยาธิลำไส้ชนิด Taenia solium, Ascaridia galli และ Pheretima postuma ฤทธิ์อื่นๆ นอกจากนี้ได้แก่ ต้านอหิวาตกโรคในกระต่าย ต้านฮิสตามีน และคลายกล้ามเนื้อเรียบ

มะแขว่น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด อายุ 3-5 ปี จึงให้ผลผลิต ปัญหาที่พบในการปลูกมะแขว่นในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาปลวกกัดกินรากและโคนต้น ทำให้ต้นกลวงและถูกมดดำเข้าทำลายซ้ำ ทำให้ต้นตาย หรือถูกสัตว์จำพวกตัวตุ่นกัดกินราก ทำให้ยืนต้นตายบางส่วน และที่พบเห็นบ่อยคือถูกไฟป่าเผาทำลาย

ผลอ่อนมะแขว่น
ผลสุกมะแขว่น
ภาพจาก อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ หาวิทยาลัยมหิดล