หนุ่มเชียงของ ทำส้มเขียวหวานออกนอกฤดูกาลได้โดยการบังคับการให้น้ำ

หนุ่มบ้านห้วยเม็ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบรักสาวพะเยา นำประสบการณ์การทำสวนส้มเขียวหวานมาบุกเบิกที่พะเยา คาดอนาคตไร้คู่แข่ง

คุณอภิวัฒน์ จันต๊ะคาด หรือ คุณบอม บัณทิตหนุ่มจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จบการศึกษาเมื่อปี 2555 ถูกเกณฑ์ทหาร 1 ปี หลังจากนั้นได้ไปทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตำแหน่ง Load Control (เจ้าหน้าที่ควบคุมน้ำหนักและจัดระวาง) บริษัท Bangkok Flight Services ทำอยู่ประมาณ 1 ปี จึงกลับมาช่วยพ่อแม่ทำสวน แล้วจึงเริ่มมาลงทุนทำสวนที่พะเยา โดยพักอยู่ที่ บ้านเลขที่ 91 บ้านร่องคำหลวง ซอย 8 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ถ้าเอ่ยถึง บ้านห้วยเม็ง หลายคนคงจะรู้จักว่าเป็นหมู่บ้านที่ผลิตส้มเขียวหวานที่มีชื่อเสียงมานาน คุณอภิวัฒน์ สั่งสมประสบการณ์การทำสวนส้มเขียวหวานจากพ่อแม่ที่บ้านห้วยเม็งมาแต่เด็กๆ และทราบดีว่าปัจจุบันสวนส้มเขียวหวานประสบปัญหามากมาย ทั้งเรื่องโรคจากเชื้อรา สาเหตุจากเชื้อโรคอื่น แมลงศัตรูส้ม ธาตุอาหาร เมื่อพบรักกับแฟนสาวชาวพะเยา จึงมาบุกเบิกการปลูกส้มเขียวหวานที่บ้านแฟน ตอนนี้ปลูกไป 2 แปลง แปลงแรกปลูกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ระยะปลูก 4×3.5 เมตร จำนวน 700 ต้น

คุณอภิวัฒน์ จันต๊ะคาด เกษตรกรรุ่นใหม่

ปัญหาที่พบของแปลงนี้คือ ระยะชิดเกินไป เมื่อส้มโตขึ้นการเข้าไปทำงานลำบาก ส่วนแปลงที่ 2 ปลูกมาแล้ว 1 ปี ระยะปลูกห่างขึ้น เป็น 3.5×5.5 เมตร 10 ไร่ จำนวน 820 ต้น เพื่อแก้ปัญหาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปทำงาน ปัญหาการใช้แรงงานคนตัดหายากและใช้เวลามาก แต่ที่เป็นปัญหาหลักของแปลงส้มเขียวหวานคือ ที่พะเยา คือพายุลูกเห็บ ซึ่งตกเป็นประจำทุกปี พายุฤดูร้อนช่วงต้นฝน ปีที่ผ่านมาเสียไปเกือบ 50% ปัญหาของการปลูกระยะห่างก็คือ การเปลืองน้ำมาก แนวทางคือ การวางระบบน้ำ แบบมินิสปริงเกลอร์ ควบคู่กับสปริงเกลอร์ปกติ

ข้อมูลทางวิชาการส้มเขียวหวาน เป็นส้มชนิดหนึ่ง ที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากส้มจีน (C. reticulata)

ในประเทศไทยมีผู้สันนิษฐานว่า มีผู้นำเข้าต้นพันธุ์มาจากประเทศจีน เมื่อระยะเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว โดยลักษณะทั่วไปของส้มเขียวหวานมีรูปกลมมน แป้นเล็กน้อย ฐานผลกลมมน ด้านล่างเป็นแอ่งตื้นๆ ผิวผลเรียบ มีเปลือกบาง เนื้อส้มภายในเป็นสีส้มอมทอง ฉ่ำน้ำ กลีบแยกออกจากกันได้โดยง่าย มีรสชาติอร่อย หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อแกะออกมาแล้วกลิ่นจะติดจมูก ทำให้เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมาก ทั้งในรูปของผลไม้สดและในรูปของน้ำส้มคั้น ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารสูงแล้ว การบริโภคในลักษณะที่รวมทั้งเส้นใยและกากจะเป็นยาระบายอ่อนๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ส้มเขียวหวานที่ผลิตในแต่ละปีจะใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท

ผลผลิตส้มเขียวหวาน

แหล่งที่ขึ้นชื่อว่า ปลูกส้มเขียวหวานกันมากและมีชื่อเสียงในประเทศไทย คือ ตำบลบางมด ในพื้นที่อำเภอราษฎร์บูรณะและอำเภอบางขุนเทียนของจังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือ แขวงบางมด ในเขตทุ่งครุ  และเขตจอมทองของกรุงเทพมหานคร) จนได้ชื่อว่า “ส้มบางมด” แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 มีน้ำทะเลได้หนุนเข้ามา ทำให้ไม่สามารถปลูกได้ จึงได้เปลี่ยนมาปลูกที่ทุ่งรังสิต โดยเริ่มที่คลองสอง ธัญบุรีต่อมาในปี พ.ศ. 2511 จึงมาปลูกที่อำเภอหนองเสือจนได้ชื่อว่า “ส้มรังสิต” แต่ปัจจุบันก็มีการเพาะปลูกน้อยลง รวมถึงในพื้นที่บางมดด้วย

ส้มเขียวหวาน มีสรรพคุณทางยาและโภชนาการ ตรงที่ผลนำมารับประทานหรือคั้นน้ำดื่ม มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานบรรเทาอาการกระหายน้ำ ป้องกันโรคหวัดและการติดเชื้อแบคทีเรีย ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในโลหิต ช่วยระบบย่อยอาหารของร่างกาย ระบายได้ดี แก้อาการท้องผูก และมีคุณค่าทางอาหาร ส้มเขียวหวาน น้ำหนัก 100 กรัม ให้วิตามินซี 42 มิลลิกรัม

นอกจากนี้แล้ว ส้มเขียวหวาน ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก ตามพื้นที่ทำการเพาะปลูก เช่น ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มจันทบูร ส้มแป้นกระดาน ส้มแสงทอง ส้มแป้นเกลี้ยง ส้มจุก หรือส้มบางมด เป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปกติส้มเขียวหวานไม่ชอบน้ำขัง จึงเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวที่ปรับปรุงสภาพให้เหมาะสม เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ ดังนั้น พื้นที่ปลูกจึงควรมีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ

ระยะปลูกและหลุมปลูกส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม ขนาดทรงพุ่มมักจะไม่ใหญ่มากนัก ควรปลูกกลางร่อง โดยใช้ระยะระหว่างต้น 3-4 เมตร ส่วนส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ดอน ส่วนมากจะมีทรงพุ่มค่อนข้างใหญ่และอายุยืน จึงใช้ระยะปลูกระหว่าต้น 4 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร หลุมการปลูกควรขุดให้มีความกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมดินปลูกด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 10 กิโลกรัม ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต 500 กรัม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน แล้วกลบลงไปในหลุมจนเต็มปากหลุม ทิ้งไว้ในระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่แล้วจึงเติมดินผสมลงไปอีกจนเต็มเสมอปากหลุม

สวนที่ห้วยเม็ง

การให้น้ำเมื่อต้นส้มเขียวหวานโตแล้ว การให้น้ำก็ยังคงให้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตและสภาพทั่วๆ ไป เช่น ในระยะก่อนออกดอก จะต้องการน้ำน้อย เพื่อให้มีช่วงเก็บสะสมอาหาร แต่เมื่อติดผลแล้วส้มจะต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงผลแก่ เมื่อผลส้มเข้าสีแล้วถ้าลดปริมาณน้ำลงจากปกติจะช่วยให้ผลส้มแก่เร็วขึ้น และควรงดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยว ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยทำให้ส้มมีรสหวานมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าเพิ่มปริมาณน้ำในดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ จะช่วยชะลอการสุกของผลส้มได้ ประมาณ 20 วัน วิธีการให้น้ำส้มเขียวหวานมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น การให้น้ำทางสายยาง การใช้เรือรดน้ำ การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ เป็นต้น ส่วนช่วงเวลาการให้น้ำที่เหมาะสมคือ ระหว่างเวลา 08.00-10.00 น. และ 14.00-16.00 น.

สภาพสวน

การออกดอกติดผล ปกติส้มเขียวหวานสามารถออกดอกติดผลได้ตั้งแต่ปีแรกของการปลูก แต่ไม่นิยมเก็บไว้ เพราะจะทำให้ต้นโทรม ไม่เจริญเติบโต จึงควรปลิดดอกทิ้งทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อส้มอายุได้ 3 ปี จึงให้ติดผลได้ เพราะต้นใหญ่ขึ้นและแข็งแรงพอที่จะให้ติดผลได้ ปัจจุบันสามารถทำให้ส้มเขียวหวานออกนอกฤดูกาลได้โดยการบังคับการให้น้ำ กล่าวคือ หลังจากการให้น้ำแล้ว อีกประมาณ 10 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลได้ ดั้งนั้น ถ้าต้องการให้ส้มเขียวหวานแก่ในเดือนใด ก็จะนับย้อนหลังไปประมาณ 10 เดือน แล้วเริ่มควบคุมการให้น้ำ ก็จะทำให้ส้มเขียวหวานออกดอกออกผลตรงตามเวลาที่ต้องการ

การค้ำกิ่ง หลังจากส้มเขียวหวานติดผลควรค้ำกิ่ง เพื่อช่วยป้องกันกิ่งฉีกขาดหรือหัก เนื่องจากน้ำหนักของผลที่ติดอยู่บนต้นมีแรงเหวี่ยงโยนสูงมาก หากมีลมพัดจะยิ่งทำให้ฉีกขาดได้มากขึ้น และยังช่วยยกระดับของผลให้สูงจากพื้นดิน เพื่อลดความเสียหายอันเนื่องมาจากโรคและแมลงได้อย่างมาก

โรคและแมลงศัตรู นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นส้มเขียวหวาน ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และเป็นอุปสรรคต่อการผลิตส้มเขียวหวานให้มีคุณภาพดี เนื่องจากโรคและแมลงสามารถเข้าทำลายส้มได้ทุกระยะการเจริญเติบโต และทำลายได้ทุกส่วนของต้นส้ม รวมทั้งผลส้มด้วย ดังนั้น เกษตรกรควรได้ศึกษาและวางแผนควบคุมกำจัดโรคและแมลงศัตรูส้มไว้เสมอ สำหรับโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า โรคกรีนนิ่ง โรคแคงเกอร์ โรคทริสเทซ่า หนอนชอนใบ หนอนแก้วส้ม เพลี้ยไฟ ไรสนิมส้ม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยไก้แจ้ส้ม หนอนเจาะสมอฝ้าย ไรเหลืองส้ม เป็นต้น

ผลผลิตที่ได้

การเก็บเกี่ยวผลส้มเขียวหวานจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน นับจากวันออกดอก ผิวส้มจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม และความแข็งของผลลดลง วิธีการเก็บเกี่ยว ให้ใช้กรรไกรคมๆ ตัดที่ก้านผล ไม่ควรดึงหรือเด็ด เพราะจะทำให้ขั้วผลแยกตัวออกจากส่วนเนื้อ ขั้วผลฉีกเป็นแผล อันเป็นช่องทางให้เกิดโรคผลเน่าภายหลังเก็บเกี่ยวได้ง่าย

คุณอภิวัฒน์ เล่าตบท้ายว่า ที่คิดกลับมาทำสวนประการแรก เพราะเป็นลูกคนเดียว ในอนาคตยังไงก็ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่อยู่แล้ว ประการที่ 2 การทำสวนผลไม้ ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอด ก็เลยอยากรีบกลับมาเรียนรู้เพิ่มเติม ประการที่ 3 การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ค่าครองชีพสูง มีค่าใช้จ่ายสูง เงินเดือนไม่พอใช้ ที่บ้านทำสวนรายได้ยังดีกว่า สุดท้าย คุณอภิวัฒน์ให้ข้อคิดว่า ส้มเขียวหวานทำยาก ต้นทุนในการผลิตสูง ในอนาคตน่าจะไม่เป็นที่น่าสนใจของเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ทำให้คนที่มีความรู้ ความสามารถในการผลิตลดลง หมายความว่า คู่แข่งจะลดลง จึงได้มาบุกเบิกปลูกในพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งคิดว่าน่าจะไปได้ดี

สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตส้มเขียวหวาน เชิญที่ บ้านร่องคำหลวง ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โทร. 085- 039-7007 ขอเฉพาะเรื่องส้มเขียวหวาน ส่วนเรื่องอื่นขออนุญาตอย่ารบกวนกันเลย

คุณอภิวัฒน์และแฟนสาว

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2562