เอสซีจี ร่วมจับมือชุมชนมดตะนอย จัดกิจกรรม “Save Mariam’s Family” ที่ตรัง

ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า มีปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลประมาณ 13 ล้านตัน ในประเทศไทย จัดอันดับให้อยู่ที่ 5 จาก 10 ประเทศ ที่ทิ้งขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก ผลกระทบจากขยะทะเล ทำให้สัตว์ทะเลหายากเสียชีวิต โดยปี 2560 พบว่า มีเต่าและโลมากลืนขยะ ร้อยละ 2-3 ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรมลง มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและก่อให้เกิดปัญหาขยะข้ามแดน

ชุมชนบ้านมดตะนอย ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่มีพื้นที่ติดกับทะเล คลองบ้านมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหม ทำให้หลายพื้นที่มีขยะลอยมาติดบริเวณชายฝั่งด้านต่างๆ

ปี 2557 เป็นจุดเปลี่ยนให้กับชุมชนบ้านมดตะนอย เมื่อมีคนจากภายนอกชุมชนที่ได้มาศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้พูดเปรยให้คนในชุมชนได้ยินว่า “ชุมชนนี้มีขยะเยอะจัง” ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในชุมชนเกิดความรู้สึกไม่ดี และรวมตัวกันด้วยความคิดที่ว่า “อยากให้ชุมชนสวยสะอาดน่ามอง” จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย ให้ช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

คุณหนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย (รพ. สต. บ้านมดตะนอย) เล่าว่า ปี 2557 มีกลุ่มคนจํานวนหนึ่งของชุมชนบ้านมดตะนอยได้รวมตัวกันด้วยความต้องการจัดการกับขยะในหมู่บ้าน จึงได้จัดทำเวทีประชาคมกับคนในหมู่บ้าน จนเกิดเป็นข้อกำหนดการจัดการขยะชุมชน โดยเริ่มจากจัดการขยะในบ้านตนเองก่อนและกำหนดให้มีการปัดกวาดบ้านตนเองทุกวันศุกร์ และจะร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะเป็นประจำทุกเดือน จากนั้นเมื่อชาวบ้านในชุมชนเริ่มเห็นการทำงานของกลุ่มและหมู่บ้านเริ่มสะอาดมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน

ในปี 2558 เมื่อมีการจัดการขยะเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการคัดแยกขยะ โดยขยะที่ขายได้ก็แยกไว้ขาย ขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลในรูปแบบต่างๆ ได้ก็นำมารีไซเคิลต่อในชุมชน และมีการตรวจพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจึงทำให้ชุมชนสนใจหาสาเหตุของการเกิดโรคและพบข้อสันนิษฐานว่า ปัจจัยน่าจะมาจากการใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้คนในชุมชนสนใจเรื่องการเลิกใช้โฟมในหมู่บ้านอย่างจริงจัง เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กในโรงเรียนบ้านมดตะนอยก่อนและขอความร่วมมือจากร้านค้าในโรงเรียน รวมถึงร้านขายของในชุมชน ทำให้ลดการใช้โฟมในชุมชนได้

ปี 2559 ชุมชนบ้านมดตะนอย จึงได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม ซึ่งผลจากการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องนี้ทำให้หมู่บ้านได้รับการรับรองจากกรมอนามัย ให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟม ประจำปี 2559 ไม่ใช่แค่การจัดการขยะ แต่ยังเพาะพันธุ์และปลูกต้นโกงกางและหญ้าทะเลเพื่อดูแลระบบนิเวศอย่างครบวงจร

นายปรีชา ชายทุย หรือ บังชา ประธานวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านมดตะนอย เล่าว่า เมื่อก่อนพื้นที่นี้ได้สัมปทานให้นำไม้โกงกางมาเผาเป็นถ่านขายได้ โดยถ่านที่เผาได้ไม่ได้นำมาใช้ในประเทศ แต่ส่งออกไปขายต่างประเทศผ่านทางเรือจากท่าเรือกันตัง บ้านมดตะนอยก็ทำเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ จนเมื่อ ปี2537 ชาวบ้านมดตะนอยเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ไม้โกงกางค่อยๆ หายไป แต่กุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์ทะเลก็เริ่มหายไปด้วย ในขณะที่อากาศก็ร้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คนในชุมชนเริ่มเกิดความกังวลถึงอนาคต จึงหันมาพูดคุยกัน เกิดเป็นข้อตกลงที่คนในหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งจะเลิกอาชีพทำถ่านแล้วเปลี่ยนมาเป็นการปลูกไม้โกงกางแทน ปัจจุบัน มีป่าโกงกางรอบบ้านมดตะนอย ประมาณ 3,000 ไร่ ผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ มีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะป่าโกงกางเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ทะเลเหล่านี้ ยิ่งป่าสมบูรณ์ยิ่งเพิ่มแหล่งกำเนิดของสัตว์ทะเล

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ทาง เอสซีจี (SCG:Siam Cement Group) หรือ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และคณะ จึงได้จัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลร่วมกับชุมชน เพราะหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน และมีประโยชน์สำหรับชาวประมงด้วย เพราะเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำและเป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ปัจจุบัน ได้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลไว้ 1,000 ต้น และมีอัตราการรอดตายระหว่างเพาะพันธุ์ ร้อยละ 80 ทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารต่างๆ ในระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นแหล่งทำการประมง หญ้าทะเลมีระบบรากที่แข็งแรง จึงช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและช่วยป้องกันชายฝั่งไม่ให้พังทลายหญ้าทะเลบางชนิด

ล่องเรือกันทิ้งบ้านปลา

และยังร่วมกันทิ้งบ้านปลาที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน เพราะเล็งเห็นว่าเมื่อสัตว์ทะเลมีเพิ่มมากขึ้นจากการมีแหล่งเพาะพันธุ์และวางไข่ที่บริเวณหญ้าทะเล และป่าโกงกางรอบหมู่บ้านชุมชนบ้านมดตะนอยจึงคิดต่อยอดไปถึงการสร้างแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กเพิ่มเติมที่อยู่ในเส้นทางน้ำที่จะออกสู่ทะเล นั่นคือ คลองบ้านมดตะนอย และคลองลัดเจ้าไหม จึงมีการจัดทำซั้งกอหรือบ้านปลาที่ทำมาจากก้านมะพร้าวเป็นแหล่งให้สัตว์น้ำขนาดเล็กหลบพักอาศัย เมื่อย้อนไปใน ปี 2559 เอสซีจี ได้เข้ามาพูดคุยกับชุมชนถึงการดูแลอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลด้วยการฟื้นฟูดูแลระบบนิเวศชายฝั่งทะเลแบบครบวงจรที่มีทั้งการปลูกป่าโกงกาง ปลูกหญ้าทะเล และจัดทำบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล จึงเกิดความร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินการแต่ละเรื่องมาตามลำดับ โดยมีการจัดหารูปแบบบ้านปลาที่ตรงตามความต้องการของชุมชน รวมถึงวัสดุที่ใช้ทำบ้านปลาที่ชุมชนสามารถดำเนินการเองได้และลงมือทดลองทำในช่วงปลายปี 2560 เกิดเป็นบ้านปลา นำไปวางไว้ในคลองบ้านมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหม ทำมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ได้จัดทำบ้านปลาไปวางในคลองมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหมแล้ว 300 หลัง

บ้านปลาดังกล่าวทำโดยใช้นวัตกรรมปูนคนใต้ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานและทนซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล ทำให้คอนกรีตมีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมแม้อยู่ใต้ท้องทะเล เมื่อวางบ้านปลาได้ประมาณ 3 เดือน จะมีเพรียงและสัตว์น้ำขนาดเล็กมาเกาะยึดบริเวณผิวของบ้านปลา ทำให้มีปลาหลายชนิดเข้ามาหลบพักอาศัยและช่วยเพิ่มพื้นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งส่งผลดีต่ออาชีพประมง ทำให้ชาวประมงสามารถทำประมงได้แม้อยู่ในช่วงหน้ามรสุมโดยไม่ต้องนำเรือออกไปในทะเลใหญ่ และยังส่งผลถึงความปลอดภัยที่มากขึ้นของชาวประมงและทำให้เกิดการประกอบอาชีพประมงอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ปลูกป่ากันคนละไม้คนละมือ
รูปกิจกรรมของชุมชน