ปลูกคะน้านอกฤดู…เคล็ดลับจากเซียนผักกรุงเก่า ทำได้รับทรัพย์แซงหน้าเจ้าอื่น

ในแวดวงคนปลูกผักด้วยกันย่อมรู้ดีว่าผักคะน้าเป็นผักที่ปลูกค่อนข้างยากเพราะนอกจากจะเป็นโรคได้ง่ายแล้วยังเป็นที่นิยมของหนอนอีกด้วย แต่ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผักคะน้ามี ราคาสูงกว่าผักชนิดอื่น ๆ อันเป็นเหตุจูงใจให้ ปฐพี พวงสุวรรณ์ เกษตรกรชุมชนนาคู จ.พระนครศรีอยุธยา มุ่งมั่นศึกษาพัฒนาวิธีการปลูกผักคะน้ามา อย่างต่อเนื่องโดยไม่ใช้สารเคมีจนเกิดความชำนาญ กระทั่งค้นพบเคล็ดลับการปลูกคะน้านอกฤดูกาลเป็นผลสำเร็จ

“ผมเลือกปลูกคะน้าเพราะมีคนปลูกน้อยเนื่องจากเป็นผักที่มีโรคและแมลงเยอะ แต่ในทางกลับกันหากเราทำได้โอกาสได้กำไรก็เยอะกว่าผักชนิดอื่น…” ปฐพีเริ่มต้นเกริ่นนำแล้วบอกต่อว่า “…ผมอาศัยการรู้จักนิสัยใจคอของพืชเป็นหลัก เราเป็นคนปลูกผักเราต้องรู้จักผักที่เราปลูก ไม่งั้นไม่มีวันที่เราจะทำสำเร็จ เมื่อปลูกคะน้าผมก็หาตำรามาอ่านว่ามันเป็นพืชแบบไหน เป็นโรคอะไร มีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไร รวมถึงธรรมชาติในการเจริญเติบโตของมัน พอลงมือทำจริงเรา   ต้องคอยดูแล สังเกตและทดลองเปรียบเทียบพิสูจน์ผลดูอย่างเช่นการให้ปุ๋ยบำรุงต้นใบนั้น หลังหว่านแล้ว ไม่ต้องให้ปุ๋ยบำรุงต้น ให้ปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่งต้นจะแดง ๆ แต่แข็งแรงแมลงไม่กวน ไม่เป็นโรค หลังจาก 37 วันไปแล้วค่อยให้ปุ๋ยบำรุงต้น บำรุงใบ รับรองไม่ว่าต้นเล็กต้นใหญ่ก็โตเท่ากันหมด”

สำหรับที่มาของการปลูกคะน้านอกฤดูนั้น ปฐพีบอกว่า “ผมเห็นว่าในช่วงหลังสงกรานต์ราคาคะน้าจะสูง ถ้าใครปลูกช่วงนี้ได้ผล ได้ตังค์แน่นอน ผมเลยพยายามศึกษาจนพบว่าสาเหตุสำคัญคือคะน้าเป็นผักเมืองหนาวไม่ทนร้อนในขณะที่บ้านเรานั้นช่วงเมษายนอากาศจะร้อนมากแต่เกษตรกรมักจะรดน้ำผักในตอนเช้าจนชุ่ม โดยลืมนึกไปว่า น้ำจะคายความร้อนช้ากว่าดิน ฉะนั้นตอนกลางวันอุณหภูมิจะสูงขึ้นไป เรื่อย ๆ ถึงประมาณ 60-70 องศา รากจะเน่าและตาย พอรู้อย่างนี้ผมก็เปลี่ยนใหม่ โดยตอนเย็นราดน้ำให้โชกนิดหนึ่ง ตอนเช้าจะเอาเรือมารดน้ำ ซึ่งการรดตอนเช้ามีประโยชน์คือ ล้างน้ำค้างเพราะน้ำค้างอาจทำให้เกิดเชื้อราทางใบได้พอประมาณ 10 โมงดินเริ่มร้อน รดน้ำอีกครั้งแบบโฉบ ๆ พอบ่ายสองโมงก็โฉบ ๆ อีกครั้ง เพื่อลดอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตลอดทั้งวัน พอทำแบบนี้แล้วก็ได้ผลจริง ๆ”

ปฐพีบอกว่าในพื้นที่ 3 งาน หากปลูกคะน้านอกฤดูจะได้กำไรประมาณ 7-8 หมื่นบาท ซึ่งเมื่อรวมกับคะน้าในฤดูอีก 2 ครั้งในปีหนึ่ง ๆ จะมีรายได้ร่วม 2 แสนบาท นี่ยังไม่รวมรายได้จากพืชผักสวนครัวชนิดอื่น ๆ ที่ปลูกแทรกในแปลงและรอบ ๆ แปลงซึ่งมีตลอดทั้งปี

“นอกจากผลผลิตจะสร้างรายได้เพิ่มให้แล้ว ต้นทุนที่ลดลงก็นับว่าเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยการหันมาใช้สารชีวภาพแทนการใช้สารเคมีและการใช้สารชีวภาพยิ่งใช้ก็ยิ่งช่วยฟื้นฟูสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น    เท่านั้น” ปฐพี กล่าว.