เผยแพร่ |
---|
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ จังหวัดปทุมธานี – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 (สพป.ปทุมธานี เขต 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุนคือ มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM 2.5” ระหว่าง วันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2562 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับเยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่ พร้อมสร้างความตระหนักและความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสถานการณ์ PM 2.5 ให้แก่บุคคลในพื้นที่ ด้วยการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัยเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน มาใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนการรู้ในห้องเรียน จะส่งผลให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น โดยมีปลัดอาวุโสอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ตลอดจนวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 162 คน จากโรงเรียน สังกัด สพป.ปทุมธานี เขต 1 จำนวน 103 โรงเรียน
นายบุญเลิศ เนตรขำ ปลัดอาวุโสอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานในพิธีกล่าวเปิดการอบรมว่า “การอบรมเชิงปฏิบัติเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM 2.5 เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 (สพป.ปทุมธานี เขต 1)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุนคือ มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง นับเป็นความร่วมมือกันในระดับหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจังหวัดปทุมธานี
“ผมตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูทุกท่านเป็นบุคคลที่มีความตั้งใจ และเสียสละ ในการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง มีปณิธานเดียวกันที่ต้องการให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นกำลังสำคัญที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในเรื่อง การคิดอย่างเป็นตรรกะ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และกระบวนการคิดอย่างมีเหตุและผล จะเป็นการสร้างรากฐานสำคัญของชีวิต และจะนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย เรื่อง โค้ดดิ้ง (Coding) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เรื่อง ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน มาใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนการรู้ในห้องเรียน จะส่งผลให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้นำความรู้กลับไปติดอาวุธทางปัญญาให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นรายวิชาพื้นฐาน โดยที่สาระที่ 4 เทคโนโลยี ในส่วนที่เรียกว่า “วิทยาการคำนวณ” ให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นวิชาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้เด็ก 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การคิดเชิงคำนวณ ส่วนที่ 2 ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ ส่วนที่ 3 การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในส่วนที่ 1 เรื่องการคิดคำนวณ ได้นำเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการดำรงชีวิตในอนาคต มาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ซึ่งการโค้ดดิ้ง หรือโปรแกรมมิ่ง เป็นการใช้คำสั่งคอมพิวเตอร์สร้างลำดับการทำงานเพื่อการประยุกต์ในงานด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวโยงกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อกิจกรรมการแก้ปัญหาในชีวิต ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณจึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด แก้ปัญหา เหมือนเป็นการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ หรือภาษาโค้ดดิ้งนั่นเอง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดปทุมธานีได้ประสบกับปัญหาสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินมาตรฐาน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน กับเยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนึ่งคือการสร้างความตระหนักและความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสถานการณ์ PM 2.5 ผ่านการเรียนรู้เรื่อง โค้ดดิ้ง เพื่อวัดค่า PM 2.5 การทดสอบและเปรียบเทียบเครื่องฟอกอากาศที่สามารถสร้างได้เอง ต่อยอดสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน รวมถึงในการฝึกอบรมยังใช้สื่อการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัวที่พัฒนาจากนักวิจัย สวทช. เรียกว่า บอร์ดคิดส์ไบร์ท (KidBright) ร่วมกับบอร์ดเสริมที่พัฒนาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่า บอร์ด GoGo Board อีกด้วย”
ทั้งนี้ ภายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM 2.5” ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้เข้ารับการอบรม จะได้ร่วมกิจกรรมอย่างหลากหลายเพื่อเสริมความรู้ในเรื่องวิทยาการคำนวณหรือการโค้ดดิ้ง อาทิ การรับฟังเสวนา เรื่อง “Smart classroom สู่ Smart students ในยุค AI และ Coding” ต่อด้วยหัวข้อ “เข้าใจและรู้เท่าทันศักยภาพของ AI ต่ออนาคตการศึกษา” และ หัวข้อ “PM 2.5 คืออะไร” เป็นต้น รวมถึงยังมีการแบ่งกลุ่มเข้าเยี่ยมชม Fabrication laboratory (FabLab) และ Plant tissue culture laboratory (แล็บพืช) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้น ในการออกแบบและสร้างเครื่องฟอกอากาศผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และการประยุกต์ใช้ KidBright และ GoGo Bright กับเครื่องฟอกอากาศ