19 องค์กรเกษตร เอาจริง ยื่นค้านแบน 3 สารเคมีเกษตร

19 องค์กรเกษตร เอาจริง ยื่นค้านแบน 3 สารเคมีเกษตร หวั่นรัฐมนตรีกลับคำ เตรียมฟ้องทุกรายหากลงนามแบน 3 สารเคมี พร้อมลั่นประกาศเกษตรกรไทยไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์

19 องค์กรเกษตร ยื่นคำขาดหลังประชุมร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เหตุพบกันครั้งก่อน รับปากนำข้อมูลไปพิจารณาใหม่ แต่กลับเร่งลงนามประกาศแบน 3 สารเคมี กลุ่มเกษตรกรร่วมประกาศสัตยาบัน แบนพรรคประชาธิปัตย์ หากแบน 3 สารฯ เล็งฟ้องทุกรายที่ร่วมลงนาม

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร ผลออกมาชัดเจนแล้วว่า ร้อยละ 75 ไม่ต้องการให้แบนสารเคมีเกษตร จากกลุ่มตัวอย่าง 48,789 ราย แต่ในความเป็นจริงมีเกษตรกรอีกกว่า 1.5 ล้านราย ได้แสดงความจำนงต้องการใช้และไม่ต้องการแบนผ่านการเข้ารับการอบรมเพื่อขอซื้อและใช้สารเคมีดังกล่าว ควรนับรวมเป็นคะแนนที่คัดค้านการแบน ซึ่งจะส่งผลให้รวมแล้วเกือบ 100% ไม่ต้องการให้แบนสารฯ ดังกล่าว

ดังนั้น ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา จำเป็นต้องนำมาพิจารณาใหม่ โดยระหว่างนี้ ขอให้กลับไปใช้มติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่อนุญาตให้ใช้ 3 สาร ดังกล่าวได้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบันต่อระบบเกษตรกรรมของไทย และประเทศชาติ โดยขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้มีอำนาจลงนาม ต้องพิจารณาและตัดสินใจใหม่ ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ ข้อเสนอของรัฐบาลที่ต้องการนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาใช้ในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรและจัดการปัญหาเรื่องสต๊อกของสารเคมีเกษตร กลุ่มเกษตรกรทั้งหมดไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการให้ภาครัฐนำภาษีประชาชนมาใช้จ่ายอย่างไร้เหตุผล เป็นการแก้ปัญหาที่เห็นแก่ตัวของภาครัฐ เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทยอย่างยั่งยืน

ในอดีต เกษตรกรเคยขอให้กระทรวงเกษตรฯ จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร งบเพียง 90 กว่าล้านบาท แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจ แต่ทำไมจึงเร่งรีบออกงบทำลายสารฯ กว่า 2 พันล้านบาท และงบชดเชยเกษตรกรกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือสนใจแต่งบก้อนใหญ่ ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรเห็นว่า การอบรมให้ความรู้และการควบคุมอย่างเคร่งครัดตามมาตรการจำกัดการใช้เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรรมของประเทศ

ด้าน 4 สถาบันชาวไร่อ้อย กล่าวเสริมว่า สารเคมีเกษตรกรยังมีความจำเป็นต่อกลุ่มเกษตรกรอย่างยิ่ง ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ หากจะมีวิธีการหรือสารเคมีอื่น จะต้องมีประสิทธิภาพ ต้นทุน เท่าเทียมหรือดีกว่า เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้ง จะต้องมั่นใจได้ว่าวิธีการนั้นจะแก้ปัญหาได้จริง จึงจะสามารถแบนสารเคมีเกษตรได้

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า ขอให้กลับไปใช้มติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการพิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างรอบคอบมาแล้ว จนมีมติอนุญาตให้ใช้ 3 สาร ดังกล่าวได้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้

ปัจจุบัน ยังไม่มีทางออกและข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน มติต่างๆ ขัดต่อการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ และห้ามไม่ให้มีการเรียกร้อง หรือการให้ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและการส่งออก ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

การที่รัฐยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส โดยอ้างว่า ห่วงสุขภาพเกษตรกร และประชาชน แต่ยังแนะนำให้ใช้สารเคมีมาแทนสารเคมี ยังให้นำเข้าพืช ผัก และผลไม้ จากต่างประเทศ ที่ยังใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด หากสารเคมีเหล่านี้เป็นพิษ ทำไมประชาชนคนไทยยังต้องบริโภคพืช ผัก ผลไม้ จากประเทศอื่นที่ใช้ หากรักสุขภาพประชาชนจริงต้องแบนพืช ผัก ผลไม้ ทุกประเทศที่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด  ตั้งแต่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา รวมอีก 83 ประเทศทั่วโลก

“วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวันที่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจะมาร่วมแสดงพลัง สะท้อนให้ภาครัฐได้เห็นถึงผลกระทบของการแบน 3 สารเคมีเกษตรที่มีต่อเกษตรกรพืชไร่และไม้ผลต่างๆ เบื้องต้น เกษตรกรกว่า 5,000 ราย เตรียมเดินทางมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทำเนียบรัฐบาลแล้ว หวังว่าจะไม่โดนหน่วยงานภาครัฐสกัดกั้นเช่นในอดีตที่ผ่านมา”

นายสุกรรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ส่วนวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน เกษตรกรจะยังคงปักหลักอยู่กรุงเทพฯ และเดินทางไปรับฟังผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่อีกครั้ง ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป เพื่อให้มั่นใจ รมว. เกษตรฯ รมว. อุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและกลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้ฯ ตามข้อเสนอของเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านราย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกือบ 2 ล้านล้านบาท ไม่เช่นนั้น เกษตกรคงต้องพึ่งศาลยุติธรรมเอาผิดกับผู้ลงนามทุกราย ทุกกรม ทุกกระทรวง และนักวิชาการอิสระ พร้อมแบน พรรคประชาธิปัตย์”

19 องค์กรเกษตร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี