สวพ.7 เร่งกู้วิกฤติการระบาดศัตรูมะพร้าวบนเกาะเต่า

สวพ.7  หวั่นซ้ำรอยสมุย ส่งชุดเฉพาะกิจรุกสร้างการรับรู้เรื่อง “การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว” ชาวเกาะเต่า ลดความเดือดร้อนชาวสวน-ปกป้องแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ  หลังได้รับร้องเรียนศัตรูมะพร้าวระบาดหนัก  ต้นล้มตายเป็นจำนวนมาก เร่งใช้ชีวภัณฑ์ปราบ-หนุนทำเกษตรอินทรีย์แก้ปัญหาแบบยั่งยืน  

นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7)  กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบัน เกาะพงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีชื่อเสียงของประเทศระดับโลก และมีมะพร้าวเป็นสินค้าอัตลักษณ์หนุนการท่องเที่ยวเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมะพร้าวเกาะพะงันได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( Geographical Indication) หรือสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่าเป็นมะพร้าวมีลักษณะเด่นเฉพาะถิ่นดังนี้ “มะพร้าวใหญ่ สะโพกโต เนื้อหนา กะลาแข็ง ก้านใหญ่ ทางใบยาว เนื้อมะพร้าว 2 ชั้น น้ำมันใส ในเปลือกเหนียว เนื้อหวานมัน  โดยปัจจุบันอำเภอเกาะพะงันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว จำนวน 22,000 ไร่ ปลูกไร่ละ 20 ต้น ผลผลิตเฉลี่ย 60 ผล/ต้น ให้ผลผลิตมะพร้าวทั้งหมดประมาณ 26 ล้านผล/ปี ในจำนวนดังกล่าว เฉพาะตำบลเกาะเต่ามีพื้นที่ปลูก 3,000 ไร่

 

ล่าสุด สวพ.7 ได้การรับแจ้งจากเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวตำบลเกาะเต่าถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของศัตรูแมลงมะพร้าว จนทำให้สวนมะพร้าวได้รับความเสียหายต้นมะพร้าวล้ม พับ ตายเป็นจำนวนมาก สวพ.7 จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเพื่อป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช (มะพร้าว) ของชาวบ้านอย่างเร่งด่วนแล้ว จากการลงพื้นที่พบว่า มีการแพร่ระบาดของศัตรูแมลงมะพร้าว ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว ด้วงแรด ด้วงงวงมะพร้าว และแมลงดำหนามบริเวณบ้านโฉลกบ้านเก่า หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะเต่า

ด้วงแรด ถือเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของเกาะเต่า เพราะสามารถพบได้ทุกจุดที่ทำการสำรวจ และเป็นสาเหตุแรกของการยืนต้นตายของมะพร้าวบนเกาะเต่า เนื่องจากเมื่อด้วงแรดเข้าไปเจาะโคนทางใบมะพร้าว เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง จากนั้นด้วงงวงจะเข้าไปวางไข่ในรอยแผลดังกล่าว เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินเนื้อเยื่อภายในต้น ส่งผลให้ต้นมะพร้าวแสดงอาการ ยอดเหี่ยว พับ และตายในที่สุด

Advertisement

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน  สวพ.7 ร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะเต่า ได้ลงพื้นที่ชี้แจงสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ชนิดแมลงศัตรูมะพร้าว ลักษณะการทำลาย และการป้องกันกำจัดโดยการใช้ชีวภัณฑ์ รวมทั้งวางแผนจัดตั้งแปลงสาธิตการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนให้มะพร้าวอยู่คู่เกษตรกรเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่เกาะเต่าอย่างยั่งยืน

Advertisement

รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตราเขียวเมตาไรเซียม แตนเบียนหนอนแมลงดำหนาม แตนเบียนดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าวและแตนเบียนหนอนหัวดำให้แก่ชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถเป็นวิทยากรให้แก่กลุ่มอื่นๆ ที่สนใจในการผลิตชีวภัณฑ์ต่อไป

ส่วนเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงเข้าทำลายส่งผลให้มีต้นมะพร้าวยืนต้นตายจำนวนมากนั้น ทาง สวพ.7 ได้ประสานศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรในการสนับสนุนพันธุ์มะพร้าว (พันธุ์ไทย) จำนวน 2,000 หน่อ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และแนะนำเกษตรกรให้ใช้หน่อพันธุ์มะพร้าวจากเกาะพะงันซึ่งเป็นมะพร้าวพันธุ์ไทยที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพของเกาะพะงัน เพื่อเป็นการนำพันธุ์ดีมาปลูกในพื้นที่ และเป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวของเกาะพะงันอีกทางหนึ่งด้วย

“สวพ.7 ได้สร้างการรับรู้เกษตรกรในด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ได้แก่ มาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  เนื่องจากทางชุมชนต้องการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรภายในเกาะเต่าให้มีมาตรฐานและปลอดภัยเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและบริโภคภายในเกาะอีกด้วย  ไม่อยากให้สถานการณ์ระบาดจนเกิดเป็นวิกฤติเหมือนเกาะสมุยที่ส่งผลให้ต้นมะพร้าวบนเกาะลดลงอย่างมากในปัจจุบัน” ผู้อำนวยการ สวพ.7 กล่าว

ปัจจุบัน เกาะพะงัน เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวอินทรีย์ที่มีศักยภาพสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 700,000ลูก/ปี เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันยังให้ความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนลดการใช้สารเคมี โดยกำหนดเป้าหมายขยายพื้นที่มะพร้าวอินทรีย์ในเกาะพะงันให้ได้ 1,500 ไร่ ภายในปี 2564 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสนใจเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวเกาะพะงันแบบครบวงจรอีกด้วย

จากปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ของเกษตรกร ทำให้ต้นมะพร้าวถูกทำลายและได้ผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก กรมวิชาการเกษตร จึงเร่งสร้างการรับรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวด้วยชีววิธีในสวนมะพร้าวอินทรีย์บนเกาะพะงันมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว จัดทำแปลงต้นแบบการควบคุมกำจัดหนอนหัวดำแบบผสมผสาน ซึ่งมีสถานีเรียนรู้เรื่องหนอนหัวดำ สถานีเรียนรู้การตัดทางใบมะพร้าวที่มีหนอนหัวดำระบาด สถานีการผลิตแตนเบียน สถานีเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ สถานีเรียนรู้การย่อยทางใบมะพร้าว และสถานีเรียนรู้สารชีวภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่สนใจให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในแปลงมะพร้าวอินทรีย์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะเร่งขยายผลสร้างการรับรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำด้วยชีววิธีในสวนมะพร้าวอินทรีย์ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาด้วย