เผยแพร่ |
---|
กรุงเทพฯ 26 พฤศจิกายน 2562 – ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ที่สอดรับกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่สามารถ ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบสนองกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมฯ จึงสำคัญอย่างยิ่ง
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถิติการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ GDP และคาดว่าจะขยับสู่ 1.5% ภายในปี 2564 โดยมีสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20% สะท้อนถึงความตื่นตัวของสองภาคส่วนสำคัญในการพยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยั่งยืนกว่าการแข่งขันด้วยราคาวัตถุดิบและแรงงานเป็นหลัก ในฐานะภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ที่มีศักยภาพสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ทุกส่วน กลุ่มมิตรผลจึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผลขึ้นที่ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อปี 2540 เพื่อคิดค้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูงอื่นๆ ซึ่งกลุ่มมิตรผลเชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร อุตสาหกรรม เกษตรกร และทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน
เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมและผลงานวิจัยเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มมิตรผลจึงได้จัดงาน RDI Open House 2019 พร้อมเปิดคลังแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดำเนินการตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ให้พันธมิตร ทั้งหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย และคู่ค้า ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นร่วมกัน ณ ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “ปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainability กลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกคนทั่วโลกให้ความใส่ใจมากขึ้น ประเทศไทยเองก็มีการนำประเด็นดังกล่าวมาใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการวิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวแปรสำคัญ ภายใต้แนวคิด “สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน” กลุ่มมิตรผล มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาครัฐในการสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับอ้อย พร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจชีวภาพ สอดรับกับโมเดลการบูณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ BCG Economy – เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชาวไร่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล อธิบายเพิ่มเติมว่า “งาน RDI Open House ที่จัดขึ้นในวันนี้ ตอกย้ำถึงความตั้งใจของกลุ่มมิตรผลในการนำนวัตกรรมและผลงานวิจัยไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการใช้ประโยชน์จากอ้อย น้ำตาล และสิ่งที่เหลืออยู่ในกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะการนำไปผ่านกระบวนการทางชีวภาพ (Biorefinery) เพื่อแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยที่ผ่านมาเรายังได้ร่วมกับองค์กร หน่วยงาน และสถาบันการวิจัยและเทคโนโลยีชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้าง แลกเปลี่ยน และต่อยอดองค์ความรู้ในการวิจัยร่วมกัน”
ปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีนักวิจัย 70 คน ดำเนินงานวิจัยที่หลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยงบประมาณสนับสนุนปีละกว่า 450 ล้านบาท ภายในศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการประสิทธิภาพสูง เครื่องมือที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน รองรับงานพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย 4 สาขา ได้แก่
งานวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ (Crop Production) มุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพ แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง รวมถึงการควบคุมโรคและแมลงศัตรูอ้อย และการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและ AI เพื่อการทำเกษตรแบบแม่นยำ
งานวิจัยด้านการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำตาล (Sugar Technology and Specialty) มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ทันสมัยและคงไว้ซึ่งคุณภาพสูง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำตาลใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ
งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-based Chemicals and Energy) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำตาล อ้อย ตลอดจนนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาแปรรูปเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy) ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ในด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อสร้างความคุ้มค่า ลดความสูญเสีย และเพิ่มการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) โดยมุ่งค้นคว้าและพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อยอดจากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับโรงงานต้นแบบที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือและบุคลากรที่เชี่ยวชาญ
ศูนย์ข้อมูลงานวิจัยระดับโลก (Global Sourcing for Innovation) รวบรวมข้อมูลการวิจัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสทางการวิจัยใหม่ๆ ภายใต้การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งติดต่อประสานงาน สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ เพื่อต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า “จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ลดลงและขาดเสถียรภาพ สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนตลอดกระบวนการให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เราสนับสนุนผลการวิจัยทุกอย่างในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกอ้อย เตรียมดิน เก็บเกี่ยว ไปจนถึงกระบวนการลดความสูญเสียในการผลิต สอน. รู้สึกดีใจที่ได้เห็นภาคเอกชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพัฒนาแนวทางการทำเกษตรแม่นยำและยั่งยืนให้กับชาวไร่อ้อย และยังได้เห็นการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของอุตสาหกรรมไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางให้ สอน. สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาของเราด้วย และเราหวังจะได้เห็นการลงทุนในลักษณะเดียวกันนี้มากขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยอย่างยั่งยืน”
กลุ่มมิตรผล จะยังคงเดินหน้าผลักดันการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพที่มีความยั่งยืน สอดรับกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก