ข้าวหอมมะลิไทย ไฉนต้องปรับ…มาสู้คู่แข่ง?

“ข้าวไทย…อร่อย เปี่ยมคุณค่า

     ข้าวไทยมีหลากหลายชนิด

แต่ละชนิด จะมีลักษณะเมล็ด สี และรสชาติอร่อย

     และเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป

แต่ที่สำคัญยิ่ง ข้าวไทยทุกชนิดเป็นธัญพืช

     ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

อุดมด้วยแร่ธาตุ กากใยธรรมชาติ และวิตามิน”

 

ข้อความจากแผ่นพับ กล่าวถึง “ข้าวหอมมะลิไทย” โดย กองบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

 

1467622638

“…ข้าวหอมมะลิไทย เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกชั้นราคา ทุกเกรด จึงเกิดปัญหาเรื่องการปลอมปน ทำให้ชื่อเสียงเรื่องคุณภาพข้าวหอมมะลิเสียไป กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกว่า ต้องมีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 92 เพื่อรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้คงไว้ ซึ่งมาตรฐานด้านคุณภาพ ระดับพรีเมี่ยม แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราส่งออกข้าวหอมมะลิได้น้อยลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าไม่ได้ต้องการข้าวในมาตรฐานเดียวนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาใหม่ คือลูกค้าสั่งข้าวหอมมะลิไปแล้วนำผสมเอง ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า นำข้าวชนิดใด จากประเทศใดไปผสม แล้วไปติดตราสินค้าว่าเป็น ข้าวหอมมะลิไทย เลียนแบบบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า ว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย”

ส่วนหนึ่งของข้อความ ในหัวข้อเรื่อง “เกิดอะไรขึ้นกับตลาดข้าวหอมมะลิไทย ในทศวรรษที่ผ่านมา?” โดย DIT กรมการค้าภายใน ในเอกสารพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559

ข้าว เป็นทั้งพืชอาหารหลักที่สำคัญของคนไทย และรวมถึงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศ ข้าวเป็นพืชดั้งเดิมที่เกษตรกรไทยปลูกกันมานานหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้การปลูกข้าวของไทยเป็นฐานของแหล่งประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมที่ดีงามต่อเนื่องกันมา อาชีพการทำนาในอดีตจึงเป็นอาชีพที่จำกัดและสงวนไว้สำหรับคนไทย ซึ่งมีประชากรไทยจำนวนมากที่ยึดการทำนาเป็นอาชีพหลัก เกิดเป็นแหล่งเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ (ข้อความขึ้นต้นจาก คำนำ ในหนังสือ พลวัตเศรษฐกิจการผลิตข้าวไทย

1467622622

โดย อาจารย์สมพร อิศวิลานนท์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สิงหาคม 2552) และอีกส่วนหนึ่งของข้อความในบทนำจากเอกสารเล่มเดียวกันนี้ กล่าวไว้ว่า “นับต่อนี้ไป อาจกล่าวได้ว่า สินค้าข้าวจะเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นฐานเศรษฐกิจของครัวเรือนในชนบท การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ทั้งทางด้านราคาข้าวและราคาพืชอื่นๆ รวมทั้งราคาปัจจัยการผลิตจะส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตข้าวไทยอย่างไร และประเทศไทยควรปรับตัวในแนวนโยบายการผลิตข้าว พืชอาหาร และพืชพลังงานอย่างไร ถึงจะเอื้อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจข้าวของประเทศ เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเป็นพลวัตของสถานการณ์ทางการตลาด ต่อภาวะวิกฤตอาหารของโลก และการสร้างความสมดุล ทั้งเพื่อการเป็นสินค้าส่งออก และการเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศ”

ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดีที่ทั่วโลกเชื่อมั่น ไว้วางใจ เป็นอาหารหลักและรองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยขึ้นอยู่กับวิถีการดำรงชีพ ประเพณี วัฒนธรรมในการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความต้องการข้าวต่างชนิดกัน อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หรือข้าวหอมมะลิ GI ข้าวนึ่ง ข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวสินเหล็ก โดยข้าวเหล่านี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวที่สามารถผลิตและส่งออกสนองความต้องการของผู้บริโภคไปทุกภูมิภาคทั่วโลก เป็นสิ่งยืนยันคุณภาพข้าวไทย เป็นที่นิยม เชื่อมั่น และวางใจตลอดมา

1467622611

การส่งออกข้าวไทยไปภูมิภาคต่างๆ ตามแต่ละชนิดข้าวทั่วโลก ได้แก่

– ข้าวนึ่ง ส่งออกไปประเทศแอฟริกาใต้ เยเมน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย ไนจีเรีย ฯลฯ

– ข้าวขาว ส่งออกไปประเทศเม็กซิโก เปรู ชิลี แคมารูน ไนจีเรีย อิรัก อิหร่าน โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ

– ข้าวลักษณะพิเศษ ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ฯลฯ

– ข้าวหอมมะลิไทย ส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ซาอุดีอาระเบีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เซเนกัล ตรินิแดด เปอร์โตริโก้ จาไมก้า สหรัฐอเมริกา แคนาดา โกตดิวัวร์ กานา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

จากเอกสาร พิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559 โดย DIT กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 23 พฤษภาคม 2559 ได้บันทึกไว้ในหัวข้อเรื่อง “เกิดอะไรขึ้นกับตลาด “ข้าวหอมมะลิไทย” ในทศวรรษที่ผ่านมา?” ขออนุญาตสรุปเรื่องราวว่า ทำไม ประเทศไทยเราจะต้องปรับตัว เปลี่ยนยุทธวิธีมาสู้กับคู่แข่งการตลาดข้าว ซึ่งเราเคยเป็นผู้นำมาหลายทศวรรษ แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านั้น จัดได้ว่ากลายมาเป็นคู่ปรับ คู่แข่ง ที่ต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การตลาดโดยสรุป

1467622579

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ อันดับ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในระยะ 5 ปี มานี้ ส่วนแบ่งการตลาดของข้าวหอมมะลิไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำสถานภาพเป็นรอง ถูกฉกชิง และแทนที่ด้วยข้าวสายพันธุ์กำเนิดเดียวกัน กับข้าวหอมมะลิ ที่หลายประเทศส่งเข้ามาแข่งขัน ทำให้ “ข้าวหอมมะลิ” อาจจะไม่ใช่ข้าวของคนไทย และของประเทศไทย เพียงหนึ่งเดียวดังที่ผ่านมา หรือต่อไป เนื่องจากข้าวหอมในตลาดโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งมีประเทศอินเดีย และปากีสถาน เป็นผู้ผลิตหลัก เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก ในตลาดแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) มีแหล่งสำคัญที่เพาะปลูกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา

ข้าวหอมมะลิไทย กับ ข้าวบาสมาติ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มข้าวหอมเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกัน โดยไม่ถือว่าเป็นสินค้าทดแทนกันได้ เพราะข้าวหอมมะลิมีค่าอมิโลสต่ำกว่าข้าวหอมบาสมาติ ทำให้ข้าวหอมมะลิมีรสชาติดี นุ่มนวล จึงเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียตะวันออก และสหรัฐอเมริกา

ส่วนข้าวบาสมาติ มีค่าอมิโลสระดับปานกลาง และสูงกว่าข้าวหอมมะลิไทย ทำให้เมื่อหุงสุกแล้ว ข้าวมีลักษณะร่วน ไม่นุ่มเหมือนข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาตินิยมบริโภคกันในกลุ่มเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ข้าวทั้งสองชนิดจึงมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันของตัวสินค้าข้าว และลักษณะการนำไปปรุงอาหาร

ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิ ในชื่อ “Thai Hom Mali Rice” เป็นข้าวที่มีมูลค่าการส่งออกสูง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าเอ่ยถึงอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการส่งออกข้าวหอมมะลิ ทำให้มีชื่อเสียงในเวทีการค้าโลก เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เดิมอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์  และฮ่องกง ก่อนจะขยายตัวไปตลาดสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้

1467622568

จากข้อมูลของ The Rice Trader ระบุปริมาณการค้าข้าวของโลก โดยเฉลี่ยประมาณ 40 ล้านตันข้าวสาร โดยในจำนวนดังกล่าวมีข้าวหอมที่เรียกกันว่า หอมมะลิ อยู่ 3 ล้านตันข้าวสาร ดูเหมือนจำนวนไม่มาก แต่ด้วยราคาซื้อ-ขาย ข้าวหอมมะลิในช่วงที่ราคาสูง เคยมากกว่าพันเหรียญสหรัฐ ต่อตัน จึงเป็นข้าวที่มีราคาสูงเป็น อันดับที่ 2 รองจากข้าวหอมกลุ่มบาสมาติ และข้าวหอมมะลิยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก จึงต้องหาคำตอบว่า ประเทศไทยผู้ซึ่งเคยเป็นแชมป์ตลาดข้าวหอมมะลิโลก จะยังคงรักษา หรือกลับมาดำรงตำแหน่งแห่งศักดิ์ศรีนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพราะเป็นเวทีแห่งศักดิ์ศรีที่จะทวงคืนแชมป์ข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวไทย จึงต้องคำนึงถึงผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อจะนำภาพลักษณ์ระดับพรีเมี่ยมกลับมาในระบบอีกต่อไป

ประเทศไทย กำลังเผชิญกับศึกรอบทิศในตลาดข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล และกำลับขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทยจะต้องคำนึงถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขัน เพื่อจะได้รีบหาคำตอบ ว่าจะดึงตลาดข้าวหอมของไทยในเวทีตลาดโลกกลับคืนมาได้อย่างไร ประกอบกับปัจจุบัน ลูกค้ารายสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย อย่าง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ต่างก็มีปริมาณการค้าที่ลดลง เช่นเดียวกับตลาดในแถบแอฟริกา ที่เคยเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของไทยในกลุ่มข้าวหอมหัก ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปเป็นการบริโภคข้าวหอมเต็มเมล็ดเกรดล่าง ซึ่งนำเข้าจากประเทศเวียดนามแทน และอีกปัจจัยที่มีผลให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยมีปริมาณลดน้อยลง คือ มาตรฐานข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก ถูกระบุชนิดและคุณภาพข้าวตามความต้องการของลูกค้า และด้วยความที่ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ต้องการของตลาดในทุกชั้นราคา ทุกเกรด จึงเกิดปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกของคำขึ้นต้นมาแล้ว

ในปี พ.ศ. 2558 มีการจัดเกรดโรงสีข้าวโดยการติดดาว โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการจัดเกรดโรงสีข้าวด้วยการติดดาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การค้าข้าว ผู้ประกอบการโรงสีข้าวของประเทศไทยให้มีการบริหารจัดการทั้งด้านกระบวนการผลิต การดูแล และเก็บสินค้าข้าว จนถึงการรับซื้อผลผลิต และจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวของประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน การส่งออกข้าว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งในประชาคมอาเซียน อาทิ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ก็ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ เนื่องจากเป็นประเทศคู่แข่งในการส่งออกข้าวหอมประเภทต่างๆ อย่างสำคัญยิ่ง

สำหรับการพัฒนาด้านการผลิตแปรรูปจากโรงสีข้าวให้มีระบบมาตรฐาน การผลิตข้าวสารที่มีความปลอดภัยในการบริโภค และการส่งออกซึ่งเป็นการผดุงรักษาชื่อเสียงและคุณภาพต่อประเทศลูกค้าผู้บริโภคนั้น ก็จะมีผลจากระบบมาตรฐาน GMP (GOOD MANUFACTURING PRACTCE ) และ HACCP (HAZARD ANALYSIS CRITICAL CONTROL POINT) จึงถือว่าเป็นกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนเพื่อนำมาสู่การสู้กับคู่แข่งเป็นเบื้องต้นเช่นกัน

มีรายละเอียดจากเอกสารในพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559 ได้กล่าวถึงการเกิดอะไรขึ้นกับข้าวหอมมะลิไทย กับหัวข้อเรื่อง “เมื่อคู่แข่งปรับ…ถึงเวลาเรา (ต้อง) เปลี่ยน” โดยวิเคราะห์ประเทศคู่แข่งที่จะมาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอมของไทยกันอย่างคึกคัก เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะขออนุญาตนำเสนอรายละเอียดจากข้อมูลในเอกสารฉบับดังกล่าวว่า…ไฉนต้องปรับ…มาสู้คู่แข่ง? ในฉบับหน้าต่อไป