“ชีววิถี อยู่ดี มีสุข” ที่ต้นแบบชีววิถีบ้านไทรย้อย เมืองแพร่

ชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านไทรย้อย หมู่ที่ 12 อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นชุมชนขยายผลที่ได้นำองค์ความรู้ ใน“โครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ได้รับการส่งเสรมจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ ภายใต้การสนับสนุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นางไพรวรรณ คำเหลือง ผู้ใหญ่บ้านไทรย้อย หมู่ที่ 12 เปิดเผยว่า ชุมชนแห่งนี้มีประชากรจำนวน 164 เรือน มีประชากรทั้งหมด 526 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว และรับจ้างทั่วไป จุดเริ่มต้นที่ชาวชุมชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งชุมชนเนื่องจาก เมื่อก่อนใช้สารเคมีกันเยอะทำให้ป่วยไข้สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง

ต่อมาในปี 2546 ได้มีการประชุมเพื่อทำประชาคมกับชาวบ้านว่า ควรหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพของชาวบ้านและชุมชนกันดีไหม โดยมติในที่ประชุมเห็นด้วยให้ทุกคนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ กัน และเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 10 กว่าปี

“ช่วงแรกๆ ได้เชิญอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ มาให้องค์ความรู้กับชาวบ้านในการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะชาวบ้านยังไม่มีองค์ความรู้ และที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ มีโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุน มีแปลงสาธิตที่ชาวชุมชนได้เข้าไปดูงานพร้อมฝึกอบรมตามที่แต่ละคนสนใจ แล้วนำมาต่อยอดทำที่บ้าน และตั้งแต่เริ่มการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“ซึ่งได้ส่งผลทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ชาวบ้านมีความกระตือรือร้นในการลดรายจ่ายในครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น ผักที่ปลูกเหลือกินก็เอาไปขาย มีรายได้เสริม จนปัจจุบันได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โครงการชีววิถีบ้านไทรย้อย โดยได้รับการสนับสนุนจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานและนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองของผู้คนที่สนใจ”

“ในศูนย์เรียนรู้ก็มีองค์ความรู้ให้ศึกษาดูงานหลายเรื่อง เช่นการเลี้ยงปลาด้วยจุลินทรีย์อีเอ็ม การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี การเลี้ยงหมูหลุม การปลูกผัก ซี่งทั้งหมดนี้จะนำจุลินทรีย์อีเอ็มมาเป็นตัวช่วยในการผลิตแทนการใช้สารเคมี มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ตามแนวทางการทำการเกษตรที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม รู้สึกดีใจมากที่ชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างเช่น โรคมะเร็งก็ไม่เพิ่มจำนวนคนที่เป็น ชุมชนมีความรักใคร่กัน สามัคคีกัน เอื้ออาทรต่อกัน ใครมีผัก มีปลา ก็เอาไปแบ่งปันกัน กิน “นางไพรวรรณ กล่าว

Advertisement

จากความสำเร็จดังกล่าว ปัจจุบันชุมชนได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โครงการชีววิถีบ้านไทรย้อย เพื่อการเข้ามาศึกษาดูงานและนำปไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองของชุมชนอื่นๆ ซึ่งภายในศูนย์จะมีฐานกิจกรรมหลักทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเพาะปลูก ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านปศุสัตว์ และด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวิธีการจัดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การจัดทำบัญชีครัวเรือนควบคู่ไปด้วย

Advertisement

นอกจากนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ พร้อมทั้งชุมชน ต้นแบบชีววิถี บ้านไทรย้อย ยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืน ประเภทที่5 ชุมชนที่ได้รับความรู้จากทางวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ซึ่งสะท้อนถึงเจตจำนงค์ และผลสำเร็จร่วมกันในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา” ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดกิจกรรม “ชีววิถี อยู่ดี มีสุข”ขึ้น ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ณ ชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านไทรย้อย โดยมีตัวแทนจากชุมชนต่างๆ อาทิเช่น ชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านดงป่าสัก และชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านดู่เหนือ จ.น่าน ตลอดจนนักศึกษา ทูตสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตปริญญาโท คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวม 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ และลงมือปฎิบัติในฐานกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้

นายถนอมพงค์ ชวลิตชีวินกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ(ช.อปน-๑.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้น้อมนํา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาด้วยการจัดตั้ง “โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่อย่างพอประมาณ ลดการใช้สารเคมีตามวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อยู่ดี และมีสุขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้วางแนวทางพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบด้วยแนวคิดทาง “ชีววิถี” สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เกิดการเกื้อกูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพึ่งพากันในชุมชน อีกทั้ง กฟผ. ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาในสังกัด สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งในปัจจุบันมี 112 แห่ง และมีชุมชนต้นแบบจำนวน 54 ชุมชน และศูนย์การเรียนรู้โครงการ ชีววิถีภายในพื้นที่ กฟผ. หลายแห่งส่งผลให้ชุมชนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 300 แห่ง ได้นําแนวทางนี้ ไปปฏิบัติใช้ และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับที่บ้านไทรย้อยแห่งนี้