“ข้าวกล้องสินเหล็ก” ข้าวหอมดัชนีน้ำตาลต่ำ ธาตุเหล็กสูง วิจัยและปลูกได้ที่ตราด เตรียมจด GI

จังหวัดตราด ภาคตะวันออก ไม่ใช่มีดีเพียงสวนผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกองเท่านั้น ข้อมูลปี 2560 มีพื้นที่ทำนาเพียง 16,270 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 613,312 ไร่ ด้วยสภาพดินที่เหมาะสมของจังหวัดตราด ปี 2560-2562 ได้มีการทดลองปลูก “ข้าวสินเหล็ก” ในเชิงวิชาการ ได้ผลผลิตดีและพบว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธาตุเหล็กสูง และสารต้านอนุมูลอิสระ-เส้นใยอาหารปริมาณสูง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่เป็นโรคเบาหวาน ผลการวิจัยนี้ สถาบัน Temasek Polytechnic ประเทศสิงคโปร์รับรอง เมื่อผลผลิตจำหน่ายได้รับการตอบรับที่ดี ได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทย (Geographical Indication:GI) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ข้าวกล้องสินเหล็ก และเตรียมขยายพื้นที่ที่เหมาะสมในจังหวัดตราด เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวสำเร็จรูปพร้อมบริโภค เป้าหมายคือ ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือผู้รักสุขภาพในประเทศและต่างประเทศ อนาคตชาวนาจังหวัดตราดจะมีรายได้ดีพอที่จะยึดเป็นอาชีพอย่างยั่งยืน

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่
กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ สู่ความสำเร็จ

พล.ท. ปรีชา วรรณรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการนวัตกรรม “โครงการนวัตกรรมข้าวตราด และฝ่ายการตลาด วิสาหกิจชุมชนทำนาแปลงใหญ่ตำบลหนองเสม็ด-ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เล่าถึงที่มาของโครงการนวัตกรรมว่า มีแรงบันดาลใจที่ต้องการแก้ปัญหาชาวนาที่มีฐานะยากจน ด้วยการทำนาแบบเดิมๆ และขายข้าวเปลือกราคาถูก กำหนดราคาเองไม่ได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม แนวความคิดวิธีแก้ไขต้องปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ที่แตกต่างไปจากพันธุ์เดิมๆ สร้างความต่างเพื่อให้แข่งขันได้ และต้องขายข้าวสารให้ได้ราคาสูงกว่าข้าวเปลือก เริ่มจาก การตรวจสภาพองค์ประกอบ พื้นที่ปลูกดินมีธาตุเหล็ก 334.2 มิลลิกรัม ต่อดิน 1 กิโลกรัม อุณหภูมิเฉลี่ย 20-34 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 4,000 มิลลิเมตร ต่อปี จากนั้นนำข้อมูลปรึกษา ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาพันธุ์ข้าวแนะนำให้ปลูกพันธุ์ข้าวสินเหล็กคือ พันธุ์ผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวสีขาว กลิ่นหอม รูปร่างเมล็ดยาวเรียว ไม่ไวตอแสง ปลูกได้ตลอดปี มีดัชนีน้ำตาลต่ำ มีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำบัดโรคเบาหวานได้ เดิมเคยปลูกทางภาคอีสานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเลิกปลูกไป

READY TO EAT พล.ท. ปรีชา วรรณรัตน์

หลังจากนั้น ได้ขอทุนสนับสนุน “โครงการนวัตกรรมข้าวตราด ระบบการผลิตข้าวสินเหล็กที่มีคุณลักษณะเฉพาะของพื้นที่จังหวัดตราด (P11-BT-60-08-002)” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับอนุมัติโครงการเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2561 และขยายเวลาต่ออีก 6 เดือน ถึงมิถุนายน 2562 งานวิจัย ประกอบด้วย ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเป็นที่ปรึกษา คุณศุภชัย สถาการ ประธานวิสาหกิจชุมชนทำนาแปลงใหญ่ตำบลหนองเสม็ด-ตำบลหนองโสน เป็นผู้ทดลองปลูกข้าวสินเหล็กนำร่อง ผมเองเป็นผู้ประสานงานโครงการและฝ่ายการตลาด และมีคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อมให้การสนับสนุนเงินทุนและการตลาด

“ผลทดลองเปรียบเทียบขายข้าวสารมีกำไรสุทธิ 42.84% ของต้นทุน ต้องทำข้าวสารขายแทนข้าวเปลือก เพราะกำหนดราคาได้ จึงทดลองทำเป็น “ข้าวกล้องสินเหล็ก” ที่ได้คุณค่ามากกว่าข้าวขาวขัดสี และผลการทดลองของ ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ทั้งในห้องปฏิบัติ เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าข้าวสินเหล็ก ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง ช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะบกพร่องธาตุเหล็กยังพบว่ามีธาตุเหล็กสูง ทำให้มีระดับฮีโมโกลบิน (hemoglobin) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น” พล.ท. ปรีชา กล่าว

 

18 เดือน ทดลองปลูก ขายเป็นข้าวกล้องสินเหล็ก
เตรียมขยายพื้นที่ปลูก

คุณศุภชัย สถาการ อายุ 70 ปี บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 2 อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ประธานวิสาหกิจชุมชนทำนาแปลงใหญ่ตำบลหนองเสม็ด-ตำบลหนองโสน ผู้ทดลองนำร่องปลูกข้าวพันธุ์สินเหล็ก เล่าว่า ด้วยพื้นเพเป็นลูกชาวนาจังหวัดตราด เมื่อเรียนจบทำงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตำแหน่งล่าสุดก่อนเกษียณผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานใหญ่ กลับมาบ้านเกิดยังคงเห็นชาวนาทำนาแบบเดิมๆ และขายข้าวเปลือกถูกกดราคา ชาวนายังคงรายได้น้อยฐานะยากจน และที่สำคัญจังหวัดตราดมีอัตราผู้ป่วยเป็นมะเร็งสูง สาเหตุหนึ่งมาจากสารปนเปื้อน จึงเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมนี้ช่วยพัฒนาบ้านเกิด ใช้พื้นที่นาของตนเองทดลองปลูกข้าวนาปรัง (2 ครั้ง ต่อปี) เริ่มในที่ดิน 2 ไร่ก่อน เพราะเมล็ดพันธุ์มีจำกัด ต่อมาเพิ่มเป็น 5-12 ไร่

คุณศุภชัย สถาการ

“ทดลองปลูกปี 2561 จำนวน 12 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3,000 กิโลกรัมเศษ เฉลี่ย 400-500 กิโลกรัม ต่อไร่ พบว่าต้นทุนสูงอยู่ประมาณ 3,500-4,000 บาท ต่อไร่ เป้าหมายคือ ต้องแก้ไขเพิ่มผลผลิต เฉลี่ย 600 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อยกระดับรายได้ของชาวนาที่ปลูกข้าวสินเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ให้ได้ราคาตันละประมาณ 14,000 บาท ต่อตัน หรือขายข้าวสารได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาทำโครงการวิจัยเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 กลุ่มวิสาหกิจมีโครงการที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวสินเหล็ก 17 ไร่ เริ่มเดือนพฤศจิกายน 2562 จะใช้วิธีปลูกใหม่ มีการนำวัตกรรม,าใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้โดรนพ่นยา การใช้ชีวภัณฑ์นาโน ปุ๋ยอินทรีย์ และนำเสนอให้จังหวัดทำโครงการขยายผลต่อให้ข้าวสินเหล็กเป็นข้าวของจังหวัดตราด เพราะสภาพดินมีธาตุเหล็กสูง เป็นข้าวมีคุณภาพ และสามารถปลูกได้ตลอดปี (ปีละ 2 ครั้ง)” คุณศุภชัย กล่าว

 

ทดลองตลาดผู้บริโภคข้าวสารถุง
เรดดี้ทูอีทค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า

ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ที่ปรึกษาเห็นว่าควรพัฒนาข้าวกล้องสินเหล็กพร้อมบริโภคได้ทันที (READY TO EAT) เพื่อคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีเวลาหุงข้าวให้บริโภคได้สะดวกและทำตลาดต่างประเทศกับกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากมีอายุเก็บในอุณหภูมิปกติได้ 14 เดือน จึงให้สถาบัน Temasek P0lytechnic สิงคโปร์ เป็นผู้ตรวจสอบ ดัชนีน้ำตาลในข้าวกล้องสินเหล็กพร้อมบริโภคและข้าวกล้องสินเหล็กชนิดหุงบริโภค ผลการวิจัยพบว่า ข้าวกล้องสินเหล็กพร้อมบริโภคมีดัชนีน้ำตาล 54 ถือว่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (มาตรฐานค่าดัชนีต่ำกว่า 55 ระดับปานกลาง 56-69 ปานกลาง และระดับสูง 70 ขึ้น) ส่วนข้าวกล้องสินเหล็กชนิดหุงบริโภค มีค่าดัชนีน้ำตาล 62 อยู่ในระดับปานกลาง

ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร (ขวา) ดูแปลงข้าวสินเหล็ก

“ปี 2561 ผลผลิตข้าวสินเหล็กที่ทำการทดลองเริ่มให้ผล จึงทดลองจัดจำหน่ายโดยการสร้าง แบรนด์ “กฤษณา” เป็นข้าวของจังหวัดตราด ระยะแรกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ที่ต้องการรักษาสุขภาพจากโรคเบาหวาน วางจำหน่ายโรงพยาบาล คลินิกแพทย์ที่รักษาโรคเบาหวาน ปี 2562 มีผลผลิต 2,946 กิโลกรัม ทำรูปบรรจุภัณฑ์ถุงสุญญากาศถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม ราคาถุงละ 50-80 บาทจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อ ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร พัฒนาข้าวกล้องสินเหล็กพร้อมบริโภคได้ทันที (READY TO EAT) มีสถาบัน Temasek P0lytechnic สิงคโปร์ เป็นผู้รับรอง”

“ผลวิจัยพบว่า ข้าวกล้องสินเหล็กพร้อมบริโภคมีดัชนีน้ำตาล 54 ถือว่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (ค่าดัชนีต่ำกว่า 55 ระดับปานกลาง 56-69 ปานกลางและระดับสูง 70 ขึ้น) ส่วนข้าวกล้องสินเหล็กชนิดหุงบริโภค มีค่าดัชนีน้ำตาล 62 อยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงได้นำข้าวสินเหล็ก 305 กิโลกรัม ใส่ถ้วยบรรจุขนาด 125 กรัม ซึ่งเก็บในอุณหภูมิปกติอายุ 14 เดือน เพื่อความสะดวกในการบริโภคในกลุ่มคนรุ่นใหม่และทำตลาดต่างประเทศกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก และส่งให้สถาบันพัฒนาอาหารพัฒนาแปรรูปเป็นแครกเกอร์อีกผลิตภัณฑ์ สรุปว่าข้าวกล้องสินเหล็กที่ทำวิจัยและทดลอง มีคุณภาพและปลอดภัยตั้งแต่นาข้าวถึงผู้บริโภค” พล.ท. ปรีชา กล่าวถึงสถานการณ์ตลาด

คุณค่าโภชนาการข้าวกล้องสินเหล็ก

จด GI เพิ่มมูลค่า
เจาะตลาดต่างประเทศ และขยายต้นแบบโมเดล

พล.ท. ปรีชา กล่าวตอนท้ายว่า ผลการวิเคราะห์วิจัยทดลอง ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิตร เป็นข้อมูลเชิงวิชาการตลอดระยะเวลา 18 เดือน พบว่า ข้าวสินเหล็กที่ปลูกเฉพาะพื้นที่จังหวัดตราด มีคุณสมบัติทางโภชนาการมีความแตกต่างจากข้อมูลเดิมคือ มีปริมาณ ธาตุสังกะสีสูง 34 ไมโครกรัม ต่อกิโลกรัม ต่างจากเดิม 26.9 ไมโครกรัม ต่อกิโลกรัม ใยอาหารสูง 4.6 กรัม ต่อ 100 กรัม มีใยอาหารละลายน้ำได้ 2.6 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ทำให้ดูดซึมจับน้ำตาลในกระเพาะและลำไส้ ต้านเบาหวาน นอกจากนี้ ยังพบสารต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 4,043 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม และได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทย (Geographical Indication:GI) น่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะมีข้อมูลทำการวิจัยรองรับ การจดทะเบียน GI จะช่วยสร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่า ทำให้แข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้

จากนี้เตรียมขยายต้นแบบโมเดล…โดยเสนอให้จังหวัดตราดขยายพื้นที่ปลูกข้าวสินเหล็กของจังหวัดตราดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จะสนับสนุนพันธุ์ สอดคล้องกับโครงการโรงสีข้าวหมู่ที่ 4 ตำบลหนองคันทรง ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองคันทรง สร้างเสร็จอีก 2-3 ปี การผลิตข้าวสารของจังหวัดตราดจะเป็นรูปแบบครบวงจร “ข้าวกล้องสินเหล็ก” โมเดลต้นแบบที่จังหวัดตราด งานวิจัยที่มีคุณค่าของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและความร่วมมือของคนในท้องถิ่น 

กระเช้าข้าวกล้องสินเหล็ก READY TO EAT
ผังโรงสีข้าว