คืออะไรนะ อาหารที่ผลิตจากหลอดแก้ว?

ประชากรของโลกจะแตะ 9 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 หรือ อีก 30 ปีข้างหน้า อันนี้เขาคำนวณกันเป็นเรื่องราวโดยสหประชาชาติ ไม่ได้มโน

ปัญหาที่โลกวันหน้าต้องเผชิญไม่ใช่แค่ว่าเราจะหาอาหารมาเลี้ยงคน 9 พันล้านคน ให้อิ่มท้องทั่วถึงได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้เรามีคน 1.4 พันล้านคน น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และมีคน 1 พันล้านคน อดอยาก

จริงแล้วปัญหามีให้เราขบมากกว่านั้น

เราจะไม่คิดเพียงว่า ทำอย่างไร จะผลิตอาหารให้พอเพียงเลี้ยงทุกปาก แต่ต้องคิดว่าจะผลิตอาหารมหาศาลได้อย่างไรโดยไม่ทำลายทรัพยากรที่มีอยู่น้อยนิดนี้ไปในคราวเดียวกัน

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติU.N. Food and Agriculture Organization (FAO) บอกว่าอุตสาหกรรมการเกษตร หรือการผลิตอาหารนี่แหละ เป็นต้นเหตุสำคัญของมลภาวะทางอากาศ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ทำให้โลกร้อน และดินเสื่อมสภาพ

การเพาะปลูกอาศัยทรัพยากรส่งเป็นอาหารหล่อเลี้ยง ทั้งปุ๋ย สารเคมี ยารักษาโรค อาหาร น้ำ เพื่อให้เราได้ผลพืชผักมาเป็นอาหาร การเลี้ยงสัตวก็ไม่ต่างกัน มันเป็นกระบวนการดูดซับอาหารและทรัพยากรจำนวนมาก และปล่อยทิ้งของเสียมหาศาล

มันคือ การเอาอาหารมหาศาลส่งเข้าไป เพื่อให้ได้อาหารออกมา วงจรซับซ้อนนี้สร้างภาระแก่โลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอย่างไม่อาจปฏิเสธ

วันนี้ยังพอทน แต่ถ้าประชากรไปถึง 9 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 2 พันล้านคน โลกจะทนไหวไหม?

จะผลิตอาหารมหาศาลในพื้นที่น้อยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงได้อย่างไร?

การผลิตอาหารในห้องทดลองหรือในหลอดแก้ว เป็นทางออกหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ กับนักโภชนาการหันไปพึ่งพา

ฟังแล้วอย่าตกอกตกใจไปเลย คนหลอดแก้วเขายังทำออกมาเดินกันให้ครึด ประสาอะไรกับอาหาร เชื่อเถิดว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากนี้ มันทำได้ทุกอย่าง และถ้ามันจะช่วยโลกใบนี้ไว้ได้ ก็อย่าไปรังเกียจเดียดฉันท์มันเลย

ที่พูดนี่เพราะคนตั้งแง่ก็มาก งงก็มี เหวอก็เยอะ คืออะไรนะ อาหารที่ผลิตจากหลอดแก้ว?

แฮมเบอร์เกอร์จากพืช (plant based burger) โดย “แมคโดนัลด์” บริษัทฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง (Photo by Geoff Robins/ AFP)

วิธีของเขาคือ การเพาะเลี้ยงเซลล์หรือเนื้อเยื่อในหลอดแก้ว แล้วเลี้ยงให้มันเติบโตมาเป็นอาหาร เป็นผัก เป็นผลไม้ เหมือนที่เขาเลี้ยงไข่กับสเปิร์มในหลอดแก้วให้ออกมาเป็นคน ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน

การผลิตผักและผลไม้ในห้องทดลองนั้น ทำกันมาพักใหญ่แล้ว คือจากเซลล์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ากลายเป็นผัก เป็นสตรอเบอรี่ หลายประเทศทำออกมาขายมากินกันแล้ว ส่วนเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

ศาสตราจารย์ Mark Post (Photo by HO/ MAASTRICHT UNIVERSITY/ AFP)

6 ปีที่แล้ว ชายคนที่เห็นในภาพคือ ศาสตราจารย์ Mark Post จากมหาวิทยาลัย Maastricht ในเนเธอร์แลนด์ ประกาศความสำเร็จการเพาะเลี้ยงเนื้อแกะในห้องทดลอง โดยใช้โปรตีนกว่า 20,000 สายพันธุ์ ใช้เวลา 8 สัปดาห์ จากเซลล์มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น กลายเป็นเนื้อแกะชิ้นเท่าที่ใส่ในแฮมเบอร์เกอร์

นักชิมยอมรับว่า เนื้อของอาจารย์รสชาติใช้ได้ เหมือนเนื้อจากสัตว์จริงๆ แม้จะยังไม่สามารถทำเนื้อพิสดารอย่างเซอร์ลอยด์ราคาแพงได้ แต่ก็ผ่าน ส่วนคนชอบเนื้อติดมันก็บ่นนิดหน่อย เพราะเนื้อของอาจารย์เน้นคุณภาพจัดจนไม่มีไขมันปน

จากนั้นการพัฒนาอาหารแนวนี้ก็เดินหน้าแบบยั้งไม่อยู่

เนื้อจากการเพาะเลี้ยง (Photo credit : David Parry/ PA/ www.mosameat.com)

บริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ อย่างBlueNalu  และ Finless Foods กำลังเพาะเลี้ยงปลาในห้องทดลอง ถ้าสำเร็จจะได้เนื้อปลาล้วน ไม่มีหัว ไม่มีหาง ไม่มีก้าง ไม่มีเลือด ไม่มีพยาธิ และไม่มีสารปนเปื้อนจากทะเล

บริษัท Shiok Meats ในสิงคโปร์กำลังจะผลิตเนื้อกุ้งในห้องทดลองเป็นรายแรกของโลก ใช้วิธีการเพาะเซลล์ตัวอ่อน แล้วใส่สารอาหารสำคัญลงไป ใช้เวลา 6 สัปดาห์ จะได้เนื้อกุ้งสด ตอนนี้ระดมทุนได้แล้วกว่า 100 ล้านบาท ผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากคนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เอง เขามีแผนจะเริ่มขายเนื้อกุ้งปีหน้า และใน 10 ปีข้างหน้า จะผลิตเนื้อกุ้งมากพอจะเลี้ยงคนสิงคโปร์ 5.9 ล้านคน โดยไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป

เขาว่าการผลิตแบบนี้จะลดการใช้ทรัพยากรลง 78-96% และไม่ต้องใช้พื้นที่มหาศาลในการผลิตเช่นที่ผ่านมา พวกเขาแค่เอาสเต็มเซลล์ของสัตว์แต่ละชนิด มาเพาะเลี้ยงให้อาหารที่จำเป็นเหมือนเราเลี้ยงเด็กหลอดแก้ว คาดกันว่าเนื้อสัตว์ประเภทนี้จะวางตลาดอย่างแพร่หลายภายใน 5 ปี

ตอนนี้เขามี คำว่า Smart Food ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ว่า เป็นอาหารบรรจุสำเร็จกินสะดวกเท่านั้น แต่ต้องมีคุณค่าทางอาหาร ตรงกับที่เรากำหนดหรือต้องการ กำหนดต่างกันไปตามผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เด็ก คนแก่ คนอ้วน คนป่วย  แจกแจงกันได้ละเอียดยิบ ไม่ต้องแปลกใจที่อีกหน่อยจะมีอาหารตรงกับกลุ่มเลือดหรือพันธุกรรมของเราเลย

Rob Rhinehart ผู้คิดค้นเครื่องดื่มสำหรับบริโภคทดแทนอาหาร ผลิตจากถั่วเหลือง ภายใต้แบรนด์ “Soylent” (Photo credit : Josh Edelson/ AFP)

บริษัทในอุตสาหกรรม Smart Food อย่าง Soylent จากอเมริกา Huel จากอังกฤษ และ Vitaline จากฝรั่งเศส กำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เขาว่าการพัฒนาด้านนี้จะไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง ขนาดที่ว่าอีก 100 ปีข้างหน้า เราจะผลิตอาหารตามที่เราแต่ละคนต้องการได้โดยอาศัยไมโครชิป และเครื่องพิมพ์สามมิติ

พูดเป็นเล่นไป การพิมพ์อาหารจากเครื่องพิมพ์สามมิติเขาทำกันมาพักใหญ่แล้ว

ที่สเปน มีโรงงานผลิตเนื้อเทียมด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ คือป้อนข้อมูลเข้าไป มันก็พิมพ์เป็นเนื้อ 1 ก้อน ให้เราเลย เนื้อเทียมนี่มาจากผักล้วน แต่ทำให้ออกมามีรสชาติและกลิ่นเป็นเนื้อ เจ้าของเขาว่าช่วงเริ่มต้นนี่ต้นทุนการผลิตเนื้อเทียมขนาด 100 กรัม เท่ากับ 100 บาท ลองคิดดูว่า ถ้าพัฒนาไปถึงขั้นทำเป็นอุตสาหกรรม ต้นทุนจะถูกลงปานไหน

เนื้อเทียมด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ (Credit : Screenshot from “NOVAMEAT” YouTube channel)

ที่สิงคโปร์อีกนั่นแหละ เขากำลังพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับผู้สูงอายุ ที่คำนวณความต้องการอาหารของคนแต่ละคน แล้วกำหนดอาหารแต่ละมื้อ ให้ตรงกับความต้องการของร่างกาย สภาพของร่างกายและความเจ็บป่วย เจ้าโปรแกรมนี่จะทำงานร่วมกับสายรัดข้อมือที่ติดตัวคนแก่ทุกคน แล้วส่งคำสั่งไปที่เครื่องพิมพ์สามมิติ แล้วเครื่องก็จะพิมพ์อาหารออกมา

ฉันยอมรับการเปลี่ยนแปลงนะ แต่สงสัยว่า ถ้าฉันแก่ แล้วฉันไม่ชอบใจอาหารที่เจ้าโปรแกรมนี่กำหนดให้ ฉันจะขว้างสายรัดข้อมือทิ้งเสียได้ไหม?

แล้วถ้าทำให้มันโกรธ มันพิมพ์โซ่มาล่ามข้อเท้าฉันเข้า ฉันจะทำอย่างไร?

 

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจาก David Parry / PA Wire และ Maastricht University