“ผึ้งได้งาน คนเลี้ยงได้เงิน” อาชีพเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ สร้างกำไร 3.5 แสนบาท ต่อปี

น้ำผึ้ง มีความสัมพันธ์กับอาชีพเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงผึ้งมีทั่วประเทศ เพราะความต้องการใช้น้ำผึ้งในเชิงพาณิชย์มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากคุณประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ ความสวยงาม อาหาร ขนม เครื่องดื่ม เกิดเป็นอาชีพที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมากมายในแต่ละปี ผลักดันให้ผู้เลี้ยงผึ้งพัฒนารูปแบบวิธีผลิตน้ำผึ้งเพื่อป้อนสู่ตลาดได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผู้ยึดอาชีพเลี้ยงผึ้งทั้งรายใหม่และเก่าควรมีความรู้และแนวทางเลี้ยงตามหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ดูแล และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งการอบรม ถ่ายทอดความรู้ กระบวนการเลี้ยงให้แก่ผู้สนใจทั้งรายใหม่และรายเก่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงผึ้งให้สอดคล้องกับสภาวะอาชีพ

คุณวชิระ จิตรดาธำรง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์มีบทบาทและหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทางด้านเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบรวมทั้งสิ้น 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร แมลงเศรษฐกิจที่ส่งเสริมได้รับความสนใจมาก ได้แก่ ผึ้ง จิ้งหรีด และครั่ง ซึ่งชาวบ้านหันมาเลี้ยงกันมาก เพราะมีตลาดรองรับดี

คุณวชิระ จิตรดาธำรง

สวนลำไยทางเหนือ แหล่งน้ำผึ้งของชาวอีสาน ที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมาก

ผอ. เผยว่า สมัยที่เริ่มเข้ามาทำงานที่ศูนย์แห่งนี้ มีคนมีข้อมูลคนเลี้ยงผึ้ง จำนวน 6,000 รัง มาถึงตอนนี้ (2562) มีมากกว่า 40,000 รัง หรืออย่างที่จังหวัดเลยคราวนั้นมีเพียง 10 ราย แต่ตอนนี้มีมากกว่า 100 ราย ซึ่งล้วนเป็นรายใหญ่ที่มีจำนวนเลี้ยงกว่า 1,000 รัง ต่อรายด้วย

สำหรับผลผลิตน้ำผึ้งเฉพาะภาคอีสาน เป็นน้ำผึ้งที่ได้จากดอกสาบเสือ ซึ่งได้ผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น คนอีสานจึงยึดอาชีพเลี้ยงผึ้งด้วยการอพยพไปเก็บน้ำผึ้งจากสวนลำไยทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ลี้ ลำพูน เป็นการอพยพกันไปทั้งครอบครัว หลายครอบครัวเกือบทั้งอำเภอ โดยจะเริ่มออกเดินทางแบบคาราวานราวเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับดอกลำไยบาน

“มีผลผลิตที่ได้จากสวนลำไยเฉลี่ย 35 กิโลกรัม ต่อรัง ต่อปี หรือรวมทั้งปี ประมาณ 990 ตัน ถ้าคิดราคาขายที่กิโลกรัม 150 บาท จะมีมูลค่าเป็นตัวเงินรวมทั้งปีประมาณ 148 ล้านบาท แต่ถ้าคิดแยกเป็นรายเกษตรกรที่เลี้ยงจะมีรายได้ปีละ 742,500 บาท ต่อราย แต่เมื่อหักต้นทุนออก จะเหลือเป็นกำไรต่อราย ประมาณ 3.5 แสนบาท ต่อปี โดยชาวบ้านมักเลี้ยงกันเฉลี่ย 200 รัง ต่อราย ต่อปี จึงถือว่าเป็นรายได้ที่ค่อนข้างดี ทั้งนี้บางรายเลี้ยงเชิงพาณิชย์เป็นฟาร์มขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้ 4-5 ล้านบาท ต่อปี”

เกษตรกรเข้าเยี่ยมและเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งภาคปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ

อาชีพเลี้ยงผึ้งต้องอดทน ทุ่มเทด้วยใจรัก เพราะมีกิจกรรมงานที่ต้องทำตลอดทั้งปี

ความสมบูรณ์ของธรรมชาติและปริมาณผลผลิตน้ำผึ้งมีความสัมพันธ์กัน คุณวชิระ บอกว่า ถ้าปีใดดอกไม้จากแหล่งต่างๆ มีความสมบูรณ์ดีมาก ก็จะได้น้ำผึ้งมาก ชาวบ้านก็มีรายได้สูงมากตามไปด้วย แต่ถ้าปีใดเกิดปัญหาทางธรรมชาติ ดอกไม้ขาดความสมบูรณ์ก็จะส่งผลต่อการทำอาชีพนี้ เพราะหัวใจของน้ำผึ้งคือ ดอกไม้ และสภาพทางธรรมชาติที่ต้องสอดคล้องกัน

ก่อนถึงช่วงนำผึ้งไปเก็บน้ำหวานตามสวนลำไย ผู้เลี้ยงผึ้งต้องเจรจาต่อรองเรื่องราคากับเจ้าของสวนลำไยล่วงหน้า โดยมักกำหนดราคาเป็นรัง ประมาณ 15 บาท หรือบางรายอาจคิดแบบเหมาสวน ประมาณ 1,000 บาท เมื่อตกลงเป็นที่พอใจ จึงวางเงินมัดจำเพื่อจองสวน ทั้งยังต้องตกลงว่าระหว่างช่วงมีดอกต้องงดใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด

ในระหว่างที่ผึ้งออกหาน้ำหวานจากเกสรดอกลำไยเพื่อมาเก็บไว้ในรังจนเต็ม จากนั้นเจ้าของผึ้งจะปั่นน้ำหวานจากรังไปใส่ในถังลิตร เพื่อให้ผึ้งไปหาน้ำหวานมาใส่ในรังอีก โดยจะทำในลักษณะนี้ จำนวน 6 ครั้ง ต่อรัง ในช่วงฤดูเก็บน้ำหวาน

วางรังผึ้งในสวนลำไย

เมื่อชาวบ้านเก็บผลผลิตจากสวนลำไย จะจัดการขาย โดยน้ำผึ้งที่เก็บในถัง 200 ลิตร จะเก็บได้ประมาณ 320 กิโลกรัม จะขนไปขายตามแหล่งรับซื้อที่เชียงใหม่ เพราะเป็นตลาดรับซื้อแหล่งใหญ่ที่มีผู้รับซื้อจำนวนมาก

ภายหลังเก็บน้ำผึ้งส่งขายเรียบร้อย ในราวกลางเดือนเมษายน กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งจึงเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อมาพัก เพื่อเตรียมอุปกรณ์ และผึ้ง ขณะเดียวกันอาจมีชาวบ้านบางรายที่สภาพรังผึ้งยังมีความสมบูรณ์จะแวะไปเก็บน้ำผึ้งจากดอกทานตะวันแถวสระบุรี ลพบุรี หรือบางรายอาจล่วงไปถึงจันทบุรีที่มีการทำลำไยนอกฤดูกันอยู่

กรองน้ำผึ้งให้ปราศจากฝุ่นและเศษตะกอนอื่นๆ

สำหรับรายที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจะทำความสะอาดรัง ลดจำนวนผึ้งลงเพื่อบรรเทาต้นทุนค่าอาหาร โดยลดจำนวนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนรังที่ทำไปใช้งาน จนเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ผู้เลี้ยงจะเริ่มขยายประชากรผึ้งแบบทวีคูณ เพื่อให้มีจำนวนเท่ากับที่เคยใช้งาน โดยใช้อาหารผึ้งเป็นน้ำเชื่อมที่มีส่วนผสมของน้ำเปล่า 1 ส่วน น้ำตาล 1 ส่วน วางไว้เป็นอาหารให้ผึ้งกิน แล้วพอใกล้เวลาเดินทางต้องปรับสูตรน้ำหวานให้เข้มข้นมากขึ้นเป็นน้ำเปล่า 1 ส่วน น้ำตาล 2 ส่วน เพื่อเป็นการเร่งอัตราการไข่ให้เร็วและมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากประชากรผึ้งมากแต่ไม่ค่อยสมบูรณ์อาจมีประสิทธิภาพการเก็บน้ำผึ้งด้อยกว่าจำนวนน้อยแล้วมีความสมบูรณ์

สำหรับภารกิจของศูนย์จะทำหน้าที่ส่งเสริมด้วยการจัดอบรมวิธีและกระบวนการเลี้ยงผึ้งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อให้มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้เลี้ยงรายใหม่ หรือผู้เลี้ยงรายเล็กอำนวยความสะดวกเรื่องการเก็บน้ำผึ้งให้แก่ผู้เลี้ยงรายเล็ก รวบรวมสมาชิกผู้เลี้ยงผึ้งจัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และให้ความช่วยเหลือกัน โดยมีการพบปะประชุมกันหรือติดต่อสื่อสารผ่านทางไลน์กลุ่ม เพื่อต้องการให้สมาชิกรับรู้ข่าวสาร ปัญหาได้ทันที ช่วยทำให้อาชีพเลี้ยงผึ้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ทันสมัย ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระทางศูนย์ได้ดี

ผึ้งเก็บน้ำหวานจากสวนลำไยไว้ในรัง

จิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจ ที่สร้างมูลค่าได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จิ้งหรีด เป็นแมลงเศรษฐกิจอีกชนิดที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความจริงแมลงชนิดนี้เป็นเมนูอาหารของคนอีสานอยู่แล้ว เมื่อกระแสความนิยมบริโภคมากขึ้น ตลาดกว้างขึ้น ชาวบ้านจึงหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดแบบคุณภาพทั้งรายเล็ก รายใหญ่ รวมทั้งยังส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน

ผอ. วชิระ ให้รายละเอียดว่า ภาคอีสาน จำนวน 20 จังหวัด มีข้อมูลการเลี้ยงจิ้งหรีด จำนวน 6,000 ราย มีทั้งเลี้ยงแบบรายได้เสริม และรายได้หลัก รายที่เลี้ยงน้อย มีจำนวนเฉลี่ย 10 บ่อ

“สมัยแรกยังไม่แพร่หลาย ชาวบ้านเลี้ยงจิ้งหรีดในวงบ่อซีเมนต์ ต่อมาพัฒนาเป็นบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยมที่มีหลายขนาด มีผลผลิตต่อบ่อเฉลี่ย 30 กิโลกรัม หรือถ้าคิดเป็นปี ประมาณ 1.8 ล้านกิโลกรัม ต่อรอบการเลี้ยง มีอายุเก็บขายประมาณ 45 วัน เลี้ยงได้ 6-7 รุ่น ต่อปี ลงทุนน้อย มีราคาขายเฉลี่ย 70-250 บาท อย่างที่บ้านสันตอ ผลิตเดือนละ 15 ตัน มีรายได้เดือนละล้านกว่าบาท”

โดยทั่วไปชาวบ้านมีรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 6,250 บาท หรือ 75,000 บาท ต่อปี มีหลายคนมองว่าเมื่อดูจากภายนอกแล้ว เป็นการเลี้ยงแบบธรรมดา จะมีรายได้สูงจริงหรือ?? แต่ความจริงพิสูจน์ออกมาแล้วว่า ชาวบ้านที่เลี้ยงมีตัวเลขรายได้เช่นนั้นจริง ได้เงินจริง แล้วนับวันจะผลิตจิ้งหรีดกันเพิ่มมากขึ้น เพราะตลาดต้องการ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่นับวันจะขยายเพิ่มขึ้น

เลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยาก ลงทุนน้อย จะเลี้ยงแบบรายได้เสริมหรือเชิงพาณิชย์ก็ได้ ที่สำคัญผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่เรื่องความสะอาดบริเวณสถานที่เลี้ยง สำหรับเรื่องสารเคมีไม่ต้องกังวล เพราะธรรมชาติจิ้งหรีดเป็นแมลงที่โดนสารเคมีจะตายทันที ดังนั้น ยังไงผู้เลี้ยงก็ไม่สามารถใช้สารเคมีกับการเลี้ยงจิ้งหรีดได้

“ดังนั้น ถ้าเลี้ยงแบบมีคุณภาพ สามารถผลิตจิ้งหรีดให้มีขนาดใหญ่ จะเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างที่ขอนแก่นมีฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐานขนาดใหญ่หลายแห่ง” ผอ. วชิระ กล่าว

ราคาผลผลิตทางการเกษตรอาจสร้างปัญหากับเกษตรกรไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเกษตรกรหันมาเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจเพื่อเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักกันบ้าง ก็น่าจะช่วยให้มีรายได้เพิ่ม แก้ปัญหาค่าครองชีพที่ไม่เพียงพอได้อีกทาง

กลุ่มเกษตรกรสนใจการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งในรูปแบบต่างๆ
เปิดน้ำผึ้งลงถังสแตนเลสแล้วกรองหยาบและละเอียด เพื่อให้น้ำผึ้งสะอาดไม่มีเศษไขและสิ่งเจือปนเบื้องต้น

…………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354