ผู้เขียน | อัจฉรา สุขสมบูรณ์ / รายงาน |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งเตือนภัยผู้ปลูกข้าวเฝ้าระวังการระบาดของโรคไหม้ข้าว พร้อมแนะมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาด
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้ข้าวซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับแจ้งรายงานประกอบกับข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ระบาดศัตรูข้าว พบการระบาด 432,118 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม สระแก้ว ลำปาง เลย แพร่ ลำพูน กาฬสินธุ์ สงขลา ชัยภูมิ มุกดาหาร รวมถึงจังหวัดจันทบุรี โดยพบการระบาดมากในพื้นที่ที่ปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105, กข 15 และ กข 6 รวมถึงแปลงที่มีการปลูกข้าวหนาแน่น และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูง อีกทั้งช่วงนี้สภาพอากาศในหลายพื้นที่มีความแห้งในตอนกลางวัน ชื้นจัดและเย็นในเวลากลางคืน ช่วงน้ำค้างยาวนานถึงตอนสาย อุณหภูมิทั่วทุกภาคต่ำสุดที่ 22-27 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมต่อการเกิดโรค ประกอบกับมีลมแรงทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ดี ดังนั้น เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้ข้าวไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวของเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบ พร้อมดำเนินการป้องกันและลดการระบาดตามมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไหม้ข้าว ดังนี้
- มาตรการเฝ้าระวังและการป้องกันก่อนเกิดการระบาด สำหรับข้าวปลูกใหม่ ข้าวระยะกล้า และระยะแตกกอ
- ให้ตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลสภาพแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบว่าสภาพแวดล้อมมีอุณหภูมิระหว่าง 22-27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่าร้อยละ 80 น้ำค้างแรงและมีหมอกจัด ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคไหม้ ให้สำรวจแปลงนาหากพบอาการของโรคให้แจ้งเตือนภัยในพื้นที่เพื่อเตรียมการจัดการอย่างเหมาะสม 2. สำรวจแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าว และแปลงปลูกข้าวของตนเองอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จำนวน 10 จุด จุดละ 10 ต้น ต่อกอ เมื่อเริ่มพบลักษณะเป็นแผลคล้ายรูปตาขอบแผลสีน้ำตาลกลางแผลมีสีเทา อาจเห็นเป็นวงซ้อนๆ กันที่กลางแผลเป็นอาการของโรคไหม้ หากพบอาการนี้โดยเฉลี่ยบนใบข้าว 1-2 แผล ต่อจุด ให้รีบแจ้งเตือนภัยการระบาดในพื้นที่ และแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมและรายงานพื้นที่การระบาดต่อกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่องจนกว่าการระบาดจะสิ้นสุด 3. ใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำที่สอดคล้องกับระยะการเจริญเติบโตของพืช และมีความเหมาะสมกับสภาพของดินในแต่ละพื้นที่ ไม่ใส่ปุ๋ยที่ให้ไนโตรเจนสูงเกินไป 4. ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมกับการปล่อยน้ำในนาข้าว อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือผสมกับปุ๋ยอินทรีย์หว่านในนา อัตรา เชื้อสด:รำข้าวละเอียด : ปุ๋ยอินทรีย์ ในสัดส่วน 1 : 4 : 100 และ 5. พ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้ทั่วแปลงนา อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม : น้ำ 200 ลิตร ทุก 15 วัน จะสามารถป้องกันการระบาดของโรคไหม้ได้
- มาตรการควบคุมการระบาด หรือการจัดการระหว่างการระบาดสำหรับข้าวทุกระยะที่พบการเกิดโรค (ยกเว้นระยะออกรวง ใกล้เก็บเกี่ยว) 1. งดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย เพื่อไม่ให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น 2. พ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้ทั่วแปลงนา อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม : น้ำ 100 ลิตร ทุก 7 วันจะสามารถลดการระบาดของโรคไหม้ได้ 3. ใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ บีเอส (BS; Bacillus subtilis) พ่นอัตราตามคำแนะนำในฉลาก 4. หากพบโรคไหม้มีอาการรุนแรง พบแผลไหม้ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ใบ (สำหรับพันธุ์ข้าวค่อนข้างต้านทานหรือทนทาน) หรือร้อยละ 5 ของพื้นที่ใบในนาข้าวพันธุ์อ่อนแอ เช่น ขาวดอกมะลิ 105 กข 15 และ กข 6 ควรพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่ ไตรไซคลาโซล หรือคาซูกาไมซิน หรืออีดิเฟนฟอส หรือไอโซโพรไทโอเลน หรือคาร์เบนดาซิม ตามอัตราที่ระบุ และปรึกษาเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชในพื้นที่ 5. หากต้องการปลูกข้าวทดแทนต้นกล้าที่เป็นโรคไหม้รุนแรงจนแห้งตาย ควรกำจัดต้นข้าวที่เป็นโรคออกจากแปลงนา เพื่อป้องกันการระบาดต่อเนื่องในข้าวที่ปลูกใหม่ 6. หมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อรีบป้องกันกำจัดก่อนจะระบาดไปสู่ข้าวระยะตั้งท้อง-ออกรวง
สำหรับข้าวระยะออกรวง ใกล้เก็บเกี่ยว ให้พ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้ทั่วแปลงนา อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม : น้ำ 100 ลิตร ทุก 7 วัน เพื่อป้องกันการระบาดขยายพื้นที่และเร่งดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเร็วที่สุด ไม่เก็บพันธุ์ข้าวมาใช้ในฤดูกาลถัดไป
- มาตรการป้องกันการระบาดในฤดูถัดไป
- ให้ใช้พันธุ์ข้าวค่อนข้างต้านทานโรคไหม้ ดังนี้ภาคกลางได้แก่ สุพรรณบุรี 1, สุพรรณบุรี 60, ชัยนาท 1, ปราจีนบุรี 1, พลายงาม และข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก 1 (ข้อควรระวังสำหรับข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1, สุพรรณบุรี 60 และชัยนาท 1 ที่ปลูกในภาคเหนือตอนล่าง พบว่า แสดงอาการรุนแรงในบางพื้นที่และบางปี โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรค) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก 1, สุรินทร์ 1, เหนียวอุบล 2, สันป่าตอง 1, หางยี 71, กู้เมืองหลวง, ขาวโป่งไคร้, น้ำรู และ กข 33 ภาคใต้ ได้แก่ ดอกพะยอม และ กข 55 2. จัดหาเมล็ดพันธุ์จากหน่วยงานราชการ แหล่งเมล็ดพันธุ์ที่ทางราชการรับรอง หรือบริษัทเอกชนที่เชื่อถือได้ อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อให้แปลงข้าวมีการถ่ายเทอากาศดี และเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุกๆ 2-3 ฤดูปลูก 3. คลุกหรือแช่เมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่ ไตรไซคลาโซล หรือคาซูกาไมซิน หรือคาร์เบนดาซิม หรือโพรคลอราช ตามอัตราที่ระบุ หรือคลุกเมล็ดด้วยสารละลายเชื้อราไตรโคเดอร์มาก่อนปลูก 4. ปรับปรุงบำรุงดินโดยไถกลบตอซังแทนการเผาฟางและทำนาไม่เกิน 2 ครั้ง ต่อปี 5. งดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย เพื่อไม่ให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น โดยให้ใส่ปุ๋ยตามอัตราแนะนำ หรือตามค่าวิเคราะห์ดิน และ 6. ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงนาที่มีประวัติการระบาดของโรคไหม้ข้าวมาก่อน