การตอนกิ่ง VS การปักชำกิ่งมะนาว ใครเหนือใคร

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมดูข่าวในสื่อบางสื่อ พบว่าเกษตรกรบางท่านบอกว่า การขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีควบแน่นนั้น หมายความว่าอย่างไร ผมเข้าใจว่าเป็นวิธีขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำใช่หรือไม่ โดยในข่าวบอกว่าทำได้ง่าย และได้ผลดีเทียบเท่ากับวิธีตอนกิ่ง ผมจึงอยากทราบว่า วิธีดังกล่าวที่เล่ามานี้ เกษตรกรมีเทคนิคอื่นๆ เข้าช่วยอย่างไร ขอคำอธิบายด้วยครับ

ขอแสดงความนับถือ

สุพจน์ ทองดำรงค์

นนทบุรี

ตอบ คุณสุพจน์ ทองดำรงค์

ก่อนอื่น ผมขออธิบายถึงเรื่องการขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นการปูพื้นให้เข้าใจ

การขยายพันธุ์พืช จำแนกได้ 2 ประเภท คือ การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ (Sexual propagation) คือการใช้เมล็ดที่เกิดจากการผสมเกสร ระหว่างเกสรเพศผู้และเพศเมีย วิธีนี้ลูกที่ได้จะมีการกระจายทางพันธุกรรม ตามกฎของเมนเดลที่เหมือนพ่อ อยู่ระหว่าง หรือดีกว่าพ่อแม่ และเหมือนแม่ ในอัตรา 1 : 3 : 1 จึงเหมาะกับการปรับปรุงพันธุ์ และการขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ (Asexual Propagation) คือใช้กิ่ง ใบ ตา และยอด เช่น วิธีการตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง ทาบกิ่ง เสียบยอด และการปั่นตา (Tissue Cultus) ข้อดีของการขยายพันธุ์ประเภทนี้ ต้นที่ได้จะเหมือนกับต้นแม่ทุกประการ และยังให้ผลผลิตเร็วกว่าการเพาะปลูกด้วยเมล็ด กลับมาคุยเรื่องการตอนกิ่ง กับการปักชำกิ่งมะนาวในรายละเอียดต่อไป

การตอนกิ่ง (Grafting) ให้เลือกกิ่งที่ไม่แก่ และไม่อ่อนจนเกินไป ขนาดวัดรอบกิ่งให้ได้ขนาดเล็กกว่าแท่งดินสอดำเล็กน้อย หาตำแหน่งที่ทำงานได้สะดวก และกิ่งไม่ควรยาวเกิน 100 เซนติเมตร หรือ 1.00 เมตร ควั่นกิ่ง 2 รอย ห่างกัน 1.00 เซนติเมตร ใช้มีดที่คมและสะอาด กรีดลอกเปลือกออกอย่างนุ่มนวล แล้วขูดเมือกที่ติดอยู่ออกให้หมด ทิ้งไว้สัก 1-2 ชั่วโมง นำถุงพลาสติกใสที่ใช้ใส่เครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว บรรจุขุยมะพร้าวที่แช่น้ำให้อิ่มตัว แล้วใช้มือบีบน้ำออกจนไม่มีน้ำทะลักออกมาจากกำมือ เกือบเต็มถุงเหลือไว้พอให้มัดปากถุงด้วยเชือกฟางให้แน่น มีลักษณะเป็นตุ้มพองาม ผ่าตุ้มตามแนวยาวของถุง แหวกรอยแผลให้กว้างขึ้น แล้วสวมลงบริเวณรอยควั่นโอบล้อมให้มิด ผูกเชือกฟาง 2-3 เปาะให้แน่น อย่าให้ตุ้มขยับ หรือหมุนได้ ภายใน 22 วัน รากจะงอกปรากฏให้เห็น ครบ 30 วัน จึงตัดนำปลูกลงในถุงเพาะชำแล้วเก็บในโรงเรือน เตรียมนำไปปลูกได้

การปักชำ (Cutting) เลือกกิ่งที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป เหมือนกับการเลือกกิ่งตอน นำถ้วยพลาสติกประเภทเดียวกับใส่น้ำหวาน ไม่ต้องเจาะก้น บรรจุหรือใส่วัสดุปลูกที่สะอาด เช่น พีทมอสส์ ดินร่วนที่สะอาด หรือขุยมะพร้าว ให้น้ำพอชุ่ม ส่วนขุยมะพร้าวต้องแช่น้ำสัก 2-3 ชั่วโมง วัสดุทั้ง 3 ต้องบีบคั้นเอาน้ำออกจนไม่มีน้ำหยดจากอุ้งมือ นับว่าใช้ได้ ใส่ลงในถ้วยแล้วอัดให้แน่น ใช้ไม้เสียบลงวัสดุเพาะนำทาง

ลึกลงไป 2 ใน 3 ส่วน แล้วนำกิ่งที่เตรียมไว้จุ่มลงในฮอร์โมนเร่งราก เสียบลงตามรอยที่นำร่องไว้ก่อนแล้ว อัดวัสดุปลูกให้แน่นอีกครั้งป้องกันกิ่งโยกได้ แล้วนำเข้าอบในถุงพลาสติกใสขนาดที่พอเหมาะพอดี ผูกปากถุงให้แน่นไม่ให้อากาศถ่ายเทได้ นำเก็บในโรงเรือน อีกประมาณ 30 วัน รากจะงอกปรากฏให้เห็น จากนั้นจึงแง้มปากถุงเพียงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้บ้าง กิ่งชำจะได้ปรับตัวให้กับสภาพอากาศด้านนอกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าในถุงเล็กน้อย อีก 2-3 วัน จึงเปิดถุงให้กว้างเต็มที่ วันถัดไปนำกิ่งใน พร้อมถ้วยพลาสติกปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่งในร่มรำไร อย่าให้ลมพัดผ่านแรง จนมั่นใจว่าปรับตัวดีแล้วจึงถ่ายปลูกลงในถุงเพาะชำสีดำ ทิ้งระยะไว้สัก 1 เดือน ระวังอย่าให้ขาดน้ำ ครบกำหนดแล้วนำไปปลูกในกระถาง วงบ่อซีเมนต์ หรือลงดินได้

ปัจจุบัน การปักชำ นิยมเรียกกันว่า โคลนนิ่ง (Cloning) อาจจะติดมาจากยูทูปของฝรั่ง ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดตามแม่แบบ แต่ในทางวิชาการใช้คำว่า การปักชำ (Cutting) ส่วนคำว่า โคลนนิ่ง เริ่มรู้จักกันเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ สร้างแกะดอลลี่ โดยวิธีโคลนนิ่ง ด้วยการฝังไข่ที่ได้รับการผสมกับสปอร์มแล้ว จำนวน 2 ฟอง ไว้ในรังไข่ของแกะตัวแม่ จากนั้นนำนิวเคลียร์ที่เป็นตัวอ่อนออกจาไข่ และนำเนื้อเยื่อบริเวณส่วนคอของแกะอีกตัวหนึ่งเข้าไปแทนที่ตัวอ่อนที่นำออกจากไข่ แต่ไข่อีกฟองให้พัฒนาของเขาไปเป็นปกติเพื่อกระตุ้นให้แม่แกะที่อุ้มท้องอยู่ให้ส่งอาหาร เกลือแร่ และฮอร์โมนให้ไข่ทั้ง 2 ฟอง ทั้งนี้ ไข่ฟองที่ใส่เนื้อเยื่อใหม่เข้าไปมันก็สามารถพัฒนามาเป็นแกะดอลลี่ ส่วนไข่อีกฟองก็จะพัฒนาเป็นลูกแกะตามธรรมชาติ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ดอลลี่มีอายุเพียง 6 ปี กับ 9 เดือน ก็ถูกการุณยฆาต ด้วยการฉีดยาให้เสียชีวิต เนื่องจากเกิดอาการอักเสบที่เข่าอย่างรุนแรง ข่าวคราวแกะดอลลี่จึงค่อยๆ เลือนหายไป นี่เป็นโคลนนิ่งขนานแท้

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกการปักชำแล้วอบในถุงพลาสติกว่า การขยายพันธุ์ด้วย วิธีควบแน่น ผมขออธิบายคำว่า ควบแน่น กันเพิ่มเติมอีกหน่อยครับ

การควบแน่น (Condensation) หมายถึงวิธีการ หรือขบวนการที่เปลี่ยนสถานะของก๊าซให้เป็นของเหลว ตัวอย่าง การผลิตเหล้าขาว หรือเหล้า 40 ดีกรี ทำได้โดยนำเหล้าสาโท หรือเหล้าหมัก มาต้มแล้วบังคับให้ไอระเหยที่ได้ผ่านไปกระทบภาชนะที่หล่อเย็นด้วยน้ำ เมื่อไอระเหยกระทบความเย็นจะจับตัวกันเป็นหยดใสๆ ปล่อยให้หยดลงขวดที่รองรับไว้ นี่คือการควบแน่นที่แท้จริง

สำหรับการนำกิ่งชำเข้าอบในถุงพลาสติกนั้น ก็เพื่อลดการคายน้ำของใบมะนาวลง อาจคายน้ำออกมาบ้างก็จะวนเวียนอยู่ภายในถุง จะไม่ทำให้กิ่งแห้งตายเพราะขาดน้ำ เนื่องจากกิ่งชำยังไม่มีรากเพื่อช่วยดูดน้ำ หรือความชื้นขึ้นมาหล่อเลี้ยงกิ่งและใบได้ จึงควรเรียกว่า การปักชำแบบอบ หรือเข้ากระโจมจะถูกต้อง ตามลักษณะของวิธีการดังกล่าว

สรุป การตอนกิ่งมะนาว หากต้นแม่มีขนาดสูงใหญ่จะทำให้การทำงานลำบากขึ้น แต่หากทำได้อัตราการรอดตายจะสูงกว่าวิธีปักชำกิ่ง

การปักชำกิ่งระยะแรกทำได้ง่ายโดยตัดกิ่งออกมาจากต้นแม่ นำมาปฏิบัติการในที่ร่ม แต่จะสิ้นเปลืองถุงพลาสติกสำหรับใช้อบ โอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสีย หรือกิ่งตาย เกิดขึ้นได้ในขั้นตอนการเปิดปากถุงและขณะเปลี่ยนปลูกลงในถุงเพาะชำสีดำ ดังนั้น อัตราความล้มเหลวของวิธีการปักชำจะสูงกว่าวิธีตอนกิ่งมะนาว

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เกษตรกรท่านใดชอบ หรือถนัดวิธีใดย่อมขึ้นกับแต่ละบุคคล สำหรับผมแล้ว ถนัดในการตอนมากกว่าครับ เพราะปฏิบัติมาจนเคยชินครับ