พ่อเมืองแพร่ ‘ชวนตามรอยพ่อพอเพียง’ ทำเกษตรในจวนผู้ว่าฯ

“เราต้องทำเป็นแบบอย่างที่ดี ถึงจะไปสอนไปบอก ไปเชิญชวนผู้อื่นให้ทำได้” คำกล่าวของ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ผู้ที่จุดประกายศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงภายในจวนพักผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดยใช้พื้นที่ที่มีไม่มาก แต่ก็ไม่น้อยสำหรับการเดินตามรอยพ่อหลวง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และทำแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นแบบอย่างก่อนที่จะนำไปต่อยอดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละหมู่บ้านของจังหวัดแพร่

นายวัฒนา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มจากตัวเราเอง หรือคนใกล้ตัว ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงในจวนพัก บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นอีกหนึ่ง “การจุดประกาย” และพร้อมที่จะขยายผล การที่เราจะไปขับเคลื่อนคนอื่น แนะนำคนอื่น ถ้าเราเองได้ลองทำ ได้เห็นปัญหา ได้ประสบการณ์ในการลงมือเอง เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือเพราะว่าเกิดจากการทำจริง ถ้าเราไม่รู้ ไม่มีวิธีการในการทำ บางทีเราอาจจะตอบปัญหาชาวบ้านไม่ได้ แม้กระทั่งการคำนวณต้นทุน เช่น เราเลี้ยงไก่ ถ้าเราเลี้ยงแค่บริโภคในครัวเรือน ควรจะสัดส่วนเท่าไร หรือถ้าสามารถหาจุดคุ้มทุนได้ เราจะต้องคำนวณต้นทุน รวมถึงอาหารที่จะซื้อ หรือวัตถุดิบอื่นๆ ถ้าเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ก็จะนำไปสู่การขายด้วย เพื่อที่จะมาหมุนเวียนในการจัดการส่วนอื่นๆ

“การจุดประกาย ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงภายในจวนพักผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จริงๆ แล้วไม่ได้ทำแค่ในตอนนี้ ตลอดชีวิตการเป็นข้าราชการของแผ่นดินยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอดและทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการในพื้นที่จังหวัดที่เคยดำรงตำแหน่ง แม้จะมีพื้นที่ภายในบ้านพักไม่มาก แต่ถ้าเราจัดสัดส่วนให้เหมือนกับหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ท่านแบ่งสัดส่วนพื้นที่ไว้ทำเรื่องสัตว์ ปลา น้ำ ข้าว ที่อยู่อาศัย ที่แห่งนี้ก็เช่นกัน เราได้แบ่งสัดส่วนตามแนวพระราชดำริ ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกผัก การเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยหมัก ให้ครบวงจร ในพื้นที่เล็กๆ เราก็สามารถมีความสุขแบบพอเพียงได้

“ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง ที่จะสามารถใช้บริโภคภายในครัวเรือนของเราเอง ที่สำคัญนอกจากสิ่งที่เราจะได้ฝึกปฏิบัติแล้ว ในการที่จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งให้เป็นต้นแบบที่จะให้มาศึกษาดูงานอย่างย่อได้ บางคนคิดว่าตัวเองเป็นข้าราชการมีหน้าที่หลักแล้ว ไม่มีเวลาทำ ไม่สามารถทำได้ ลองคิดทบทวนว่า ถ้าทุกอย่างต้องหาซื้อหมดในการดำรงชีวิตจะทำให้เราไม่เข้มแข็ง จุดนี้จะเป็นอีกแหล่งอ้างอิงว่าเรามีบทบาท มีหน้าที่หลักแล้ว แต่เราสามารถทำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับพื้นฐานการดำรงชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน”

ส่วนการขยายไปสู่หมู่บ้านในจังหวัดแพร่ นั้น นายวัฒนา กล่าวว่า เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการแผนงานที่ให้ความสำคัญมาตลอด เพราะถือว่าเป็นหลักในการดำเนินชีวิตหลัก และเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้ ภาคส่วนต่างๆ ก็ได้ดำเนินการเพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับคำว่าวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ที่บอกด้วยคำว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก็คือการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ สร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน และสร้างความยั่งยืนให้กับการดำรงชีวิต หรือการพัฒนาประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือการที่จะขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นสิ่งที่ระบุไว้ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาล ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“ส่วนการขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดแพร่ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การขยายผล คือ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ปัจจุบัน กว่า 700 หมู่บ้าน ในจังหวัดแพร่ มีหมู่บ้านต้นแบบกว่า 70 หมู่บ้าน ซึ่งมองว่าเราน่าจะมีแผนขับเคลื่อนในการขยายเพิ่มมากขึ้น โดยยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ การสร้างหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี 4 ช่วงของการทำงาน ช่วงแรก คือการปูพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ไปยังประชาชนทุกหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อมีการปูพื้นฐานแล้ว เราก็จะมีกระบวนการวัดมาตรฐานในการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้แบบตัวชี้วัดของพัฒนาชุมชน ที่เรียกว่า 6 คูณ 2 เป็นตัวชี้วัด และยกระดับขับเคลื่อนไปสู่หมู่บ้านต้นแบบต่อไป ต่อมาก็เป็นกระบวนการพัฒนาคนในชุมชน คือการคัดประชาชนอย่างต่ำ 30 ครัวเรือน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นำไปเป็นต้นแบบให้กับครัวเรือนอื่นๆ ในหมู่บ้านตนเองและติดตามผล ซึ่งกระบวนการทั้งหลายต้องมีความชัดเจน และขับเคลื่อนไปด้วยอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนโดยใช้งบประมาณ ของกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งปีหนึ่งได้เพียง 10 หมู่บ้าน จึงได้กลับมามองถึงการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ ด้วยการระดมงบประมาณมาสร้างกระบวนการดังกล่าวไปพร้อมๆ กันหลายๆ หมู่บ้านได้อย่างไร โดยเริ่มที่ “การจุดประกาย” การสร้างความเข้าใจ การสร้างทีม การลงพื้นที่ โดยถ้าผ่านกระบวนการแบบบูรณาการร่วมกัน ก็จะได้หมู่บ้านที่จะดำเนินการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่า 10 หมู่บ้าน ในแต่ละปี และท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการงบประมาณในท้องที่ของตนเองได้ แทนที่จะรองบประมาณจากส่วนกลาง 10 หมู่บ้าน ในแต่ละปี ทุกภาคส่วนร่วมกัน ทำงานแบบประชารัฐ คือภาคราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ก็ระดมกันเข้ามามีส่วนร่วม

โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนเติมเข้ามาในเรื่องของงบประมาณในการสนับสนุน ถ้าเราขับเคลื่อนตามนี้ จะสอดคล้องกับการทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งงบประจำปี ก็จะสอดคล้องและบรรจุอยู่ในข้อบัญญัติที่ว่าด้วยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าสู่สภาเห็นชอบและอนุมัติ ใช้ได้ในปีงบประมาณนี้ นายวัฒนา กล่าว

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน