“คุ้มจันทวงษ์” สวนเกษตรผสมผสาน ปราจีนบุรี เกษตรที่เริ่ม “ก่อนเกษียณ”

อาชีพเกษตรหลังเกษียณ เป็นความใฝ่ฝันของคนวัยทำงานจำนวนมาก แต่งานเกษตรเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ ความอดทน และต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าพืชที่ปลูกจะให้ผลผลิตและมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ หากรอลงมือทำสวนเกษตรในวันที่เกษียณอายุ บางคนอาจไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุยทำสวนเสียแล้ว

หากใครไม่อยากพลาดความสนุก เพลิดเพลินใจกับการทำงานเกษตร ขอแนะนำให้เริ่มลงมือทำเกษตรก่อนเกษียณเหมือนกับ “อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์” ที่หันมาทำสวนเกษตรผสมผสาน ในชื่อ “คุ้มจันทวงษ์” เนื้อที่ 38 ไร่ ควบคู่กับอาชีพข้าราชการครู ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสูง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

สวนเกษตรผสมผสาน

อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์ เล่าให้ฟังว่า น้องชายผมก็ทำอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ยูคาลิปตัส ส่งขายโรงงาน แต่ถูกกดราคารับซื้อผลผลิต หักค่าใช้จ่ายแล้วแทบไม่เหลือผลกำไร ทำให้ผมไม่สนใจปลูกพืชส่งขายโรงงาน และตัดสินใจทำสวนเกษตรผสมผสานแทน โดยวางแผนทำสวนเกษตรล่วงหน้าก่อนเกษียณถึง 10 ปีเต็ม

อาจารย์ธีระพล เน้นลงทุนปลูกพืชอาหารเป็นหลัก เช่น ลำไย ไผ่ เพกาต้นเตี้ย กล้วย พลู มะนาว ปัจจุบันรายได้หลักมาจากสวนมะนาว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ปลูกมะนาวพันธุ์ทะวาย เช่น มะนาวแป้นพิจิตร มะนาวสุขประเสริฐ มะนาวแป้นวโรชา และเพิ่งปลูกมะนาวปีที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด คือ มะนาวแป้นรำไพ โดยปลูกลงดิน แต่บังคับให้ต้นมะนาวมีผลผลิตออกนอกฤดู

ทุกวันนี้ อาจารย์ธีระพล ดูแลจัดการสวนด้วยตัวเองเป็นหลัก โดยใช้ช่วงเช้ามืด-ช่วงเวลาหลังเลิกงานแต่ละวัน รวมทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อทำงานในสวนเกษตรแห่งนี้ และว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น 1-2 คน ช่วยทำงานในสวนเป็นครั้งคราว จึงมีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานไม่มากนัก

ปัจจุบัน เนื้อที่ 38 ไร่ ของคุ้มจันทวงษ์ ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยแบ่งเป็น นาข้าว 12 ไร่ ปลูกลำไย 5 ไร่ ปลูกไผ่เลี้ยงเบา ประมาณ 200 กอ ปลูกเพกาต้นเตี้ย 250 ต้น ปลูกมะนาว 900 กว่าต้น ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 3-4 ไร่ ปลูกกล้วย 5 ไร่ และปลูกตะไคร้แซมอยู่ทั่วสวน

ปลูกตะไคร้แซมสวน

มะนาวนอกฤดู
ดกมากจนกิ่งหัก

อาจารย์ธีระพล บอกว่า การทำมะนาวนอกฤดู โดยปลูกใส่ท่อซีเมนต์ หรือใส่ถังรอง และใช้เทคนิคงดน้ำ และคลุมท่อ ผมลองมาหมด แต่ไม่ได้ความ ท้ายสุด ผมเลือกใช้วิธีบำรุงต้นมะนาวให้กินอิ่มเต็มที่ ก่อนตัดยอด นับวันเกี่ยวเก็บ ซึ่งการดูแลจัดการลักษณะนี้ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่า การบังคับมะนาวนอกฤดูด้วยการอดน้ำเสียอีก เพราะการบังคับให้ต้นมะนาวอดน้ำ เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนในเรื่องการคลุมท่อ ค่าจ้างคนงานมัดพลาสติก แกะพลาสติก

ปัจจุบัน อาจารย์ธีระพล ลงมือทำมะนาวนอกฤดูตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เพื่อให้มีมะนาวนอกฤดูออกขาย ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปีถัดไป ซึ่งตรงกับช่วงมะนาวขาดตลาด ทำให้สามารถขายมะนาวได้ในราคาแพง หากใครสนใจอยากนำเทคนิคนี้ไปทดลองใช้ อาจารย์ธีระพล แนะนำว่า หลังเก็บผลมะนาวเสร็จในเดือนพฤษภาคม ให้บำรุงต้นโดยใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 เมื่อมียอดอ่อนขึ้นมา ประมาณวันที่ 1 มิถุนายนจะตัดยอดต้นมะนาว หลังจากตัดยอด 7 วัน ต้องฉีดยากันหนอนชอนใบมากัดกินยอด หลังจากนั้น 15 วัน จะฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อไม่ให้แตกยอดอ่อนออกมาอีก นับไปอีก 45 วัน ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้งเพื่อกดยอดเป็นครั้งที่ 2

“โดยทั่วไป นิสัยของต้นมะนาว จะมียอดอ่อนครบ 90 วัน จึงเริ่มผลิดอก ทั้งนี้ ทุกๆ 45 วัน ต้นมะนาวจะแตกยอดอ่อนครั้งหนึ่ง จึงต้องฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อกดยอดไว้” อาจารย์ธีระพล กล่าว หลังกดยอด ครั้งที่ 2 แล้ว นับจากวันที่ตัดยอดถึงขั้นตอนนี้ เป็นระยะเวลา 60 วัน พอดี เป็นระยะเวลาที่ยอดแก่พอที่จะทำดอกได้สมบูรณ์

อาจารย์ธีระพล จะใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 25-7-7 ไปสักระยะ พอมีใบเพสลาด จะใส่ปุ๋ยเร่งดอก 12-24-12 ใส่เป็นระยะๆ จนต้นมะนาวติดลูก ต้องให้น้ำเช้า-เย็น เพื่อให้ต้นมะนาวมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับเลี้ยงผล และบำรุงผลด้วยปุ๋ย สูตร 8-24-24 เมื่อเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้ง

“เทคนิคการตัดใบ เพื่อผลิตมะนาวนอกฤดู จะเน้นใช้ปุ๋ยอยู่ 3 ช่วง คือ ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 25-7-7 ช่วงบำรุงดอก 12-24-12 บำรุงผลด้วยปุ๋ย สูตร 8-24-24 ในระหว่างที่เร่งดอกนั้น จะเสริมด้วยฮอร์โมนไข่ที่ผสมขึ้นใช้เอง ฉีดพ่นต้นมะนาวทุกๆ 7 วัน เพื่อช่วยกระทุ้งดอก วิธีนี้ได้ผลดีเยี่ยม ช่วยให้ต้นมะนาวติดผลดกมากจนกิ่งแทบหัก ผมทดลองปลูกมะนาวนอกฤดูโดยใช้วิธีการตัดยอดเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2559 ปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดี โกยรายได้ทะลุหลักแสน นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายกิ่งพันธุ์มะนาวคุณภาพดีให้แก่ผู้สนใจ ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลและกิ่งมะนาวตลอดทั้งปี” อาจารย์ธีระพล กล่าว


ปลูกมะนาวในล้อรถยนต์ ประหยัดต้นทุน

การปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ มีต้นทุนสูง เฉพาะค่าท่อซีเมนต์อย่างเดียวมีต้นทุนอยู่ที่ วงละ 120 บาท เมื่อรวมฝาท่อ จะมีต้นทุนเพิ่มเป็น 130 บาท หากวางท่อซีเมนต์สูง 2 ชั้น จะมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 250 บาท คำนวณต้นทุนค่าท่อซีเมนต์ รวมกับค่าต้นพันธุ์ ค่าระบบน้ำ จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงถึงวงละ 500 บาท

อาจารย์ธีระพล พยายามหาวิธีลดต้นทุน โดยเลือกใช้ล้อยางรถยนต์เก่ามาดัดแปลงเป็นที่ปลูกมะนาว ปรากฏว่า วิธีนี้ช่วยให้ต้นมะนาวที่ปลูกให้ผลผลิตดี ไม่แตกต่างกับการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ ที่สำคัญสามารถประหยัดต้นทุนได้ก้อนโต เพราะซื้อยางรถยนต์เก่า ในราคาเส้นละ 15-20 บาท หากต้องการใช้ยางล้อสัก 2 เส้น เพื่อปลูกต้นมะนาวจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 30-40 บาท เท่านั้น


ปลูก “หญ้าเม็ดแตง” คลุมบ่อมะนาว

ช่วงที่เดินชมสวนมะนาว สังเกตเห็นหญ้าต้นเล็กๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ใต้ต้นมะนาว อาจารย์ธีระพล บอกว่า วัชพืชชนิดนี้เรียกว่า “หญ้าเม็ดแตง” ปลูกเพื่อปกคลุมดิน ลดการระเหยของน้ำ หญ้าเม็ดแตงจะไม่แย่งปุ๋ยของต้นมะนาว เพราะระบบรากไม่ลึก เติบโตโดยอาศัยรากอากาศเล็กๆ

อาจารย์ธีระพล ได้ยินชื่อหญ้าเม็ดแตง จากการค้นหาข้อมูลทางเว็บไซต์กูเกิล พบว่า เป็นพืชคลุมดินต้นเล็กๆ ช่วยลดภาระการจัดการหญ้าและลดการระเหยของน้ำได้อีกทางด้วย จึงหาซื้อพันธุ์หญ้าเม็ดแตง ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท นำต้นหญ้าเม็ดแตงมาสับเป็นชิ้นๆ นำไปโรยในวงบ่อที่ปลูกมะนาว เมื่อต้นหญ้าโดนละอองน้ำก็จะแตกต้นขึ้นมาใหม่ ในช่วงหน้าฝน หญ้าเม็ดแตงจะมีลำต้นอวบใหญ่ ห้อยระย้าจนเต็มวงบ่อ ยามหน้าแล้งต้นหญ้าขาดน้ำจะแห้งฝ่อไปตามธรรมชาติ การปลูกหญ้าเม็ดแตงมีประโยชน์ ลดการระเหยของน้ำ ป้องกันผิวดินไม่ให้แห้ง จุลินทรีย์ในดินก็ไม่ตาย

ปลูก “หญ้าเม็ดแตง” คลุมบ่อมะนาว

ใช้เชื้อจุลินทรีย์จากป่าทำปุ๋ยหมัก

อาจารย์ธีระพล ทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยน้ำหมักโดยเก็บเชื้อจุลินทรีย์ที่แข็งแรงจากป่า โดยเลือกพื้นที่ที่มีเศษใบไม้ทับถมกัน ใช้จอบขุดพลิกหน้าดินที่ความลึก 5 เซนติเมตร เพื่อเก็บดินเนื้อซุยที่มีเชื้อจุลินทรีย์กลับบ้าน หลังจากนั้น ใช้รำละเอียดไปผสม และนำกากน้ำตาลผสมน้ำสกัดชีวภาพและน้ำสะอาดราดลงบนเชื้อจุลินทรีย์ ระวังไม่ให้แฉะหรือแห้งมาก หลังจากนั้น นำส่วนผสมไปหมักรวมกับเศษใบไม้ ใบหญ้า โดยขึ้นกองเป็นรูปกรวย หมักเชื้อนาน 3 วัน เชื้อจุลินทรีย์ป่าจะขึ้นเส้นใยขาวโพลนทั้งหมดและมีความร้อน จึงกลับกองปุ๋ยเพื่อระบายความร้อน และใช้เศษใบไม้คลุมทับกองปุ๋ยเหมือนเดิม หลังจากนั้นอีก 4 วัน จึงนำหัวเชื้อปุ๋ยเทใส่ถุง เพื่อเก็บไว้ใช้ต่อไป

อาจารย์ธีระพล บอกว่า หัวเชื้อปุ๋ยลักษณะนี้ เรียกว่า IMO เมื่อต้องการทำปุ๋ยหมัก จะเตรียมเศษใบไผ่ เศษฟางข้าวมาหมักผสมกับหัวเชื้อปุ๋ย และใช้ปุ๋ยคอกโรยก่อนเอาดินกลบ จึงค่อยใช้น้ำสกัดชีวภาพรดซ้ำอีกครั้ง ก่อนคลุมด้วยเศษฟางข้าว ซึ่งวิธีนี้ตรงกับทฤษฎีห่มดิน ของในหลวง รัชกาลที่ 9

ตากจนกว่าจะได้คุณภาพตามมาตรฐานของ
“คุ้มจันทวงษ์”

แปรรูป กล้วยตาก เพิ่มรายได้

ที่นี่ปลูกกล้วยน้ำว้า แต่อาจารย์ธีระพลไม่ขายผลกล้วยสดออกสู่ตลาด เพราะนำผลกล้วยไปแปรรูปขายเป็นกล้วยตากแทน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วยังสามารถยืดอายุการจำหน่ายกล้วยได้นานอีกด้วย

อาจารย์ธีระพล เล่าว่า ผมตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ทุกวัน ประมาณช่วง ตี 3 ผมจะนำผลกล้วยสุกเนื้อเหลืองทอง มาปอกเปลือกกล้วยออก และนำผลกล้วยไปตากแดดก่อนไปโรงเรียน ตกเย็นมาก็เก็บกล้วยที่ตากไว้ ตากกล้วยจนครบ 4-5 แดด จึงค่อยนำกล้วยไปอบน้ำผึ้ง ประมาณ 9-10 ผล บรรจุกล่องติดแบรนด์ “กล้วยตากคุ้มจันทวงษ์” ขายในราคากล่องละ 25 บาท แต่ละครั้งจะผลิตกล้วยออกขายได้ประมาณ 40-50 กล่อง ปรากฏว่า ขายดีมาก จนผลิตไม่พอขาย

สาเหตุที่อาจารย์ธีระพลไม่ขายกล้วยสด เพราะมีระยะเวลาการขายสั้น ถูกบีบด้วยเงื่อนไข “เวลา” เมื่อนำกล้วยสดออกขายปลีก มักถูกลูกค้าบีบจับ ทำให้ผลกล้วยช้ำ เมื่อตัดกล้วยส่งขายตลาดก็เจอแม่ค้ากดราคารับซื้อ การขายผลกล้วยสด หากขายกล้วยไม่ทัน จะกลายเป็นกล้วยงอม ไม่มีใครอยากจะซื้อ และกลายเป็นของทิ้งในที่สุด

อาจารย์ธีระพล จึงตัดสินใจนำกล้วยไปผลิตเป็นกล้วยตากออกขายแทน กล้วยที่ผ่านการตากแดด สามารถยืดอายุการจำหน่ายโดยเก็บใส่ตู้เย็นได้นาน 2-3 เดือน เวลาลูกค้าสั่งซื้อ อาจารย์ธีระพล จะนำกล้วยตากไปอบน้ำผึ้ง บรรจุกล่องออกขาย กล้วยตากฝีมืออาจารย์ธีระพลมีรสชาติอร่อย เพราะมีเคล็ดลับสำคัญคือ เทน้ำผึ้งใส่ถ้วย วางลงในโหลก่อนเข้าตู้อบ เมื่อน้ำผึ้งโดนความร้อนจะระเหยกลายเป็นไอ ค่อยๆ แทรกตัวเข้าไปในเนื้อกล้วยตาก ทำให้เนื้อกล้วยตากอบน้ำผึ้งมีเนื้อฉ่ำ รสชาติอร่อย กลมกล่อม และมีกลิ่นหอมน้ำผึ้งอ่อนๆ

เผยแพร่ทางออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2562