ที่มา | พืชพื้นบ้านเป็นทั้งอาหารและยา |
---|---|
ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
เผยแพร่ |
นับกว่าร้อยปีมาแล้ว ใครที่รู้จักเมืองอุตรดิตถ์ ก็พูดถึงลับแลเมืองแม่หม้าย รู้จักเมืองลับแล ก็พูดถึงลางสาด อยากกินลางสาด ก็ต้องไปเมืองลับแล ต่อมามีการกระจายขยายพื้นที่ปลูกลางสาดออกไปหลายแห่ง ซึ่งก็กระจายอยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่ดั้งเดิม ที่เมืองลับแล โดยการแพร่กระจาย ก็ใช้วิธีเดียวกับการมีลางสาดตอนเริ่มต้นบนพื้นที่เมืองลับแล คือคนกินแล้วเก็บเอาเมล็ดไปเพาะ ได้ต้นใหม่ แต่เนื่องจากมีเหตุ 2-3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง ลางสาดเป็นผลไม้ที่ต้องกินตอนสุกงอม จึงจะมีรสชาติหวาน ไม่ค่อยมียางเหนียว ทำให้เจ้าของจำเป็นต้องตัดตอนที่แก่จัด ตัดมาแล้ววันสองวันก็เริ่มร่วงหลุดจากพวง สองสามวันจะสีคล้ำ เหมือนผลไม้เน่าเสีย ผู้บริโภคจึงไม่ค่อยชอบใจนัก อีกประการ เริ่มมีทางเลือกให้หาผลไม้อื่นมาเป็นคู่เปรียบ จึงหันเหความนิยมไปหาผลไม้นั้นเสียมาก ประกอบกับผลไม้ชนิดใหม่ปลูกแข่งลางสาดได้ผล ชนะด้านผลผลิต ด้านคุณภาพดีกว่า เป็นช่อพวงคงทน รสชาติหวาน หอม กรอบกว่า ราคาซื้อขายดีกว่านับเท่าตัว วันนี้เมื่อ 20-30 ปี ผลไม้ทางเลือกใหม่ จึงวิ่งนำหน้าลางสาดกลายเป็นผลไม้ยอดนิยมแทนลางสาด นั่นคือ “ลองกอง”
ลองกองอุตรดิตถ์ เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่ชาวอุตรดิตถ์ภาคภูมิใจแนะนำให้ได้ลองลิ้มชิมรส จะมีผลผลิตออกเป็นรุ่นๆ ออกมารุ่นแรก ปลายกรกฎาคม และก็เว้นช่วงระยะหนึ่ง ปลายเดือนสิงหาคมก็ออกมาอีกรุ่น และมีมากช่วงเดือนกันยายน ตุลาคมอีกรุ่น เรียกเป็นรุ่นใหญ่ แล้วก็จะมีทิ้งลาสวน เก็บตกเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เข้าหนาวก็หมดปล่อยให้ผลไม้อื่นๆ ออกมาให้บริโภคกันต่อ
ลองกองทั่วไปที่ปลูกกันอยู่ พอจะแยกตามลักษณะผลได้ 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดผลกลมมีจุก ซึ่งเป็นลองกองคุณภาพดี ช่อแน่น ผลเปลือกหนา สีเหลืองจาง หรือขาวนวล ไม่มียาง เนื้อใสเป็นแก้วค่อนข้างแข็ง เมล็ดเล็กหรืออาจไม่มีเลย ชนิดผลกลม ช่อไม่แน่นมาก ผลเปลือกหนา สีขาว หรือเหลือง ยางน้อย เนื้อใส แข็ง หรืออาจขุ่น เมล็ดเล็ก อีกชนิดผลกลมรี เป็นชนิดที่มีขายทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ ช่อผลยาว ไม่แน่นมากนัก ผลเปลือกหนาสีเหลืองปนน้ำตาล หรือสีฟ้าอ่อน หรือขาวปนนวล เนื้อใส แข็ง หรืออาจขุ่น เมล็ดเล็ก
ที่อุตรดิตถ์ ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นสวนป่า มีต้นไม้ปะปนกันหลากหลาย ทั้งลางสาด ทุเรียน หมาก มะพร้าว ขนุน เงาะ กาแฟ ไม้ป่าก็มีมาก เช่น ต้นสะพุง หรือต้นสมพง เป็นสวนป่าที่มีความชื้นในอากาศและในดินมาก อุณหภูมิในสวนเฉลี่ย 20-30 องศาเซลเซียส ต่อมามีการนำเอาตา หรือยอดลองกองมาเสียบยอด ติดตากับต้นลางสาดเดิม เริ่มมาเมื่อหลายสิบปีก่อน และนิยมเปลี่ยนยอดลางสาดเป็นลองกองกันมากยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้จำนวนลางสาดลดลง เพราะเปลี่ยนเป็นลองกองกันมากขึ้นแทนที่ และมีการขยายพันธุ์ลองกอง ย้ายที่ปลูกจากสวนป่าลงมาที่ราบ จัดสร้างสวนเกษตรใหม่ มีการใช้วิชาการ เทคโนโลยีเข้าช่วย การปรับปรุงบำรุง การดูแลรักษา การตัดแต่งกิ่ง แต่งช่อผล ทำให้ลองกองอุตรดิตถ์เป็นลองกองที่มีคุณภาพดี ประกอบกับดินดีเป็นที่ดินใหม่ ต้นมีความแข็งแรงเพราะลางสาดเป็นต้นตอระบบรากดี ระบบน้ำดี สภาพแวดล้อมต่างๆ ดี ลองกองอุตรดิตถ์จึงเป็นลองกองคุณภาพเป็นหนึ่ง
การปลูกลองกองของชาวสวนปัจจุบันนี้ จะใช้ต้นกล้าที่เปลี่ยนยอดพันธุ์ หรือกิ่งทาบ ปลูกในระยะ 6×6 เมตร หรือ 7×7 เมตร จัดระบบน้ำหยด และมีการดูแลรักษา ตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งช่ออย่างดี ใช้สารชีวภัณฑ์ดูแลป้องกันกำจัดศัตรู เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า หรือเชื้อราเขียว ป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า, ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ซับทีลิส หรือ บี เอส ป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย หรือเชื้อราขาว ป้องกันกำจัดแมลงและหนอนต่างๆ ต้นพันธุ์ส่วนใหญ่ใช้ต้นตอที่เพาะจากเมล็ดลางสาด เปลี่ยนยอดเสียบยอดใหม่ให้เป็นลองกอง เพราะต้นลางสาดจะมีความแข็งแรงทนทานกว่า ระบบรากดีกว่า เจริญเติบโตได้ดีกว่า
ทั้งยังมีสวนลองกอง ส่วนที่ปลูกปะปนกับไม้อื่น พื้นที่เนินเขาบ้าง ภูเขาบ้าง ซอกเขาริมห้วยบ้าง ก็เป็นแบบสวนป่า นับเอาจำนวนต้นแล้วมาคำนวณพื้นที่ ก็จะได้ว่ามีพื้นที่ปลูกลองกองทั้งจังหวัด 27,636 ไร่ ผลผลิตรวม 21,197 ตัน คิดเป็นมูลค่าผลผลิตกว่า 510 ล้านบาท ต่อปี
มีหลายคนมีคำถาม และยังข้องขัดคาใจอยู่ เรื่องลองกองอุตรดิตถ์ ว่า เห็นมีการพูดถึง “ลางกอง” กัน ทำให้หลายคนคิดว่าเป็นผลไม้ชนิดใหม่ อยากรู้ว่าคืออะไร บ้างก็ว่าเป็นลูกเล่นล้อหลอกกัน เปลี่ยนชื่อให้ดูแปลกเข้าไว้หลอกกันกิน อะไรทำนองนั้น ที่จริงแล้วคงเป็นเจตนาดีของใครบางคนที่อยากจะแยกแยะให้เห็นว่า ลองกองอุตรดิตถ์ มีความแตกต่างจากลองกองของแหล่งอื่น ซึ่งก็จริงเมื่อเปรียบเทียบกับลองกองตันหยงมัส ของจังหวัดนราธิวาส จะเห็นข้อแตกต่างกันบ้าง ด้านขนาดผล เนื้อ รสชาติ แต่ก็ยังคงคุณลักษณะความเป็นลองกองที่คนทั่วไปรู้จัก คือ ต้น กิ่ง ใบ ผลเปลือกหนา ยางน้อย ช่อแน่น กลิ่นหอม รสชาติหวาน อร่อยน่ากินเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนให้ชื่อว่า “ลางกอง” ขอให้เข้าใจว่าเป็นเทคนิคด้านการตลาด อยากให้เป็นแบรนด์ผลไม้อุตรดิตถ์ชนิดนี้ ซึ่งในด้านพฤกษศาสตร์ก็คงเป็น “ลองกอง” เช่นนั้น ถ้าท่านทั้งหลายจะได้ยินว่า “ลางกองอุตรดิตถ์” ก็ให้เข้าใจว่าคือ ลองกองอุตรดิตถ์นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกที่จะเรียกอย่างไร และก็ไม่คัดค้าน หรือปฏิเสธการเรียกชื่อ ให้ใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อ ในใจก็อยากให้เรียก “ลางกอง” เหมือนกัน ดูแปลกหู และเรียกง่ายดี ทีลองกองแต่เดิมยังชื่อ “ลอก็อง”เลย เมื่อตรวจดูคุณสมบัติของลองกองอุตรดิตถ์แล้ว จะเห็นว่าต้นลองกอง มีลักษณะเปลือกเรียบมีลายขาวประปราย ซึ่งเป็นลักษณะของต้นลางสาด ใบเป็นลองกอง ผลเป็นลองกอง มีขนาดใกล้เคียงกับลางสาด รสชาติมีบางต้นไม่หวานจัดเหมือนลองกองทั่วไป เพียงแต่เปลือกผลหนา ไม่มียาง หรืออาจมียางน้อย ก็ขึ้นกับระยะเวลาการตัด แค่นั้นแหละ จึงมีบางคนเรียกชื่อว่า “ลางกอง” ก็เพราะเห็นว่าต้นเป็นลางสาด ลูกเป็นลองกองนี่เอง
ลองกอง เป็นผลไม้ที่ให้คุณค่าทางอาหาร คือเนื้อลองกอง 100 กรัม ให้พลังงาน 57 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 15.2 กรัม แคลเซียม 19 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.04 มิลลิกรัม วิตามินซี 3.0 มิลลิกรัม ไขมัน 0.2 กรัม โปรตีน 0.9 กรัม ไนอะซีน 1.0 มิลลิกรัม
สรรพคุณทางยา มีฤทธิ์เช่นเดียวกับลางสาด เมล็ดรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดไอได้ดี ใช้รักษาฝีในหู เปลือกต้น เปลือกผล เผาไฟไล่ยุงได้ มีกรดแลนเซี่ยม มีฤทธิ์ต่อสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเช่นกบ ทำให้หัวใจหยุดเต้น ยังไม่เคยฉีดเข้าตัวคน ก็คงมีผลบ้างไม่มากก็น้อย หรืออาจมีพิษทำให้เบื่อเมาได้ ส่วนใบอ่อนซึ่งมีความขมเล็กน้อย มีคนเอาไปเป็นผักแกล้ม ลาบ ยำ บอกว่าเพิ่มรสขมเหมือนน้ำเพี้ยหัวดีไม่มีผิด ถ้ากินได้หรือชอบกิน ก็เอาที่สบายใจก็แล้วกัน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก