ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | นิพนธ์ สุขสะอาด |
เผยแพร่ |
ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เน้นหนักภาคเกษตร ต้องผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตามความต้องการของตลาด ทั้งสินค้าเกษตร ประมง และปศุสัตว์ รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
คุณสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในจังหวัดระยอง โดยภาพรวมยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนในจังหวัด ที่มีประชากรตามทะเบียนและประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระยอง ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน ความต้องการสินค้าประเภทอาหาร ทั้งอาหารสดและอาหารแปรรูปที่เป็นสินค้าเกษตร ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทั้งสินค้าด้านพืช ปศุสัตว์ และสินค้าประมง ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการนำเข้ามาจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งข้าว พืชผัก ไข่ เนื้อ หมู และอื่นๆ ซึ่งกำลังการผลิตสินค้าเหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก ทั้งผู้บริโภคที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ และผู้บริโภคที่เข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว และรวมไปถึงโอกาสในการเข้ามาของนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆ เมื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เข้ามาในพื้นที่เต็มรูปแบบ จังหวัดระยองจึงต้องเร่งปรับแนวคิด ปรับทิศทางการพัฒนา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ให้ภาคการเกษตรได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการกระจายรายได้สู่ชุมชน และสู่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง และยั่งยืนมากขึ้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ซึ่งกำกับดูแลงานของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ปรับแผนยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ แผนงาน/โครงการเกี่ยวกับเรื่องอาหารปลอดภัยรองรับ EEC เพื่อให้ได้แผนงานที่ตอบโจทย์คือ ได้อาหารที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน และตามที่ผู้บริโภคต้องการ และมีปริมาณที่มากขึ้นเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคภายในจังหวัด และถ้าหากสามารถขยายกำลังการผลิตถึงขั้นการส่งออกไปจำหน่ายต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทาง การสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับภาคการเกษตรของจังหวัดระยอง ให้เข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น โดยจะต้องทำในเชิงบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เกษตรกร สื่อมวลชน ห้าง Modern trade องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายต่างๆ คาดว่าตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 จะเริ่มขยับและเริ่มเห็นผลโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
คุณนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดระยอง ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานหลักหน่วยหนึ่งในจังหวัดระยอง ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัย จังหวัดระยอง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้หยิบยกเอาเรื่องโครงการอาหารปลอดภัยขึ้นมา ประกาศเป็นวาระของจังหวัดระยอง เพื่อตอบโจทย์ในทุกมิติ ทั้งสุขภาวะ ท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่ง โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ได้ระดมความคิดจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้ยกร่างปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อร่วมกับหน่วยงานภาคี กำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญๆ 5 ด้าน ได้แก่ 1. การสนองงานโครงการพระราชดำริ 2. การพัฒนาการผลิตพืชสู่ความเป็นเลิศ 3. การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน 4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 5. การสร้างทักษะแก่บุคลากรภาครัฐให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้กำหนดเป็น กลยุทธ์และแนวทางการนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทุกโครงการ/ทุกกิจกรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทุกหน่วยงานจะได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการอันสำคัญนี้ของจังหวัดไปด้วยกันในลักษณะการบูรณาการที่แท้จริง
งานสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ การสนองงานโครงการพระราชดำริ การขยายผลศาสตร์พระราชา โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรนวัตกรรมและยุวเกษตรกร การขยายผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการพระราชดำริอื่นๆ การพัฒนาการผลิตพืชสู่ความเป็นเลิศ มุ่งเน้นการผลิตพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดระยอง ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ขนุน สับปะรด ที่ได้ทั้งเชิงปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล อาหารปลอดภัย อย่างน้อยจะต้องได้มาตรฐาน GAP, เกษตรอินทรีย์พีจีเอส (PGS : ชุมชนรับรอง) หรือเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) หรืออาหารแปรรูปที่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้น ยังจะมุ่งขยายผลไปสู่การผลิตพืชผักในโรงเรือนอัจฉริยะ และการส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจและมีอนาคตทางการตลาดที่สดใส เช่น ขนุน องุ่น อะโวกาโด เมล่อน สะละอินโด มะพร้าวผลอ่อน และพืชผักต่างๆ ฯลฯ การพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนามืออาชีพ และการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตพืชไร่ (สับปะรด มันสำปะหลัง) ให้เป็นพื้นที่การผลิตอาหารปลอดภัย ที่มีมูลค่าและผลตอบแทนที่สูงกว่า เป็นต้น โดยจังหวัดระยองจะต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการรณรงค์ส่งเสริมการผลิตพืชอาหารปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตที่จะต้องผลิตด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และต่อสังคมส่วนรวม หน่วยงานภาครัฐที่จะต้องให้การแนะนำ หนุนเสริมอย่างจริงจัง สถาบันการศึกษาจะต้องสนับสนุนทั้งข้อมูลผลงานการวิจัย เครื่องมืออุปกรณ์ คำแนะนำทางวิชาการ พ่อค้า นักธุรกิจ ที่จะต้องมีการซื้อขายอย่างเป็นธรรม ผู้บริโภคก็จะต้องมีความรอบรู้ในการเลือกซื้อสินค้าอาหารปลอดภัย ได้มาตรฐาน แม้ว่าราคาอาจจะสูงกว่าสินค้าทั่วไปสักเล็กน้อยก็ตาม ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าคุณภาพได้มีช่องทางการตลาดมากขึ้น รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่จะต้องช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง และผลิตสินค้าอาหารปลอดภัยเป็นอาชีพได้จริง และสามารถพัฒนาเชื่อมโยงไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรได้ด้วย
เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้จัดทำรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาการผลิตพืชอาหารปลอดภัย ผ่านความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดเสร็จเรียบร้อย จะได้นำสู่การปฏิบัติจริง โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและจะขอสนับสนุนงบประมาณทั้งจากส่วนกลาง งบจังหวัด กลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบ CSR จากภาคธุรกิจเอกชน และรัฐวิสาหกิจ และงบอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี โอกาสดีๆ เกิดขึ้นแล้วที่นี่ ระยองจะเป็นเมืองเกษตรคุณภาพ มุ่งสู่เกษตรสุขภาพในอนาคตอันใกล้