กระเช้าผีมด กระเป๋ารังมดป่าชายเลน เป็นกระเช้าโพรงร้อยรูมดเดิน เพลินคาคบไม้คล้ายกาฝาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnophytum formicarum Jack.

ชื่อสามัญ Ant plant

ชื่อวงศ์ RUBIACEAE

ชื่ออื่นๆ ปุ่มฟ้า หัวเสือ หัวร้อยรู (ปัตตานี-ทั่วไป) ปุ่มเป้า (ตราด) ดาลูบู-ตาลิมา (มลายู-ภาคใต้)

ผมเป็นหนุ่มชั้นสูง เพราะชอบอยู่ตามคาคบไม้ใหญ่ในป่าชายทะเล ไม่ค่อยได้เจอะเจอผู้คนมากนัก เพราะฟังชื่อผมแล้วใครๆ ไม่อยากเข้าใกล้ มีแต่กลุ่มมดดำที่มาติดพันและอยู่ในโพรงตัวผมเป็นรังสร้างทางเดินเชื่อมต่อตามรูพรุน ใครมาเห็นจึงเรียกผมว่า “หัวร้อยรู” แต่แปลกที่ชาวสุราษฎร์ธานี เรียกผมว่า “กระเช้าผีมด” ผมเองเคยได้ยินแต่คำว่า “กระเช้าสีดา” คงจะสวยน่ารัก สำหรับผมที่มีมดเข้ามาอยู่อย่างมีความสุข ทำไม๊…กลายเป็น “ผีมด” ไปด้ายยย

มีคำอธิบายสำหรับผม ว่าเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย ชอบเกาะต้นไม้ในป่าดิบชื้นใกล้ฝั่งทะเล

ลำต้นทรงกลม อวบน้ำ จุดเด่นที่เป็นกระเช้ารูพรุน ภายในเป็นโพรงมีช่องทะลุเชื่อมต่อเป็นที่อาศัยของมดดำ ส่วนที่เป็นรูพรุนนี้ใช้ทำยาได้ ขนาดโตเต็มที่เท่าลูกมะพร้าว สำหรับลำต้นจะสูงประมาณ 1-2 ฟุต ออกดอกเล็กๆ สีขาวตามซอกใบ เมื่อแตกกอ ก็แยกไปเพาะพันธุ์ได้ หรือเพาะเมล็ด ปลูกแขวนเป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

ชีวิตผมออกจะเปลี่ยวเปล่า เกาะกิ่งไม้ใหญ่ฟังเสียงคลื่นลมทะเล แม้จะมีมดดำเป็นเพื่อนสนิท บางครั้งคนมองเหมือน “กาฝาก” ที่อยู่คาคบไม้สูง แต่ผมภูมิใจมากที่มีคนเห็นความสำคัญ จัดผมอยู่ในสมุนไพร “พิกัดมหากาฬทั้ง 5” ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ถ่ายพยาธิ ขับชีพจร บำรุงหัวใจ แก้พิษในข้อกระดูกข้อเท้า ผิวหนังเป็นจ้ำ ช้ำบวม ประดง น้ำเหลืองเสีย เพราะมีสารออกฤทธิ์หลายชนิด รวมถึงเป็นยาสมุนไพร แก้ริดสีดวงทวารหนัก และแก้ท้องร่วงในสัตว์ด้วย

จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกรู้จักผมดี บางท้องถิ่นก็พยายามที่จะขยายพันธุ์ให้ผม ให้ชุมชนเพาะปลูกเป็นการค้าสร้างรายได้ไม้หายาก เพราะราคาซื้อขาย กิโลกรัมละกว่า 500 บาท อย่าคิดว่าแพงนะครับ ลองคิดดูถ้าผมอยู่ติดคาคบปลายกิ่งไม้สูงๆ ชายทะเล ใคร? จะปีนขึ้นไปตัด ผมต้องขอบคุณชาวอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ที่รักผมมาก เขาจึงตัดหัวร้อยรูขยายพันธุ์ โดยใช้เปลือกมะพร้าวแช่น้ำ แล้วทาบผมมัดไว้ที่ร่มสักเดือนให้ออกราก แล้วนำไปมัดติดไว้ (เหมือนกล้วยไม้) กับต้นไม้ป่าชายเลน ขยายพันธุ์สร้างทั้งรายได้และความสมบูรณ์ให้สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ ส่วนที่จังหวัดตราด เขาทำ “ชาหัวร้อยรู” โดยผ่าหัวพรุนๆ แช่น้ำไล่มดออกให้หมด ทำความสะอาด ผ่าชิ้นขูดเปลือกหั่นชิ้นบางๆ ตากแดดให้แห้งสนิทใส่ขวดปิดฝาเก็บไว้ได้เป็นปี ทำเป็นชาดื่มได้ โดยห่อผ้าขาวบางแช่ในน้ำเดือด หรือบรรจุซอง ชงเป็น “ชาชาวเล” ได้เลย

อ้อ! คำว่า Ant plant. ผมขออนุญาตเรียกเองว่า “โพรงมด” ไม่รู้ผิดหรือถูก แต่ภาษาอังกฤษเขียนชื่อผมว่า “Head of Dragon” เชียวนะ

อีกเรื่องที่อยากจะโม้…เขาว่ากันว่า “หัวร้อยรู” ถ้าใช้ร่วมกับ “กาฝาก” บางชนิด ผสมกันเป็นว่าน “เสน่ห์มหานิยมผสมวัตถุมงคล” รู้แล้วอุบไว้ อย่ามาตัดหมดป่านะ…ขอรับ