อ้น สัตว์เลี้ยงฟันแทะ ยังทำเงินอยู่ ตลาดไม่ตก

ที่ผ่านมาอดีตถึงปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงเล่นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสัตว์ป่า ที่นำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้มีพฤติกรรมอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์บก หรือสัตว์น้ำ ต่างก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธุ์หลายสิบปี

แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ “อ้น” สัตว์ฟันแทะ ถูกนำมาเลี้ยงโดย ผู้ใหญ่ณรงค์ จูมโสดา ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพราะถึงปัจจุบันเกือบ 10 ปีแล้ว ที่ “อ้น” กลายเป็นสัตว์เลี้ยงทำเงินให้กับผู้ใหญ่ณรงค์อยู่ตลอด

คุณวัลนา พันสาลี หรือ น้องจ๋า ลูกสาวของผู้ใหญ่ณรงค์ อุ้มอ้นตัวเขื่อง น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม มาอุ้มเล่นด้วยความคุ้นมือ แต่ก็ไม่ได้ให้ใครเข้าไปจับตัวอ้น เพราะไม่แน่ใจว่า อ้นจะคุ้นมือหรือไม่ เพราะหากไม่คุ้นมือ ก็อาจกัดผู้ที่ไปจับได้

“ตัวนี้อุ้มเล่นได้ เพราะคุ้นมือและเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก จริงๆ แล้ว อ้นไม่เหมาะที่จะนำมาอุ้มเล่น เพราะไม่ใช่สัตว์เลี้ยงตั้งแต่แรก และยังไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นสัตว์เลี้ยง อ้นเป็นสัตว์ป่า อาศัยอยู่ใต้ดินภายในป่า แต่มีชาวบ้านจับได้ 1 คู่ เมื่อปี 2552 แล้วนำมาให้พ่อเลี้ยง พ่อก็เลี้ยงไว้ พออ้นขยายพันธุ์ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จนมีคนมาเห็นต้องการนำไปเลี้ยง เพราะคิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเอ็กโซติกเพ็ทได้ จึงขอซื้อไป”

Advertisement

นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มขาย จนถึงปัจจุบัน ราคาอ้นก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

การจำหน่ายอ้น มี 3 ไซซ์ ราคาตามไซซ์ และขายเป็นคู่

Advertisement

อายุเดือนกว่า เริ่มกินอาหารเองได้ ขายคู่ละ 3,000 บาท

อายุเกือบ 1 ปี ขายคู่ละ 5,000-6,000 บาท

อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป หรือพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ขายคู่ละ 10,000 บาท

แท้จริงแล้ว ข้อมูลในเชิงวิชาการพบว่า อ้น หรือ หนูอ้น (อังกฤษ : Bamboo rat, Mole rat) เป็นสัตว์ฟันแทะจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในเผ่า Rhizomyini ในวงศ์ย่อย Rhizomyinae ในวงศ์ Spalacidae มีรูปร่างคล้ายหนูขนาดใหญ่ มีรูปร่างโดยรวม คือมีลักษณะลำตัวกลม อ้วน ป้อม ขนสีน้ำตาล ตาและหูเล็กมาก ขาและหางสั้นไม่มีขน ฟันแทะคู่หน้ามีขนาดใหญ่เห็นได้ชัด รูปร่างโดยรวมคล้ายกับหนูมีความน่ารักในหน้าตา ชอบอาศัยอยู่ใต้ดินหรือโพรงไม้

มีทั้งหมด 4 ชนิด มี 2 สกุล ที่พบในทวีปเอเชีย แถบภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนตอนใต้ ได้แก่

สกุล Rhizomys

อ้นใหญ่ (R. sumatrensis) เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุด โดยวัดความยาวจากหัวจนถึงปลายหางได้ 48 เซนติเมตร

อ้นกลาง (R. pruinosus) เป็นชนิดที่มีขนาดรองลงมา

อ้นเมืองจีน (R. sinensis) เป็นชนิดที่พบได้ในประเทศจีนตอนใต้

สกุล Cannomys

อ้นเล็ก (Cannomys badius) เป็นชนิดที่เล็กที่สุด มีความยาววัดจากปลายจมูกจนถึงหางประมาณ 15-26.5 เซนติเมตร

โดยอ้นที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด มักจะอาศัยขุดรูอยู่ในป่า โดยเฉพาะป่าไผ่ เพราะกินไผ่และหน่อไม้เป็นอาหารหลัก ส่วนอาหารอื่นๆ ได้แก่ ผลไม้ประเภทต่างๆ ที่หล่นตามพื้น ภายในรูมีทางยาวมากและแบ่งเป็นห้องได้หลายห้อง ใช้สำหรับเลี้ยงดูลูกอ่อนและเก็บอาหาร แต่จะขึ้นมาหากินบนพื้นดิน โดยปกติแล้วอ้นจะไม่กินน้ำโดยตรง แต่จะกินน้ำโดยผ่านจากการกัดแทะจากไม้ประเภทต่างๆ ที่กินเข้าไป อ้นจะผสมพันธุ์ในฤดูฝน ออกลูกครั้งละ 1-8 ตัว

อ้นในภาษาเหนือมักถูกเรียกว่า “ตุ่น” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน แต่เป็นสัตว์ที่อยู่คนละอันดับกัน ซึ่งอ้นทั้งหมดที่พบในประเทศไทยมีสถานะทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 แต่ก็เป็นที่นิยมกินของผู้คนที่อยู่ใกล้ป่าหรือสังคมในชนบท โดยเชื่อว่าเป็นยาบำรุงพละกำลัง

มาถึงบรรทัดนี้ นั่นหมายความว่า “อ้น” ยังคงเป็นสัตว์ฟันแทะ ที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 แต่ก็ยังถูกนำไปบริโภค และนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

การเลี้ยงดูอ้น คุณวัลนา เล่าว่า เป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยากใดๆ มีเพียงที่อยู่อาศัยและอาหารก็สามารถอยู่ได้ โดยที่อยู่อาศัยหากเป็นกรงปิดได้ ก็ควรมีความสูงประมาณ 1 เมตร เพราะอ้นเป็นสัตว์ 4 เท้าก็จริง แต่สามารถรั้งตัวขึ้นยืนเกาะผนังได้ และหากเป็นกรงที่เปิดด้านบนก็ควรปิดให้สนิท เพราะอ้นปีนออกมาได้เช่นกัน หรือหากใช้วงบ่อซีเมนต์ตั้งซ้อน 2 วงบ่อ เช่นเดียวกับที่เลี้ยงไว้ก็ได้ เพราะอ้นไม่สามารถปีนผิวซีเมนต์ขึ้นมาขอบบ่อได้ ส่วนวัสดุอุปกรณ์อื่นที่ใช้เลี้ยงอ้นนั้น ไม่จำเป็น

 

“เมื่อเราให้อาหารอ้น เช่น ไผ่ เปลือกแตงโม มันเทศ ข้าวโพด อ้อย การให้ทิ้งไว้จำนวนมากก็ทำได้ เพราะเป็นอาหารดิบ ไม่ได้ปรุงสุก จึงไม่เสีย เมื่ออ้นแทะอาหาร เศษอาหารเหล่านั้นจะหล่นที่พื้น และเมื่ออ้นถ่ายออกมา มูลของอ้นก็จะปนไปกับอาหาร ไม่มีกลิ่น และจะเป็นที่รองพื้นชั้นดีให้กับอ้นไปโดยอัตโนมัติ หากเราต้องการกำจัดทิ้ง ก็ตักออก นำไปใส่โคนต้นไม้เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ด้วย”

หากไม่อยู่บ้าน แล้วทิ้งให้อ้นอยู่ภายในที่อยู่อาศัยก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะอ้นต้องการเพียงอาหาร ส่วนน้ำ อ้นเป็นสัตว์ต้องการน้ำน้อย ใช้น้ำจากอาหารที่กินเข้าไปก็สามารถอยู่ได้

ในการผสมพันธุ์ อายุอ้นราว 1 ปี ก็สามารถผสมพันธุ์ได้ โดยควรนำเพศผู้ไปใส่ในที่อยู่อาศัยของเพศเมีย หากเพศเมียขู่ ให้นำออกมา เพราะหมายถึงเพศเมียไม่พร้อมสำหรับการผสม แต่หากเพศเมียไม่ขู่ก็ปล่อยให้อยู่ด้วยกัน จนกว่าจะได้ยินเสียงเพศเมียขู่ จึงนำเพศผู้ออก ไม่อย่างนั้นอาจกัดกันเพราะความไม่คุ้นชินจนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต

อ้นตั้งท้องเกือบ 60 วัน การคลอดและการเลี้ยงลูกอ้น จะปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ให้แม่อ้นคลอดเองและเลี้ยงลูกเอง เนื่องจากอ้นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อถึงวัยที่ลูกอ้นเริ่มกินอาหารเองได้ หรืออายุประมาณ 1 เดือน ก็สามารถแยกลูกอ้นออกจากแม่อ้นได้ เพื่อบำรุงแม่อ้นให้พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ครั้งใหม่

ด้วยพฤติกรรมของอ้นที่ชอบขุดดิน ดังนั้น พื้นที่อยู่อาศัยจะเป็นวัสดุใดก็ได้ แต่ไม่ควรเป็นดิน เพราะจะขุดดินจนออกมาด้านนอกและหายไป

ตลอดการเลี้ยงดูมาเกือบ 10 ปี คุณวัลนา เล่าว่า โรคในอ้นยังไม่พบ เท่าที่เห็นเป็นท้องเสียบ้างประปราย แต่ก็ไม่รุนแรง แต่ควรระวังไม่ให้ยุงหรือมดกัด โดยควรนำวัสดุปิดด้านบนป้องกันยุงและมดกัดอ้น เพราะจะทำให้ผิวหนังเป็นแผลจากยุงและมดกัดได้

การอาบน้ำ แม้ว่าธรรมชาติของสัตว์ป่าอาจจะไม่มีการอาบน้ำ แต่เมื่ออ้นถูกนำมาเลี้ยงเสมือนสัตว์เลี้ยง การอาบน้ำก็สามารถทำได้ในอ้นที่คุ้นมือ โดยผู้เลี้ยงเองอาบให้ หรือกรณีที่ไม่อาบน้ำ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดแล้วเช็ดไปทั่วตัว

ปัญหาโดยทั่วไปในการเลี้ยงอ้น คุณวัลนา บอกว่า ยังไม่พบ จะมีเพียงการดูแลเรื่องฟันแทะของอ้น ที่ยื่นยาวออกมามากเกินไป ทำให้อ้นกินอาหารไม่ได้ ต้องช่วยด้วยการนำคีมหรือที่ตัดเล็บสัตว์เลี้ยงมาตัดฟันที่ยื่นออกมาให้สั้นลงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คุณวัลนา และผู้ใหญ่ณรงค์ ยังคงเพาะขยายพันธุ์อ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งปีมีผู้สนใจมาติดต่อขอชมและซื้ออ้นไปเป็นสัตว์เลี้ยงตลอดทั้งปี

หากสนใจลองเข้าไปชมในเฟซบุ๊กของผู้ใหญ่ณรงค์ จูมโสดา ที่ facebook : ณรงค์ จูมโสดา หรือโทรศัพท์สอบถามเส้นทางมาชมตัวเป็นๆ ได้ที่ (085) 604-0080 ได้ตลอดเวลา

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2562