ชาวแม่ใจปลื้ม พบแหล่งฟักไข่เต่านาในพื้นที่หนองเล็งทราย เร่งประชาสัมพันธ์กันพื้นที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อการศึกษาเรียนรู้

เมื่อเร็วๆ นี้ นาวาอากาศเอก สุรชิต ดวงจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชน “ฮักหนองเล็งทราย” เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเกษตร อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พร้อมด้วย นายวิษรุต ปันสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านสันสลี (สัน-สะ-หลี) หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ได้พาผู้สื่อข่าวไปพิสูจน์แหล่งวางไข่ของเต่านา ซึ่งเป็นเต่าประจำถิ่นของหนองเล็งทราย ที่เกือบจะสูญหายไปแล้วไปจากพื้นที่

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ของเต่านา หรือ เต่าสามสัน (อังกฤษ: Snail-eating turtles) เป็นสกุลของสัตว์เลื้อยคลาน 2 ชนิด จำพวกเต่าที่อยู่ในสกุล Malayemys ในวงศ์ Bataguridae

เป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะเด่น คือ กระดองส่วนบนมีสันนูน 3 เส้น เห็นได้ชัดเจน อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ และมีขอบเรียบ ส่วนหัวมีขนาดใหญ่และมีลายเส้นสีเหลืองหรือสีขาว กระดองส่วนบนมีสีน้ำตาลและขอบสีครีม หรือสีเหลือง กระดองส่วนล่างมีสีเหลือง และแต้มสีดำบนแผ่นเกล็ด ขณะที่สีผิวทั่วไปเป็นสีน้ำตาลเทาหรือดำ บริเวณส่วนหน้าและจมูกมีลายเส้นขีดสีขาว

เป็นเต่าที่พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแหล่งน้ำของภูมิภาคอินโดจีน และแหลมมลายู พบเห็นได้ทั่วไปทั้งนาข้าว, สวนสาธารณะ หรือท้องร่องสวนผลไม้ พื้นที่การเกษตรทั่วไป เป็นเต่าที่กินหอยเป็นอาหารหลัก ทั้งหอยฝาเดียวและหอยสองฝา โดยใช้ริมฝีปากขบกัดเปลือกหอยให้แตก แล้วใช้เล็บจิกเนื้อหอยออกมากิน และยังกินสัตว์น้ำอย่างอื่นได้ด้วย

เดิมทีเต่านาถูกจำแนกไว้เพียงชนิดเดียว แต่ต่อมาได้มีการศึกษาเพิ่มขึ้นโดยนักวิชาการชาวตะวันตก เมื่อปี ค.ศ. 2004 พบว่าแท้จริงแล้วมี 2 ชนิด โดยมีลักษณะแตกต่างกันทางกายวิภาคบางประการ และถิ่นที่แพร่กระจายพันธุ์ คือ

Advertisement
  1. 1. Malayemys macrocephalaพบกระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคกลางภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย ไปจนถึงตอนเหนือของมาเลเซีย
  2. 2. Malayemys subtrijugaพบกระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย และลุ่มแม่น้ำโขง มาในปี ค.ศ. 2016 ได้มีการจำแนกออกไปอีกเป็นMalayemys khoratensis ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นชนิดเดียวกับ Malayemys isan ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่ในรหัสสากลการระบุพันธุ์สัตววิทยา (ICZN Code)

พื้นที่ที่พบแหล่งวางไข่เต่านา คือหนองเล็งทราย ของอำเภอแม่ใจ เป็นพื้นที่เพื่อกันไว้เพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ กินพื้นที่กว่า 300 ไร่ โดยเต่านาจะเลือกพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ห่างจากชายน้ำไปประมาณ 25-50 เมตร แต่ละหลุมจะอยู่ในที่น้ำท่วมไม่ถึงและมีพุ่มไม้ไว้พรางหลุม เหลือเพียงรูเล็กๆ ขนาดฝาขวดน้ำอัดลมไว้ เพื่อให้ลูกเต่าเดินออกจากหลุมไปสู่หนองเล็งทราย

Advertisement

จากการเดินสุ่มสำรวจ ระยะทางประมาณ 500 เมตร ห่างจากชายน้ำประมาณ 25-30 เมตร ในเบื้องต้นพบไข่เต่านา จำนวน 3 หลุม หลุมละ 3-5 ฟอง หลุมเปล่าซึ่งสันนิษฐานว่าฟักเป็นตัวแล้ว หรืออาจจะถูกหนูขโมยไปกินอีก 4-5 หลุม และมีร่องรองของการขุดเพื่อจะขึ้นมาไข่อีก 3 หลุม

นาวาอากาศเอก สุรชิต เปิดเผยว่า นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นดีใจที่พบว่า พื้นที่หนองเล็งทราย ในช่วงของบ้านสันสลี เป็นแหล่งวางไข่ของเต่านา เต่าประจำถิ่นซึ่งแทบจะหาดูไม่ได้แล้วในหนองเล็งทรายแห่งนี้ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เต่านาวางไข่ หลังจากที่วางไข่เสร็จแล้วก็จะทิ้งไข่ไว้ ไม่กลับมาอีก

ส่วนลูกเต่าเมื่อออกจากไข่ก็จะคลานลงหนองเล็งทรายเองตามสัญชาติญาณ ซึ่งในเบื้องต้นได้ประกาศประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ได้ช่วยกันดูและรักษา เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และจะรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของป่าไคร้ 1,000 ปี และสระบัวหลวง 1,000 ไร่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป ผู้สนใจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พายเรือผจญภัย และเรียนรู้ ป่าไคร้พันปี สวนบัวพันไร่ และเที่ยวชมแหล่งวางไข่เต่านาที่บ้านสันสลี ติดต่อได้ที่ นาวาอากาศเอก สุรชิต ดวงจันทร์ (ผู้พันต๋อง) ได้ที่เบอร์โทร. (089) 205-1391 แล้วจะไม่ผิดหวัง