ที่มา | คิดเป็นเทคโนฯ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค22 |
เผยแพร่ |
เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) จึงมุ่งพัฒนางานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และจัดตั้งหน่วยงานหลักทำหน้าที่วิจัยข้าวอย่างครบวงจร เพื่อเป็นฐานของการพัฒนาข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
“ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว” ที่นำจีโนมเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ค้นหายีนและปรับปรุงพันธุ์ข้าว “ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งนวัตกรรมข้าว” ทำหน้าที่เชื่อมโยงงานวิจัยพันธุ์ข้าวไปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรมข้าว นับตั้งแต่ ปี 2550 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมมือกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ศึกษาพัฒนานวัตกรรมงานวิจัยเพื่อสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีความเข้มแข็ง มีคุณค่าโภชนาการสูง ทนทานกับสภาพอากาศร้อน แล้ง และน้ำท่วม ของประเทศไทย
เทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าว
“ข้าวไรซ์เบอร์รี่” เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยด้านข้าวที่มีชื่อเสียงโดดเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ชื่อ “โครงการบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูง : ข้าวไรซ์เบอร์รี่” เป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมถึงส่งเสริมการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมข้าวให้เติบโตยิ่งขึ้น
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจากข้าวเจ้าหอมนิล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 สถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) มีการผสมทั้งหมด 7 รุ่น มีหน่วยงานให้ความร่วมมือทั้งปรับปรุงพันธุ์วิเคราะห์คุณค่าทางอาหารและอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์-ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้เป็นข้าวสีม่วง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีปริมาณธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวหอมนิล และให้ผลผลิตดี มีปริมาณสาร B-carotene สูงถึง 25 ug/100g และมีวิตามินอี 680 ug/100g อีกทั้งมีอัตราการยับยั้งอนุมูลอิสระสูงกว่าน้ำองุ่นสีม่วง และน้ำส้มถึง 100% ปัจจุบันข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้จดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560
ทุกวันนี้ ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นความหวังของเกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์ สร้างกำไรได้สูงกว่าการปลูกข้าวหอมมะลิ ในด้านอุตสาหกรรมอาหารเชิงโภชนาการและเวชสำอาง การแปรรูปอาหารที่มีข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นส่วนผสม นอกจากเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ส่วนผสมจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังช่วยเพิ่มเอกลักษณ์ในด้านกลิ่น สี และรสสัมผัสให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี นับว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นข้าวที่สร้างผลกระทบได้ครอบคลุมทั้งในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง วช. จึงมีมติให้ผลงานและนวัตกรรมเรื่องนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น 60 ปี วช. ในมิติการใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาสังคม
ศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์
ข้าวพันธุ์พิเศษเพื่อเกษตรอินทรีย์
การรักษาความบริสุทธิ์ของข้าวพันธุ์พิเศษมีความสำคัญยิ่งต่อการแสดงคุณสมบัติพิเศษอย่างสมบูรณ์ ยิ่งการควบคุมการผลิตข้าวพันธุ์พิเศษเหล่านี้ในระบบเกษตรอินทรีย์ จำเป็นต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์อีกด้วยเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริโภคข้าวพันธุ์พิเศษเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสินเหล็ก และพันธุ์อื่นๆ จากงานวิจัย เช่น ข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตร 1 ในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
ข้าวสินเหล็ก
ข้าวสินเหล็ก ได้จากผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวสีขาวที่มีกลิ่นหอม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความต้านทานต่อโรคไหม้ ข้าวสินเหล็กมีข้าวกล้องที่หอมนุ่ม มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง เมื่อนำมาทดลองบริโภคในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานในระยะยาว พบว่าช่วยแก้ปัญหาเบาหวานและ HYPERGLYCEMIA และ INSULIN TOLERANCE ทำให้สภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง และการทำงานของตับอ่อนดีขึ้น รวมทั้งทำให้ค่าเฉลี่ยของไตรกลีเซอไรด์ลดลง นอกจากนี้ ข้าวสินเหล็ก ยังมีธาตุเหล็กในเมล็ดสูง ข้าวพันธุ์นี้ได้ผ่านการประเมินคุณสมบัติความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล็ก ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในมนุษย์ และพบว่าการส่งเสริมการบริโภคข้าวสินเหล็กในเด็กนักเรียนที่มีภาวะพร่องธาตุเหล็กทำให้ระดับธาตุเหล็กในฮีโมโกลบินอยู่ในเม็ดเลือดแดงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ข้าวหอมมะลิ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ ที่ถูกออกแบบให้ทนทานต่อน้ำท่วม เกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์นี้ไม่ต้องกลัวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ และขอบใบแห้งอีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนา “ข้าว กข 51 หรือ หอมมะลิ 80” (ทุน สวทช.) ที่ทนน้ำท่วมฉับพลัน และมีข้าว “หอมมะลิ 84” ที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุ์กรรม (NON-GMO TECHNOLOGY) แถมมียีนต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้คอรวง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนน้ำท่วมฉับพลันและคุณภาพหุงต้ม
ส่วนข้าว “หอมมะลิ 84” พันธุ์ใหม่ (ทุน สวก.)ยังคงให้ผลผลิต และคุณภาพหุ้งต้มไม่แตกต่างจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่ข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตที่มากกว่า เมื่อต้องเผชิญกับสภาพโรค-แมลง หรือน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งในสถานการณ์เดียวกันนี้ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จะไม่สามารถให้ผลผลิตได้
ข้าวปิ่นเกษตร 1 ข้าวหอมนุ่ม
เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมเวียดนามในตลาดโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องมีข้าวหอมนุ่มขายในราคาที่แข่งขันได้กับข้าวหอมเวียดนาม สำหรับข้าวปิ่นเกษตร 1 เป็นข้าวขาวไม่ไวแสง มีกลิ่นหอม นุ่มเหนียว ข้าวกล้องมีความนุ่มนวล มีเมล็ดเรียวยาว ใสมาก มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวสูง (ทุน สวพ. มก.) ธาตุเหล็กในเมล็ดข้าวพันธุ์นี้มีความเป็นประโยชน์สูงมากทั้งในระดับเซลล์ทดสอบและในร่างกายมนุษย์จริง
ข้าวปิ่นเกษตร 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 จากการประกวดข้าวโลก (2 ND WORLD RICE COMPETITION) ในปี 2547 จากลักษณะเมล็ดข้าวกล้องที่เรียวยาว 82 มิลลิเมตร ข้าวขัด 76 มิลลิเมตร ข้าวปิ่นเกษตร 1 เป็นข้าวหอมไม่ไวแสงที่ให้ผลผลิตสูงในเขตนาชลประทาน และในระบบเกษตรอินทรีย์ในระบบการปลูกข้าวแบบ GAP ข้าวปิ่นเกษตร1 ให้ผลผลิต 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ มีต้นเตี้ย ไม่หักล้ม ข้าวปิ่นเกษตร 1 เป็นต้นแบบของข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตร 4 ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำและต้านทานโรค-แมลง น้ำท่วมฉับพลัน
ข้าวปิ่นเกษตร +4
มีลักษณะเด่นคือ มียีนต้านทานโรค-แมลง ทนน้ำท่วม และได้คุณภาพหุงต้ม ให้ผลผลิตสูงกว่า 1 ตัน ต่อไร่ (ทุน สวก.) มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ผลการทดสอบในอาสาสมัครที่บริโภคข้าวชนิดนี้ ต่างมีสุขภาพดี-ดีมาก เพราะมีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า ข้าวบัสมาติที่ผลิตจากประเทศอินเดีย และข้าว Doongara ของออสเตรเลีย ช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวหอมดัชนีน้ำตาลต่ำ ที่มีต้นทุนต่ำ สำหรับที่ผู้ต้องการลดความเสี่ยงผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งการผลิตสินค้าแปรรูปที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ Gluten-Free ช่วยสร้างขีดความสามารถของสินค้าไทยสู่ตลาดโลกได้
โมเดลข้าวกำแพงแสน
นับจากปี 2557 เป็นต้นมา วช. ได้สนับสนุนการขยายผลเชิงพื้นที่โครงการต้นแบบการพัฒนาชาวนาและการผลิตข้าวไทยครบวงจรสู่ความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (โมเดลข้าวกำแพงแสน) สู่ชุมชน 9 บวร โดยสนับสนุนการจัดการความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวปิ่นเกษตรและพืชหลังนาสู่ 5 จังหวัด โดยใช้ตลาดนำการผลิตทำน้อยได้มาก
ดร. สาคร ชินวงค์ และ นายเพิ่ม สุรักษา (โทร. 081-856-4162, 089-456-7836) คณะนักวิจัยของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกข้าวปิ่นเกษตร การสร้างเครือข่ายการตลาดข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิต ในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ นครปฐม อุทัยธานี ราชบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ 2,300 ไร่ ปลูกถั่วเขียวหลังนา 1,000 ไร่ และอาชีพเสริม เช่น ปลูกพืชผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ ฯลฯ การแปรรูปผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ตลาดนำการผลิต จำหน่ายสินค้าผ่านหน่วยงานภาครัฐ เอกชน โรงสี โรงพยาบาล โรงแรม ตลาดในและนอกชุมชน เป็นต้น
กิจกรรมดังกล่าว ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ออกขายได้ 46 ตัน มูลค่า 920,000 บาท ข้าวเปลือก ประมาณ 2,000 ตัน มูลค่า 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีรายได้จากการปลูกถั่วเขียวหลังฤดูทำนา และปลูกพืชคู่นา ปัจจุบัน ตลาดมีความต้องการบริโภคข้าวปิ่นเกษตรเพิ่มขึ้นและมีเกษตรกรสนใจขยายพื้นที่ปลูกข้าวปิ่นเกษตรอีกมากกว่า 1,500 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดเดิมและกลุ่มจังหวัดสงขลา พัทลุง และนราธิวาส