โรคใบด่างระบาดหนัก เกษตรกรโคราชหันปลูก ‘ข้าวไร่’ แทนมันสำปะหลัง ได้ผลเกินคาด

เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังส่วนหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา หันไปปลูกข้าวไร่แทนการปลูกมันสำปะหลัง หลังช่วงนี้เกิดโรคใบด่างและโรคศัตรูพืชหลายชนิดระบาดในแปลงมันสำปะหลัง ประกอบกับราคาที่ไม่แน่นอน จึงตัดสินใจหันมาปลูกข้าวไว้กินเองภายในครอบครัว เนื่องจากปีนี้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัยในหลายพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อนาข้าวเป็นบริเวณกว้าง ทำให้มีความกังวลใจว่าราคาข้าวในปีนี้จะสูง จึงปรับแปลงแปลงมันฯ เป็นแปลงข้าว ซึ่งขณะนี้กำลังให้ผลผลิตที่ดีมาก

นายสนิท กื๋อกระโทก อายุ 60 ปี เกษตรกรบ้านหนองโค ต.ตะแบกบาน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา หนึ่งในเกษตรกรไม่กี่รายที่ทดลองปลูกข้าวไร่ เพื่อหวังจะนำมาบริโภคในครัวเรือน แทนการซื้อข้าวสารจากตลาดมารับประทาน กล่าวว่า เดิมทีปลูกมันสำปะหลังไว้เต็มพื้นที่กว่า 20 ไร่ แต่มาช่วงหลังมันสำปะหลังมีปัญหาเรื่องของราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงหันมาปลูกพืชชนิดอื่นเสริม อาทิ ถั่วลิสง และข้าวโพด เป็นต้น

และมาในปีนี้ มันสำปะหลังเกิดการระบาดของโรคใบด่างอีก กับเกิดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ในหลายพื้นที่ภาคอีสาน จึงตัดสินใจแบ่งเนื้อที่ 2 ไร่ มาทดลองปลูกข้าวไร่ เพื่อเก็บไว้กินเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายเพราะเกรงว่าราคาข้าวจะสูง ถือเป็นการทดลองปลูกในปีแรก ได้พันธุ์ข้าวมาจากเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้านที่เคยปลูกมาก่อน เป็นพันธุ์ “ข้าวหอมมะลิแม้ว” ประมาณ 10 กิโลกรัมเศษ หยอดเป็นหลุมสลับฟันปลา ห่างกันประมาณ 40 – 45 เซนติเมตร ให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด ผ่านมาประมาณ 3 เดือนเศษ ข้าวก็ตั้งท้องออกรวงสวยงามอย่างที่เห็น ซึ่งใช้ต้นทุนไม่ถึง 10,000 บาท

นายสนิท กล่าวอีกว่า ในปีแรกผลผลิตที่ได้ ถือว่าน่าพอใจอย่างมาก ซึ่งต้องเจอปัญหาเรื่องหนอนกอ บ้าง เพราะปลูกไว้กินเองจึงไม่ได้ใช้สารเคมี แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี คาดว่าน่าจะได้ข้าวเปลือกไม่น้อยกว่า 2 ตัน เพียงพอสำหรับบริโภคในครัวเรือนไปอีกหลายปี และหากว่า ข้าวพันธุ์นี้เป็นที่นิยมสามารถจำหน่ายได้ ก็จะเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อจำหน่ายบางส่วน เพราะโดยส่วนตัวมองว่า เป็นพืชที่ปลูกและดูแลค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีก็ได้ และการปลูกข้าวไร่ด้วยระบบน้ำหยด ก็ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาปกติ ซึ่งให้ผลผลิตดีไม่แพ้กัน

Advertisement