“ขี้เลื่อย” หายาก จะใช้อะไรเป็นวัสดุเพาะเห็ดดี? มีสูตรยังไงบ้าง?

“ขี้เลื่อยไม้ยางพารา” เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้เพาะเห็ด ทั้งนี้ การเลือกใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่า ไม่ใช่ขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่มาจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เพราะขี้เลื่อยประเภทนี้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ นำมาใช้ในการเพาะเห็ดไม่ได้  หากนำขี้เลื่อยประเภทนี้มาทำก้อนเชื้อเห็ดหยอดเชื้อลงไปแล้วเชื้อไม่เดิน เพราะไม้ยางพาราจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะผ่านการอบยาฆ่าเชื้อรามาแล้ว หากนำมาใช้เพาะเห็ด  เชื้อเห็ดก็จะไม่เดินอย่างแน่นอน เพราะเชื้อเห็ดก็เป็นเชื้อราประเภทหนึ่งนั่นเอง

บางคนอยากเพาะเห็ดถุงเป็นอาชีพรอง หรือบริโภคภายในครัวเรือน แต่ “ขี้เลื่อย” ก็ไม่ได้หากันง่ายๆ แล้วจะมีวัสดุอะไรทดแทนได้บ้าง

เห็ดที่เพาะในถุงได้ดี มีหลายสายพันธุ์ ตัวอย่าง เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดกระด้าง และเห็ดยานางิ เป็นตัวอย่าง

ทั้งนี้ วัสดุเพาะที่นำมาทดแทนขี้เลื่อยได้ คือ ฟางสับ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยไว้ มีอยู่หลายสูตร ในที่นี้ขอนำมาเป็นตัวอย่างเพียง 2 สูตร เท่านั้น

สูตรที่ 1 ชนิดวัสดุ นํ้าหนัก (กิโลกรัม) ฟางสับ ยาว 4-6 นิ้ว 100 ขี้วัวแห้ง 25 ปุ๋ยยูเรีย 1 รำละเอียด 5 นํ้าสะอาด ตามความเหมาะสม นำวัสดุทั้งหมด ยกเว้นรำละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากัน ราดนํ้าพอชุ่ม กองเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบสันเขา ทิ้งไว้ 15 วัน และต้องกลับกองทุกๆ 3-4 วัน เมื่อครบตามกำหนด หว่านทับด้วยรำละเอียด และคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมนํ้ารักษาความชื้นที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบโดย กำวัสดุเพาะ แล้วแบมือออก ถ้ารักษารูปร่าง รอยมือไว้ได้ โอเคเลย หมักไว้อีก 1 คืน ก่อนบรรจุลงถุง เข้าอบไอร้อนได้

สูตรที่ 2 ชนิดวัสดุ นํ้าหนัก (กิโลกรัม) ฟางสับ ยาว 2-3 นิ้ว 100 รำละเอียด 2 แคลเซียมคาร์บอเนต 5-8 (หินปูน) นํ้าสะอาด อย่างพอเพียง ผสมกัน หมักไว้ 8-10 วัน กลับกองปุ๋ยทุกๆ 2 วัน ก่อนนำไปอบไอนํ้า