ฟางข้าว หัวเชื้อปุ๋ยชั้นดี ฟางข้าว 1 ส่วน เท่ากับ มูลวัว 10 ส่วน ช่วยลดต้นทุน มีสูตรทำตามได้ไม่ยาก

นวัตกรรมชุมชน ของนักศึกษารายวิชาเลือกเสรี “นวัตกรรมเพื่อชุมชน” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ด้วยการบูรณาการเรียนการสอน ประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมสู่ชุมชน ซึ่งห้องเรียนในครั้งนี้ ได้แก่ ชุมชนบ้านแสนสุขสกัดห้า หมู่ที่ 5 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า การเรียนการสอนโดยใช้ห้องเรียนชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่างๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ ความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษามาพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน นอกจากนั้น นักศึกษาได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่างๆ ปลายทางได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม เพราะฉะนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมาคือ วิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน โดยมีหน่วยกิตเรียนทั้งหมด 3 หน่วยกิต เรียนในห้องเรียน 20% และอีก 80% ลงชุมชน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของชุมชน โดยได้เปิดทำการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก โดยคณาจารย์ที่มาสอน เป็นคณาจารย์ที่ลงพื้นที่ในการบริการวิชาชุมชน เป็นทีมทำงานจิตอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทน ช่วยด้วยความตั้งใจ

ทำงานเป็นทีม

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้นตามความต้องการของชุมชน โดยใช้กระบวนการ “ความคิดเชิงนวัตกรรม” คือ นักศึกษาต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปสู่นวัตกรรม ตามความต้องการของชุมชน โดยนักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือทำ ถูกฝึกในการหาข้อมูลโดยใช้กระบวนการ เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์ข้อมูล ในรูปของแผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน โครงสร้างองค์กรของชุมชน และประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นต้น โดยผ่านกลไกในการทำงานเป็นทีม นำข้อมูลมาบูรณาการด้วยการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ศึกษาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน กับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน กลายเป็น “โมเดลต้นแบบของนวัตกรรม” ปัจจัยความสำเร็จของการเรียนวิชานี้ ไม่ได้ดูที่ผลคะแนน หรือความพึงพอใจของตัวผู้เรียน แต่ดูที่เมื่อนำเสนอร่างของนวัตกรรม ชุมชนพึงพอใจ นำไปต่อยอด นั้นคือความสำเร็จ

นางสาวหทัยนุช วงษ์ขำ

ตัวแทนกลุ่ม “ปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าว” นางสาวหทัยนุช วงษ์ขำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการผลิตพืช เล่าว่า ชุมชนมีการทำนา หลังจากทำนามีฟางข้าว โดยชาวนาจะเผาทิ้ง สร้างมลพิษ ทำให้โลกร้อน โดยจากการศึกษาพบว่า ฟางข้าวเป็นหัวเชื้อปุ๋ยชั้นดี ฟางข้าว 1 ส่วน เท่ากับ มูลวัว 10 ส่วน ทางกลุ่มจึงได้คิดค้นสูตรปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวขึ้นมา สามารถนำมาใช้กับพืชผลทางการเกษตร ลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย ซึ่งสูตรปุ๋ยเป็นสูตรที่เคยเรียนในวิชาเรียน ขั้นตอนในการทำปุ๋ย คือ นำฟางข้าวและมูลสัตว์มาวางสลับชั้นกัน ความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำที่ผสมจุลินทรีย์ช่วยการย่อย รดทุกวัน หากพื้นที่ชื้นและร่มสามารถรดน้ำสัปดาห์ละครั้ง คลุมด้วยพลาสติกทึบ เมื่อปุ๋ยย่อยจนละเอียดนำไปตากแดดฆ่าเชื้อ 1-2 วัน นำมาอัดขึ้นรูปอัดเม็ดและบรรจุภัณฑ์เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เก็บรักษาได้ง่าย ต่อยอดนำปุ๋ยอัดเม็ดจากฟางข้าวไปจัดจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป