เผยแพร่ |
---|
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ปลานิลในบ่อดิน ภายใต้โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล กรมประมง ณ 26 พฤศจิกายน 2562) พบว่า มีแปลงใหญ่ปลานิลในบ่อดินทั้งสิ้น 32 แปลง ครอบคลุม 21 จังหวัด รวมพื้นที่ 23,152 ไร่ จำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 2,204 ราย โดย สศก. ได้ทำการศึกษาศักยภาพการผลิตและการตลาดสินค้าปลานิล ในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อศึกษาต้นทุน ผลตอบแทนการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต และช่องทางตลาดของเกษตรกรเปรียบเทียบทั้งในและนอกพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า
เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิต 34,139.67 บาท ต่อไร่ ต่อรุ่น ผลผลิต 1,192.07 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 42.19 บาท ต่อกิโลกรัม ให้ผลตอบแทน 50,293.43 บาท ต่อไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 16,153.76 บาท ต่อไร่ หรือ 13.55 บาท ต่อกิโลกรัม
ในขณะที่เกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่ จะมีต้นทุนการผลิต 42,079.63 บาท ต่อไร่ ต่อรุ่น ผลผลิต 1,345.43 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 41.53 บาท ต่อกิโลกรัม ให้ผลตอบแทน 55,875.71 บาท ต่อไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 13,796.08 บาท ต่อไร่ หรือ 10.25 บาท ต่อกิโลกรัม
เปรียบเทียบต้นทุนการผลิต ผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ กับนอกพื้นที่แปลงใหญ่
รายการ | พื้นที่แปลงใหญ่ | นอกพื้นที่แปลงใหญ่ |
ต้นทุน (บาท ต่อไร่ ต่อรุ่น) | 34,139.67 | 42,079.63 |
ผลผลิต (กิโลกรัม ต่อไร่) | 1,192.07 | 1,345.43 |
ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ฟาร์ม (บาท ต่อกิโลกรัม) | 42.19 | 41.53 |
ผลตอบแทน (บาท ต่อไร่) | 50,293.43 | 55,875.71 |
ผลตอบแทนสุทธิ (บาท ต่อไร่) | 16,153.76 | 13,796.08 |
ผลตอบแทนสุทธิ (บาท ต่อกิโลกรัม) | 13.55 | 10.25 |
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จะเห็นได้ว่า ปลานิลที่ผลิตในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และมีผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าเกษตรกรนอกพื้นที่โครงการ จำนวน 2,357.68 บาท ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่โครงการ ยังขาดการจัดสรรปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม เช่น ยังมีการปล่อยลูกพันธุ์น้อยกว่าอัตราปล่อยลูกพันธุ์ที่กรมประมงแนะนำ คือ 5,000-8,000 ตัว ต่อไร่ และมีการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรมีความสูญเปล่าจากการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มากเกินไป ดังนั้น เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่โครงการควรเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงให้เหมาะสม คือ อัตราการปล่อยลูกพันธุ์และปริมาณอาหารเม็ดสำเร็จรูปตามคำแนะนำจากกรมประมง และส่งเสริมกิจกรรมทางด้านการตลาดที่สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อนำไปสู่การแปรรูป และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ท่านที่สนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์และประมง สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. (02) 561-3448 ในวันและเวลาราชการ