วว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ส่งเสริมพัฒนางานวิจัย บริษัทน้ำตาลขอนแก่นฯ

วว.mou_ บ.น้ำตาลขอนแก่น

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายจำรูญ ชินธรรมนิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” มีกรอบระยะเวลา 3 ปี โอกาสนี้ ดร. อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน ของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและประชุมหารือเพื่อหาแนวทางด้านงานวิจัยร่วมกันในอนาคต

ทั้งนี้ KSL ดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย และอีก 2 แห่งในประเทศลาว และกัมพูชา บริษัทสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ตามแนวคิดการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอ้อยให้ได้มากที่สุดควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ วว. ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น จากการขยายตัวของประชากรโลกและปัญหาการจัดการขยะ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุม กวท. อาคาร RD1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

ความร่วมมือของ วว. และ KSL ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องที่ทั้งสองหน่วยงานได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรเครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรในการพัฒนาด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและอาหาร จากวัตถุดิบและของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำตาลและแอลกอฮอล์ (เอทานอล) ที่จะเป็นต้นแบบให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (zero waste) โดยการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากน้ำตาลเพื่ออาหารสุขภาพ และนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาใช้ในการผลิตสารเคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงและความเข้มแข็งของการพัฒนางานวิจัยร่วมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน