เกษตร ที่เนปาล เมืองในอ้อมกอดหิมาลัย (ตอนที่ 1)

เนื้อหาที่จะเขียนลงใน “เกษตรต่างแดน” ฉบับนี้ เป็นการเก็บเกี่ยวจากการเดินทางครั้งแรก ประสบการณ์แรกที่พบเจอในประเทศเนปาล และความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้สัมผัส อาจไม่ตรงตามความรู้สึกของผู้อ่านบางท่าน ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ท่าอากาศยานนานาชาติตริภูวัน เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เป็นสนามบินแห่งเดียวของประเทศเนปาล แม้จะเป็นสนามบินเพียงแห่งเดียว แต่พื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวและผู้คนที่เดินทางเข้าออกประเทศก็ไม่ได้มาก เปรียบเทียบขนาดเห็นจะไม่ต่างจากสนามบินที่จังหวัดน่านบ้านเรา

เดินเข้าออกสนามบินมีการตรวจตราเช่นเดียวกับสนามบินทุกแห่ง แต่ความเข้มงวดค่อนข้างน้อย เพราะคนมีจำนวนมากเกินเจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวก แต่ก็ไม่เกิดปัญหา เพราะมี “รอยยิ้ม” สร้างมิตร และน้ำใจที่พร้อมจะถอยก้าวให้อีกฝ่าย

ใช้เวลาบินประมาณ 3.30 ชั่วโมง จากประเทศไทย แต่การไปครั้งนี้กว่าเครื่องจะลงจอดอย่างเป็นทางการ ใช้เวลาเกินไปราว 50 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่พอทราบข้อมูลมาก่อนหน้านี้แล้วว่า สนามบินแห่งนี้มีพื้นที่น้อย การจราจรและพื้นที่จอดคับคั่ง เวลาที่เพิ่มขึ้นมาแบบไม่ต้องการจึงยอมรับได้

เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ คือ Australian Base Camp (ออสเตรเลียน เบส แคมป์) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโพคารา เป็นเส้นทางเดินขึ้นเขา ระดับความสูงราว 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร เพื่อไปยังลานกว้าง และมีนกหลายชนิดอพยพหรือบินผ่านบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะเหยี่ยว อินทรี และแร้ง ที่นักดูนกนิยมเดินทางเพื่อเก็บภาพนกหายากบริเวณนี้

เราเดินทางโดยรถบัสโดยสารเหมาคัน บรรทุกผู้โดยสารทั้งหมด 16 ชีวิต จากเมืองกาฐมาณฑุมุ่งหน้าเมืองโพคารา ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 7 ชั่วโมง เพราะเส้นทางคดเคี้ยว ชัน แคบ มีการก่อสร้าง 70 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทาง รถใหญ่ใช้บรรทุกและโดยสารค่อนข้างมาก และตลอดทางวิ่งติดสันเขาด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นทางลาดชันลึกลงไปจรดแนวแม่น้ำ

วันแรกของการเดินทางจากประเทศไทย มุ่งหน้าเมืองโพคารา ประเทศเนปาล จึงหมดลงอย่างรวดเร็ว

ที่เมืองโพคารา ราว 20.30 น. ก็ถือว่าดึกแล้วสำหรับเมืองท่องเที่ยวเช่นนี้ จะเหลือเพียงร้านรวงย่านช็อปปิ้งที่มีความคล้ายถนนข้าวสาร และยังคงเปิดรอสำหรับนักดื่ม แต่ก็ไม่เกิน 22.00-22.30 น. พนักงานแจ้งปิดครัว งดเสิร์ฟ ต้องเช็คบิลออกจากร้านโดยปริยาย สินค้าขายดี น่าจะเป็นกระเป๋าผ้าปัก สร้อยข้อมือหินสี จี้และสร้อยหินสี หรือสัญลักษณ์ของเนปาลและทิเบต ผ้าปักประดับตกแต่งหลายขนาด ผ้าพันคอ ของตกแต่งบ้าน และเสื้อยืดสกรีนสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นเนปาล หากถามความเห็น คงต้องบอกว่า ย่านนี้ราคาสินค้าถูกกว่าย่านช็อปปิ้งในเมืองกาฐมาณฑุ หรือที่เรียกว่า ทาเมล (Thamel)

สมาชิก 16 ชีวิต ของทริปนี้

จากตัวเมืองโพคารา นั่งรถบัสไปยังหมู่บ้าน khande ราว 45 นาที เพื่อเดินขึ้นเขา ตามภาษาของนักเดินทางขึ้นเขา เรียกว่า เทรกกิ้ง (Trekking) ด้วยความชันของเขาผนวกกับระยะทางราว 2.6 กิโลเมตร ทำให้ใช้เวลาเดินเท้าโดยเฉลี่ย 1-1.30 ชั่วโมง ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ในการเดินเทรกกิ้งเป็นไม้โพล (Pole) สำหรับช่วยพยุงน้ำหนักในการขึ้นและลงเขา

ระหว่างทางของการเทรกกิ้ง มีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างด้วยหินเป็นวัสดุหลัก ใช้ดินแทนปูนในการก่อสร้าง หลังคาเป็นวัสดุคล้ายสังกะสีบ้านเรา แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขา ลมแรง ทำให้บ้านเรือนเกือบทุกหลังใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น คือ หิน วางเรียงรายบนหลังคาเพิ่มน้ำหนักไม่ให้เกิดหลังคาบินตามแรงลม สีสันของบ้านหากเป็นตั้งอยู่เชิงเขาหรือบนเขา สีสันจะไม่สดใสเท่าพื้นราบ โทนสีเป็นไปตามสภาพแวดล้อม ครีม น้ำตาล เทา หรือไม่เช่นนั้นคือ สร้างให้กลืนเข้ากับธรรมชาติโดยไม่ทาสีเลย ที่น่าสนใจคือ การใช้น้ำ แม้ว่าจะใช้น้ำจากภูเขาเสมือนประปาภูเขาบ้านเรา ที่ภูมิปัญญาไทยจะใช้กระบอกไม้ไผ่หรือพัฒนาขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็นท่อ พีวีซี สีฟ้าๆ ต่อจากน้ำบนภูเขาลงมาสำหรับใช้อุปโภคบริโภค แต่สำหรับชาวเนปาล มีท่อ พีวีซี บางส่วนเป็นช่องทางส่งน้ำลงมา แต่เมื่อถึงจุดที่ปิดเปิดน้ำจริง จะก่อสร้างด้วยหินเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขึ้นมาแล้วต่อหัวก๊อกน้ำถาวรเป็นกิจจะลักษณะสำหรับเปิดใช้ และน้ำจากภูเขาที่นี่ นอกจากใช้อุปโภคแล้วยังใช้บริโภคได้ด้วย

ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้หินทับหลังคา เพิ่มน้ำหนัก กันปลิว

ตลอดรายทางที่เดินทางจากเมืองกาฐมาณฑุมายังเมืองโพคารา และต่อเนื่องมายังหมู่บ้าน khande การเกษตรที่เห็นเด่นชัดคือ การปลูกข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง และถั่ว ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา ทำให้การปลูกข้าวมีลักษณะแบบการทำนาขั้นบันได ไล่ระดับ อาศัยน้ำจากน้ำฝน ลักษณะต้นข้าวที่เห็นสูงราว 1-1.50 เมตร รวงข้าวเมล็ดผอม สั้น ออกรวงไม่มากต่อต้น การเก็บเกี่ยวทำโดยการตัดโคนต้นแล้ววางไว้กับผืนนา จากนั้นรวบแล้วฟาดกับพื้นนาให้เมล็ดข้าวหลุดรวงออก ส่วนต้นข้าวที่เหลือเมื่อแห้งมัดรวมทำกองฟาง ร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร พบเห็นได้ตลอดทางทั้งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอาหารสัตว์ การให้ปุ๋ยกับพืช ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่ามีสัดส่วนการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีหรือไม่อย่างไร ทำได้เพียงการสังเกตว่า แปลงที่รอปลูกหลายแปลง มีกองขี้วัวหรือขี้ควายกองทิ้งระยะห่างเท่าๆ กันไว้ คาดเดาว่าน่าจะเป็นการรองพื้นแปลงด้วยปุ๋ยคอกก่อนลงปลูกพืช

ที่พบระหว่างการเดินทางในเมืองกาฐมาณฑุและเมืองโพคาราเกี่ยวกับการเพาะปลูก พบการปลูกผักสวนครัวหลังบ้านเกือบทุกบ้าน ยกเว้นบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในเมือง หากออกนอกชุมชนเมืองมาแล้ว ไม่ว่าจะมีพื้นที่มากหรือน้อย จะถูกดัดแปลงทำสวนครัวเกือบทั้งหมด ผู้เขียนไม่รอบคอบตรงที่ไม่ได้ถามว่าเป็นผักชนิดใดบ้างที่นิยมปลูกในครัวเรือน ทราบเพียงรูปร่างต้นและใบคล้ายกันเกือบทุกบ้าน จะมีแตกต่างก็ส่วนน้อย

การทำสวนครัวหลังบ้าน พบได้ทุกบ้านนอกเขตเมือง

พิจารณาจากอาหารที่รับประทานตลอดการเดินทาง หอมแขก และมันฝรั่ง จะมีหน้ามีตาอยู่บนโต๊ะอาหารหรือจานเสิร์ฟมากที่สุด ทุกมื้อของอาหารต้องมีมันฝรั่งผัดเครื่องเทศ ซุปถั่ว ซึ่งทำมาจากถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดของชาวเนปาล นอกเหนือจากนั้นมีผักโขมผัด ทั้งหมดรับประทานกับข้าวสวยหรือข้าวผัด เกือบทุกมื้อหาอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบค่อนข้างน้อย เพราะด้วยสภาพพื้นที่ของประเทศเนปาล เนื้อสัตว์หาได้ยาก หากจะมีก็เป็นเนื้อไก่ หรือเนื้อแพะ และถ้ามีในมื้ออาหารจะมาในรูปแบบของซุปไก่ (ที่มีเนื้อไก่เล็กน้อยมาก) หรือ มาซาล่าไก่ รสชาติคล้ายแกงกะหรี่ มีความมัน เค็ม เผ็ดนิดหน่อย รับประทานกับแผ่นแป้ง ฉีกจิ้มเข้าปาก (ไก่จากมาซาล่าไก่ จะเป็นไก่ชิ้นก้อนๆ) หากพัฒนาขึ้นมาหน่อย มีไว้เสิร์ฟนักท่องเที่ยวเป็นอาหารเช้า เรียก Breakfast มีให้เลือกไข่ต้มหรือไข่เจียว ในเมนู Breakfast ด้วย

momo หรือเกี๊ยวของเนปาล

อีกเมนูที่แนะนำ momo คือ เกี๊ยวของเนปาล ลักษณะเหมือนเกี๊ยวซ่า เป็นแป้งที่ห่อด้วยไส้ด้านใน ขึ้นกับว่า จะทำไส้จากอะไร เช่น ไส้ผักล้วน ไส้เนื้อไก่ วัว หมู แพะ แกะ ควาย ไปจนถึงเนื้อจามรี ขึ้นอยู่กับว่าดินแดนแถบนั้นนิยมกินเนื้ออะไร ผสมกับผักอย่างกะหล่ำปลี มันฝรั่ง ต้นหอม หัวหอม ใส่เครื่องเทศหอมกรุ่นตามแบบเนปาล

มาซาล่าที ชานมใส่เครื่องเทศ

ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวอื่นจะตื่นเต้นเหมือนที่ผู้เขียนรู้สึกหรือไม่ เพราะผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นไปกับไก่ที่เลี้ยงไว้ตามบ้านหรือร้านค้า และพร้อมจะถูกนำมาเป็นอาหารได้ตลอดเวลา ไก่ที่พบไม่แน่ใจว่าเป็นสายพันธุ์ใด เพราะมีขนาดใหญ่กว่าไก่เลี้ยงที่พบในบ้านเรา ขนาดใหญ่พอๆ กับไก่เบตง พยายามจับเพื่อให้รู้ว่า เนื้อกับขน อย่างใดมีมากกว่ากัน เป็นการพิสูจน์ว่าตัวใหญ่จริงหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถจับไก่ได้ ลองสอบถามผู้รู้โดยส่งภาพไก่ให้ดู วิเคราะห์ได้ว่า เป็นไก่อู ที่อาจมีการผสมของไก่โรดไอส์แลนด์เรด ทำให้มีขนาดใหญ่และให้ไข่ดี แต่ในท้ายที่สุดก็เชื่อได้ว่า ไก่ที่เห็นมีขนาดใหญ่จริง เพราะหลังจากสั่งเมนูเกาหลี “เป็กซุก” คือ การนำไก่ไปตุ๋นโสมเกาหลี ก็ได้ไก่ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 2 กิโลกรัม เสิร์ฟมาพร้อมหม้อตุ๋นผสมข้าวมาในลำตัวไก่ที่เอาอวัยวะภายในออกหมด

จากเมนูนี้ นอกจากจะเชื่อได้ว่าไก่ตัวใหญ่จริงแล้ว ยังทำให้เกิดข้อสงสัยอีกว่า หลายร้านค้าบนเขาและพื้นราบในเมือง พบว่ามีเมนูอาหารเกาหลีหลายร้าน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใด อาหารเกาหลีจึงเป็นที่นิยมมากที่นี่

Dalbat อาหารเนปาล

จึงเป็นข้อแนะนำสำหรับคนไทยที่ต้องเดินทางไปเนปาลหลายวัน อาจคิดถึงเมนูอาหารที่มีรสชาติ สามารถพกน้ำพริกหรืออาหารกระป๋องไปได้ แต่มีข้อแนะนำว่า ประเทศเนปาล ไม่นิยมรับประทานเนื้อสัตว์ มีบางพื้นที่ที่เป็นเขตต้องห้ามไม่ให้สวมเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุหนังเข้าไป แต่หากจะพกอาหารที่มีเนื้อสัตว์ไปรับประทาน แนะนำให้เป็นอาหารที่ทำจากไก่หรือปลาจะดีที่สุด

รสชาติอาหารของเนปาล จะออกจืด หากจะปรุงรส ก็มีเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหารให้ เป็นเกลือ พริกไทย ซอสมะเขือเทศ และซอสสีเขียว ออกรสชาติเผ็ดและซ่าติดปลายลิ้นมาเท่านั้น

แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่นิยม คือ มาซาล่าที หรือชานมใส่เครื่องเทศ หน้าตาแบบเดียวกับชาร้อนใส่นม แต่มีกลิ่นเครื่องเทศเมื่อซดเข้าปาก หรือจะมิลค์ที คือ ชานม ทั้งหมดล้วนแต่มีความจืดเป็นรสชาติยืนพื้น แต่ถ้าให้แนะนำสำหรับคนที่ชอบรสชาติสมุนไพรแท้ๆ น่าจะต้องสั่ง Ginger honey lemon tea ได้รสของขิง มะนาว และน้ำผึ้ง แท้ๆ แน่นอน

สำหรับน้ำดื่ม โดยทั่วไปจะดื่มน้ำจากประปาภูเขา หากเขตเมืองหรือชุมชน จะมีน้ำเปล่าขวดพลาสติก ขนาดประมาณ 1 ลิตร สนนราคาคิดเป็นเงินไทย 27-30 บาท ไม่มีน้ำแข็ง แต่ด้วยสภาพอากาศของเมืองที่แดดแรง ท่ามกลางความเย็นถึงหนาว หากต้องการดื่มน้ำเย็นก็ไม่จำเป็นต้องถามหาน้ำแข็ง และจริงๆ แล้ว ตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองกาฐมาณฑุและเมืองโพคารา ยังไม่พบน้ำแข็งแม้แต่ก้อนเดียว

ครบถ้วนเรื่องของอาหารการกิน เครื่องดื่ม และพืชผักไปแล้ว ฉบับหน้ามาพรรณนาให้เห็นภาพของสภาพภูมิประเทศและจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาให้อ่าน

แปลงนาที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว
ทางเดินและรั้วบ้าน ก็ใช้หินเป็นวัสดุหลัก