สวพ.6 จันทบุรี ปั้นโมเดล GAP สแกนพื้นที่ เร่งเกษตรกร ลำไย ทุเรียน มังคุด ภาคตะวันออก ก่อนฤดูกาล ปี 2563

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้จัดประชุม “แนวทางการตรวจรับรอง แปลง GAP ภาคตะวันออก” ณ ห้องประชุมสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี ภายหลังไทย-จีน เห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้สด 5 ชนิด มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด จากไทยไปจีน และเริ่มบังคับใช้ระเบียบใหม่ ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562

ดังนั้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 สวพ.6 จึงเตรียมแผนเชิงรุกเพื่อให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) และโรงคัดบรรจุผ่านมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ให้ทันฤดูกาลลำไยเดือนสิงหาคม-กันยายน และทุเรียน มังคุด เดือนมีนาคม ปี 2563

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข

 

 ปัญหา GAP… ยังทำได้เพียง 1 ใน 4

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า การทำ GAP และ GMP ภาคตะวันออกมีความตื่นตัวมาก ตั้งแต่ ปี 2561 เมื่อมีปัญหาผลกระทบเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ภาคใต้ เกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุไม่มีมาตรฐาน GMP ลากตู้คอนเทรนเนอร์ไปแล้วผ่านด่านจีนไม่ได้ ทำให้เกษตรกรมีความกระตือรือร้นมากขึ้น

ปัญหาการทำมาตรฐาน GAP คือ หนึ่งการได้รับ GAP ยังน้อยมาก ในจังหวัดจันทบุรี อัตราส่วนเพียง 1 ใน 4 จากพื้นที่ปลูกไม้ผล 5 ชนิด ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย จำนวน 600,000 ไร่ ระยะเวลาเพียง 2 เดือน เดือนสิงหาคม-กันยายน ลำไยจะออกสู่ตลาด และอีก 8 เดือน คือเดือนมีนาคม 2563 จะเริ่มฤดูกาลผลไม้ ทุเรียน มังคุด  สวพ.6 จึงเรียกประชุมแนวร่วมเครือข่ายภาคเอกชน เช่น สถาบันทุเรียนไทย สมาคมการค้าการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี หอการค้าจังหวัดจันทบุรี ตราด และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทเอกชนที่จัดทำใบรับรองแหล่งผลิต GAP ที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง เพื่อหารือทำความเข้าใจขั้นตอนที่จะดำเนินการ

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ (เสื้อแขนยาว)

โดยเฉพาะลำไยต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือนนี้ ส่วนโรงคัดบรรจุตามมาตรฐาน GMP ไม่น่าห่วงมากนัก จากข้อมูลลงพื้นที่สำรวจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ของ สวพ.6 มีล้งผลไม้จำนวน 600 ล้ง อยู่ในจันทบุรี 500 กว่าล้ง ข้อมูล วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 มีล้ง ทุเรียน มังคุด ลำไย พืชรวมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 392 โรง คือ ตราด 17 โรง ระยอง 22 โรง และจันทบุรี 353 โรง และอยู่ในระหว่างตรวจ ปรับปรุง 6 โรง

 เกษตรกรแห่สมัคร ยังค้างตรวจ 4,000 แปลง

สัญญาประชาคม 31 มีนาคม 2563 

ผอ. ชลธี กล่าวว่า จากปี 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2562 จำนวนที่ยื่นขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP มีปริมาณมาก มีเกษตรกรยื่นขอไว้แล้ว 4,000 กว่าแปลง ปัญหาคือ กำลังเจ้าหน้าที่ของ สวพ.6 ที่ให้บริการทำมาตรฐานGAP มีไม่เพียงพอ สวพ.6 ได้ร่วมกับเครือข่ายทีมงาน โดยมีสัญญาประชาคมว่า ถ้าสมัครขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP ก่อน วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถ้าผ่านการตรวจ จะได้ใบรับรอง GAP ภายใน 31 มีนาคม 2563 ทั้งนี้นอกจาก สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ตรวจและออกใบรับรองแล้ว มีหน่วยงาน 2 แห่ง ที่กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน ให้ตรวจออกใบรับรอง GAP ได้ แต่มีค่าใช้จ่าย คือสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด

ผู้เข้าร่วมประชุม

“สวพ.6 ได้พยายามปรับวิธีการตรวจตามภาคเอกชนแนะนำ เช่น กลุ่มเกษตรกรรวมตัวเป็นกลุ่ม การสร้างทีมพี่เลี้ยง ซึ่งต่อไปกรมวิชาการเกษตรจะมีการถ่ายโอนใบรับรองนี้ให้ภาคเอกชนอยู่แล้ว และได้เสนอให้สถาบันการศึกษาภาคตะวันออก เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ให้เข้ามาช่วยตรวจรับรองเหมือนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่ในระยะสั้นๆ 2 เดือน กับการขอใบรับรอง GAP ของลำไย กับ 8 เดือน กับทุเรียน มังคุด จำเป็นต้องมีมาตรการที่เร่งด่วนที่ได้ข้อสรุปพร้อมที่จะดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้” ผอ. ชลธี กล่าว

ปั้นโมเดลลำไย สแกนพื้นที่รายตำบล

เร่งเสร็จภายใน 2 เดือน

คุณชลธี กล่าวถึงแนวทางการทำ GAP ระยะเร่งด่วน ว่า มี 4 แนวทาง คือ

  1. ตรวจแบบกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ที่รวมกันตั้งกลุ่ม ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป มีหัวหน้ากลุ่มดูแล จะสุ่มตรวจและให้ใบรับรองเป็นรายบุคคล
  2. มาตรการของโรงคัดบรรจุ ต้องซื้อจากเกษตรกรที่มีใบรับรอง GAP เท่านั้น ล้งเป็นผู้ควบคุมดูแล
  3. สแกนรายพื้นที่ รายตำบล โดยขอให้ อบต. เทศบาล เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยตรวจสอบเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP ส่งรายชื่อให้สำนักงานเกษตรอำเภอจัดทำแผนส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อให้ดำเนินการร่วมกับ สวพ. 6 แจ้งเกษตรกรรายบุคคลมารับคำชี้แจง อบรมให้ความรู้ จัดทำเอกสาร และ
  4. การมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน โดยรับสมัครเกษตรกร ผู้แทนขายยา ขายปุ๋ย ไม่จำเป็นต้องมีแปลงเกษตรเป็นของตัวเองอบรมเข้มหลักสูตรผู้ตรวจรับรอง เพื่อทำหน้าที่ทีมวิทยากรพี่เลี้ยงเตรียมความพร้อมก่อน
ผอ.ชลธี นุ่มหนู

“ที่ประชุมยอมรับ เมนูที่ 3 สแกนรายพื้นที่ รายตำบล โดยขอให้ อบต. เทศบาล เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยตรวจสอบ และมีทีมเจ้าหน้าที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่ GAP อาสา ช่วยแนะนำตรวจสอบทำงานร่วมกับ สวพ.6 ซึ่งในรูปแบบนี้จะใช้กับเกษตรกรสวนลำไยก่อน ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว และอำเภอทุ่งเบญจา ซึ่งเริ่มดำเนินการลงพื้นที่แต่ละอำเภอตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน และ 15 สิงหาคม จะเริ่มมีลำไยออกสู่ตลาดแล้ว จากนั้นระยะเวลาอีก 8 เดือน จะดำเนินการกับ ทุเรียน มังคุด ให้ทัน วันที่ 31มีนาคม 2563” คุณชลธี กล่าว

คุณปิยะ สมัครพงษ์

คุณปิยะ สมัครพงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่เคยเข้าสู่ระบบมีใบรับรองมาตรฐานมาแล้ว 67% ต่อมาล้งที่รับซื้อมีหรือไม่มี GAP ราคาไม่มีความแตกต่าง จึงไม่ต่ออายุ ส่วนเกษตรกรรายใหม่ๆ เป็นเกษตรกรรายย่อยยังขาดองค์ความรู้ ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับ GAP จำนวน 2,465 ราย คิดเป็น 27% ของพื้นที่ปลูก คาดว่าในระยะ 2 เดือน จะทำได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 35% ถ้าดึงเอาสมาชิกกลุ่มเกษตรกรเข้ามาทำก่อน เช่น กลุ่มสหกรณ์การเกษตร หรือสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรีที่ยินดีจะร่วมมือและมีสมาชิกจำนวนมากถึง 5,340 ราย ซึ่งการตรวจสอบภายในกลุ่มจะง่ายกว่า ถ้ารวมกลุ่มใหม่ต้องให้ความรู้ จัดกลุ่มพี่เลี้ยงให้ เช่น กลุ่ม YSF ต้องสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรรู้ว่าตลาดต้องการสินค้าแบบไหน เชื่อว่าเกษตรกรทำได้

ใบรับรอง บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด

คุณชรัตน์ เนรัญชร เกษตรกรเจ้าของสวนลำไยขนาดใหญ่ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ทิ้งท้ายว่า ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่งของจันทบุรี ผลผลิตปีละ 250,000ตัน มูลค่า 10,000-12,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานเพื่อให้ราคาดีขึ้น ควรตั้งเป้าการทำ GAP ของลำไยให้ชัดเจน เช่น 80% ภายใน 3 ปี เพื่อนำเสนอแผนนี้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหา เสนอ รมต. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พยายามแก้ปัญหาทางใต้อยู่ในเชิงรุก ได้ศึกษาโมเดลของลำไยที่จันทบุรีและให้การสนับสนุน

ภาคเอกชน เสนอ THAI GAP

กรมวิชาการเกษตร รับรองมาตรฐาน GAP

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทยและผู้ดำเนินการมาตรฐาน THAI GAP ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์เห็นว่าระยะเวลาเร่งด่วน 8 เดือน การจ้างเอกชนช่วยดำเนินการจะรวดเร็วและควรปฏิบัติ ดังนี้

ใบรับรอง GAP กรมวิชาการเกษตร
  1. การขอใบรับรอง ควรขอแปลงใหญ่และพืชรวมเพียงใบเดียว และการขอใบรับรองควรทำเป็นกลุ่ม
  2. ต้องมีพี่เลี้ยงที่ผ่านการอบรม จากมหาวิทยาลัย โรงงาน สวนที่ได้แล้วมาช่วยกันแนะนำตรวจประเมินภายในกันเองก่อน
  3. กรณีมีค่าใช้จ่ายทำกับภาคเอกชน สมาชิกสามารถกู้เงินจากสหกรณ์ผ่อนชำระได้จริงๆ และ
  4. ส่วนมาตรฐาน THAI GAP ควรให้กรมวิชาการเกษตรรับรองเป็นรายแปลง เช่นเดียวกับมาตรฐาน GAP
คุณชรัตน์ เนรัญชร

“มาตรฐาน THAI GAP มีตัวชี้วัดที่มีความเข้มข้นเทียบเท่ามาตรฐานสากล Global Gap โดยเฉพาะขั้นตอนรอตรวจผลผลิตในช่วงฤดูกาล แต่เวลาทำต้องให้ บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจ เพื่อให้ได้ใบรับรอง GAP จริงๆ แล้วในระยะเวลาที่เกษตรกรยื่นขอขึ้นทะเบียนเวลานี้ ลำไย มังคุด ทุเรียน น่าจะค้าง 6,000-7,000 แปลง ควรให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยตรวจรับรอง เฉพาะหน่วยราชการเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มต้องเสียค่าใช้จ่ายเองบ้าง แต่คุ้มค่า เพราะการทำ GAP มีอายุการใช้งาน 3 ปีจากนั้นขอต่ออายุไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด” อาจารย์ปราโมช กล่าว

บรรยากาศห้องประชุม

ประธานหอการค้าจังหวัดตราด

ให้กลุ่มสหกรณ์ดูแลกันเอง

ทางด้าน คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว ภาครัฐควรจัดงบประมาณให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์แต่ละจังหวัด สนับสนุนกลุ่มสหกรณ์ที่มีศักยภาพขอใบรับรองเป็นกลุ่ม เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้สมาชิกกลุ่มได้ช่วยกันตรวจสอบ ควบคุมกันเองภายหลังได้ใบรับรอง GAP จะได้ผลดี เพราะที่ผ่านมาบางรายใช้ระยะเวลายื่นขอถึง 2 ปี และเมื่อได้ใบรับรองไปแล้วไม่ทำตามข้อปฏิบัติ แต่ปัญหาจุดแรกคือ เกษตรกรต้องตื่นตัวมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่ามีหรือไม่มี GAP ล้งก็ซื้อ ซึ่งระบบการเหมาสวนทำให้มีการสวมสิทธิ์กัน รวมทั้งการปล่อยตู้คอนเทรนเนอร์ด่านตรวจกักกันพืชควรมีการตรวจภายในตู้ด้วย

ชี้แจง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอสอยดาว

…และนี่คือ ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐ สวพ.6 กับสัญญาประชาคมที่เกษตรกรจะได้ GAP ก่อน 31 มีนาคม 2563 …สนใจสอบถามรายละเอียด โทร 039-397-076