ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 1 มีนาคม 2560 นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองท้องที่,ท้องถิ่น, เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงแขกกำจัดหนอนหัวดำ ใน ต.บางนางลี่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อนำร่องการลดพื้นที่การระบาดและควบคุมหนอนหัวดำไม่ให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้เรียนรู้เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ด้วยวิธีแบบผสมผสาน ตลอดจนชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการระบาดของหนอนหัวดำส่งผลให้การจัดการศัตรูมะพร้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรยังสามารถนำความรู้ไปใช้ในการป้องกันกำจัดมะพร้าวได้ด้วยตนเอง
โดยการกำจัดหนอนหัวดำครั้งนี้มีทั้งการตัดทางใบมะพร้าว ตัดต้นที่ถูกหนอนหัวดำเผาทำลาย เพื่อกำจัดในระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้, การฉีดพ่นเชื้อบีที(บิวเวอร์เรี่ย)ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภครวมทั้งพืชผล สามารถทำให้หนอนหัวดำเคลื่อนไหวช้า หยุดกินอาหาร และตายภายใน 3 – 7 วัน, การใช้สารเคมี ฟลูเบนไดเอไมด์ 20 เปอร์เซ็นต์ WG กรณีมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร และการฉีดสารเคมี อีมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92 เปอร์เซ็นต์อีซี อัตรา 30 ซีซี/ต้น เข้าต้นเฉพาะต้นมะพร้าวที่มีความสูงกว่า 12 เมตรขึ้นไป เพื่อลดระดับความรุนแรงของหนอนหัวดำ,และการปล่อยแตนเบียนบราคอน เพื่อควบคุมไม่ให้หนอนหัวดำระบาดต่อไป โดยนายคันฉัตรกำชับให้จะต้องดำเนินการกวาดล้างหนอนหัวดำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
สำหรับจังหวัดสมุทรสงครามถือเป็นแหล่งผลิตด้านการเกษตรที่มีคุณภาพ และมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกไม้ผลและพืชผัก โดยอาชีพหลักของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคราม คือ การปลูกมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 70,000 ไร่ แต่ปัจจุบันได้เกิดการระบาดของหนอนหัวดำ ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้คือประเทศศรีลังกา ก่อความเสียหายแก่สวนมะพร้าวในพื้นที่ รวม 16 ตำบล 55 หมู่บ้าน รวมความเสียหาย 554 ราย 1,092 ไร่ จำนวน 27,300 ต้น เป็นมะพร้าวแกง 117 ไร่ 2,917 ต้น มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวตาล 975 ไร่ 24,383 ต้น