เทคโนฯ เสวนา…ไม้ผลพารวยยุค 5G (ตอนจบ) เปิดสูตร ปลูกไม้ผลให้ได้ผลผลิตดี สร้างรายได้ยั่งยืน

เมื่อฉบับที่แล้วได้นำการเสวนา…ไม้ผลพารวยยุค 5G โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ในการทำให้สินค้าทางการเกษตรมีคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่ยั่งยืน จึงได้รับเกียรติจาก คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ กับเทคโนโลยีใหม่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาได้รับรู้แนวทางของการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐได้อย่างชัดเจน และจะเห็นผลของการนำสิ่งต่างๆ เข้ามาใช้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทยเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

ซึ่งภายในงานเสวนาได้เชิญวิทยากรผู้มีความชำนาญในเรื่องของไม้ผล มาพูดคุยกันในเรื่องของการจัดการสวนและเรื่องของการสร้างตลาดอย่างไร ที่ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าออกไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศได้มาจนถึงทุกวันนี้

ท่านแรก คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 มาให้ความรู้เรื่อง “ผลิตทุเรียนให้รวยอย่างยั่งยืน” เขาเป็นคนหนึ่งที่ทำสวนปลูกไม้ผลมาหลากหลายชนิด ซึ่งไม้ผลอย่างทุเรียนที่ปลูกทำเงินให้มากกว่าไร่ละ 2 แสนบาท จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรบางรายหันมาปลูกทุเรียนกันเยอะขึ้น จากการมาเลือกปลูกทุเรียนมีทั้งผู้ประสบความสำเร็จและล้มเหลว เมื่อผลผลิตออกมาจึงส่งผลให้ผู้บริโภคได้กินทุเรียนอ่อน ไม่มีคุณภาพ

คุณเสาวณี วิเลปะนะ เจ้าของกล้วยหอมทอง แบรนด์ “คิงส์ฟรุทส์”

ต่อมาได้มีการพัฒนาการปลูกขึ้นเรื่อย ทำให้ปัจจุบันสวนทุเรียนเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ได้รับรองมาตรฐาน GAP เพราะต้องส่งผลผลิตไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้นคู่แข่งการทำสวนทุเรียนหลักๆ ของบ้านเรา ได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่พยายามแย่งหวังชิงตลาดทุเรียนในประเทศจีนจากไทย จึงทำให้การทำสวนทุเรียนของเกษตรกรไทยต้องมีคุณภาพมากขึ้นและใส่ใจในรายละเอียดอยู่เสมอ

คุณชลธี จึงทิ้งท้ายของการปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพว่า การจะปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นผลไม้ที่ต้องมีน้ำเพียงพอ ดังนั้น ก่อนปลูกต้องวางแผนสวนและวางระบบน้ำให้ดี ส่วนดินสามารถบริหารจัดการและควบคุมได้ เท่านี้การทำสวนทุเรียนก็จะไม่ใช่เรื่องยากและสามารถทำเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปได้

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้บริหารบริษัท เอ็นซีโคโคนัท จำกัด เจ้าของแบรนด์ “เอ็นซี โคโคนัท”

ส่วนในด้านของ คุณเสาวณี วิเลปะนะ เจ้าของกล้วยหอมทอง แบรนด์ “คิงส์ฟรุทส์” เรียกได้ว่าเป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการปลูกหอมทอง ที่สามารถส่งจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ

คุณเสาวณี เปิดเผยสูตรความสำเร็จกล้วยหอมทองร้อยเงินล้านให้ฟังว่า เดิมทีนั้นครอบครัวของเธอไม่ได้ปลูกกล้วยหอม แต่เป็นเกษตรกรที่ปลูกส้มเขียวหวาน และระยะต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยหอมทองแถวรังสิต จังหวัดปทุมธานี ในพื้นที่ 30 ไร่ รวมเวลา 20 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อสามีเป็นธุรกิจในครอบครัว

แต่การจำหน่ายกล้วยก็เกิดปัญหา เช่น จำหน่ายในตลาดทั่วไปไม่ได้เงิน จึงทำให้เธอมองในเรื่องของการตลาดที่ใหญ่ขึ้น พุ่งเป้าจำหน่ายกล้วยหอมทองเข้าในห้างสรรพสินค้าแทน หรือแม้กระทั่งเป็นรายใหญ่ที่ส่งกล้วยหอมทองให้ร้านสะดวกซื้อ ส่งการบินไทย และต่อมาทางเกาหลีติดต่อจะขอซื้อกล้วยหอม เพราะชื่นชอบกลิ่นและรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองกว่า 3,000 ไร่ และมีเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่าย ส่งกล้วยหอมทองมาขายให้เรากว่า 1,000 ไร่ แปลงปลูกกล้วยหอมทุกแปลงได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ส่วนโรงคัดบรรจุก่อนที่จะส่งจำหน่ายกล้วยหอมทองไปยังลูกค้าแต่ละรายนั้น เรามีได้มาตรฐาน GMP และ HACCP พร้อมทั้งสร้างห้องแล็บสำหรับตรวจสอบสารเคมีที่ตกค้าง จึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า กล้วยหอมทองทุกผลผ่านการกลั่นกรองผลผลิต ก่อนถึงมือสู่ผู้บริโภค และมีการพัฒนาอยู่เสมอ โดยนำกล้วยหอมที่ตกเกรดมาทำการแปรรูป โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยผลิต เช่น ผงกล้วยหอมทองชงดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง (SVIIF 2018) สหรัฐอเมริกาอีกด้วย” คุณเสาวณี กล่าว

และท่านสุดท้าย เกษตรกรผู้มีความชำนาญในเรื่องของการทำสวนมะพร้าวนั้นคือ คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้บริหารบริษัท เอ็นซีโคโคนัท จำกัด เจ้าของแบรนด์ “เอ็นซี โคโคนัท” ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ในการทำสวนมะพร้าวให้ประสบผลสำเร็จ ในหัวข้อ “มะพร้าวน้ำหอมไทยไปนอกไม่ใช่เรื่องยาก”

คุณณรงค์ศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า กว่าจะมาก่อตั้งเป็นบริษัทที่ส่งจำหน่ายผลผลิตอย่างมะพร้าวไปยังตลาดต่างประเทศได้เหมือนเช่นทุกวันนี้ เริ่มแรกเขาเองก็เป็นชาวสวนปลูกมะพร้าวมาก่อน อยู่ที่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และพัฒนาการปลูกและผลิตมาเรื่อยๆ จนมาตั้งโรงงานแปรรูปจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งมะพร้าวถือได้ว่าเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อย่างผลและน้ำที่จำหน่ายได้แล้ว เขายังได้นำเปลือกมะพร้าวไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในกลุ่มชีวมวล ส่งผลให้ตอนนี้มะพร้าวเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้โรงงานของเขามีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น การทำมะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย น้ำมะพร้าวบรรจุขวด มะพร้าวบรรจุกระป๋อง และวุ้นในลูกมะพร้าว โดยตลาดหลักที่ส่งจำหน่าย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ในเอเชีย และสหภาพยุโรป

ดังนั้น คุณณรงค์ศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า การผลิตมะพร้าวเพื่อส่งจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้สนใจจะเริ่มต้น หรือผู้ที่ทำอยู่แล้วและต้องการขยายตลาดออกไป เพราะมะพร้าวหากมีการจัดการที่ดีและดูแลอย่างมีระบบก็จะช่วยให้มีผลผลิตส่งจำหน่ายได้อยู่เสมอ และสร้างเป็นอาชีพที่ยั่งยืนและเกิดรายได้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้

หากท่านผู้อ่านสนใจการทำสวนไม้ผลของทั้ง 3 ท่านนี้อย่างละเอียดแล้วละก็ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมอ่านกันได้ที่ www.technologychaoban.com ซึ่งทางทีมงานของเราได้คัดสรรและนำเรื่องราวมากมายของเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จจริงมาให้ได้อ่านกัน อย่างน้อยๆ เป็นการสร้างกำลังใจและเป็นแนวทางเพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน สามารถนำองค์ความรู้ในเรื่องของการทำเกษตรกรรม ต่อยอดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่อย่างยั่งยืน