ครุศาสตร์ฯ มทร.ศรีวิชัย พัฒนาเครื่องอัดถ่านไม้ไผ่ เพิ่มมูลค่า เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับกลิ่นได้ดีขึ้น

การบริการวิชาการแก่สังคม เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พึงให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ ตามความถนัดและในด้านที่สถาบันมีความเชี่ยวชาญ โดยให้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานอิสระ หน่วยงานสาธารณะชุมชน และสังคมโดยกว้าง รูปแบบการให้บริการทางวิชาการมีความหลากหลาย เช่น การวิจัย การสร้างสิ่งประดิษฐ์ การให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งการให้บริการทางวิชาการนอกจากเป็นการทำประโยชน์ให้สังคมแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์อันจะนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร มีการบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการจัดการเรียนการสอน และการวิจัย พัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งงานของนักศึกษาและเป็นการสร้างรายได้ของสถาบันจากการให้บริการทางวิชาการด้วย

ซึ่งชุมชนหมู่ที่ 6 บ้านควนขี้แรด ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชุนจากถ่านไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากการทำน้ำส้มควันไม้ และทางคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้เข้าไปสำรวจความต้องการของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นเพียงเชื้อเพลิงซึ่งมีมูลค่าเพียงเล็กน้อยจึงนำกระบวนการและวิธีการในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณสมบัติที่ดีในการดูดซับกลิ่น แต่เนื่องจากถ่านไม้ไผ่มีลักษณะเป็นผงละเอียด ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับกลิ่นได้ดีกว่าถ่านไม้ไผ่ที่ผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปซึ่งจะเป็นการทำให้พื้นที่ในการดูดซับกลิ่นของถ่านไม้ไผ่ลดลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซับกลิ่น โดยทางชุมชนได้เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากถ่านไม้ไผ่ที่เป็นผงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการนำมาใช้ในการดูดซับกลิ่น โดยเน้นความเป็นอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ ทางหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้เห็นแนวทางในการนำนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน โดยทำการทดลองหาอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างปริมาณถ่านไม้ไผ่ผงกับแป้งมันที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่อัดขึ้นรูปเป็นรูปแรด เพื่อให้เป็นไปตามที่ความต้องการของชุมชนบ้านควนขี้แรด ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อไป

คณะผู้วิจัย อติกานต์ สงพะโยม อารยะ สมมาตร และ ณัฐริกา สุวรรณรัตน์ นักศึกษาหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีปิโตรเลียม ชั้นปีที่ 3 ในความดูแลของ อาจารย์ณัฐวุฒิ สุภารัตน์ และ อาจารย์จุฑามาศ จันโททัย ได้เล็งเห็นประโยชน์จากการใช้ถ่านไม้ไผ่ และทำการศึกษาการทำถ่านไม้ไผ่อัดแท่ง เพื่อใช้ในการดูดซับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของชุมชนพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำไม้ไผ่จำนวนมากมาเผาให้เป็นถ่าน เพื่อนำน้ำส้มควันไม้มาใช้ในการเกษตร ซึ่งการนำผงถ่านไม้ไผ่จากการผลิตน้ำส้มควันไม้มาใช้ประโยชน์ในการดูดซับกลิ่นโดยลักษณะของถ่านไม้ไผ่ จะอยู่ในรูปแบบผงซึ่งไม่เหมาะแก่การนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น จะต้องนำมาขึ้นรูปก่อน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของพลังงาน (Energy Density) เพื่อเพิ่มสภาพการคงตัว และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยการอัดขึ้นรูปนั้นจะต้องหาอัตราส่วนระหว่างถ่านและแป้งมันสำปะหลัง ในการขึ้นรูปเพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์เกิดการแตกหัก ในขณะที่นำไปตากแดดเพื่อให้ความร้อน เมื่อหาอัตราส่วนที่ลงตัว ก็ต้องนำไปทดสอบการดูดกลิ่นในพื้นที่ที่จำกัดไว้ เพื่อทำการทดสอบหาประสิทธิภาพในการดูดกลิ่นของถ่านไม้ไผ่อัดขึ้นรูปว่าดีหรือไม่ โดยการอัดสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การอัดเป็นเม็ด การอัดเป็นแท่งเล็ก การอัดเป็นลูกบาศก์ การอัดเป็นแท่งฟืน ในอุตสาหกรรมนิยมใช้การอัดเกลียว หรืออัดสกรู การอัดแท่งด้วยเกลียว หรือสกรู สามารถอัดได้ 2 แบบ คือ

การอัดแห้ง คือ วัสดุก่อนอัดจะต้องได้รับการบดละเอียดสม่ำเสมอในการบดกรณีที่เครื่องอัดมีแรงอัดสูงมากก็อาจไม่จำเป็นต้องบดก่อน เพราะเครื่องอัดจะทำหน้าที่บดและอัดในตัวความชื้นของวัสดุที่บดแล้วก่อนอัดควรมีค่าอยู่ระหว่าง ประมาณ 7-12 เปอร์เซ็นต์ หากสูงกว่าหรือต่ำกว่าเกณฑ์อาจอัดไม่ได้ผล โดยใช้แรงอัดสูงตั้งแต่ 0.100 กิโลกรัม ต่อตารางเซนติเมตร

การอัดเปียก คือ ความชื้นก่อนอัดขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุโดยทั่วไปจะมีความชื้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ จะอัดได้ดีที่สุดแต่หากต่ำกว่านี้อาจจะอัดไม่ได้ หรืออัดได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่สำหรับการลดความชื้นไปจนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับวัสดุบางชนิดก็ยังอัดได้ดีอยู่ การอัดเปียก ใช้แรงอัดต่ำกว่าการอัดแบบอัดแห้งอย่างมาก การอัดอาศัยแรงและความเหนียวของวัสดุจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีระบบการให้ความร้อนหรือระบายความร้อน วัสดุก่อนอัดจำเป็นต้องสับหรือบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แต่ไม่ใช่ละเอียด เมื่อผ่านการอัดเป็นแท่งแล้ว แท่งเชื้อเพลิงจะต้องนำไปตากแดดให้แห้งก่อนนำไปใช้ แท่งเชื้อเพลิงมีความหนาแน่นระหว่าง 600-800 กิโลกรัม ต่อตารางเซนติเมตร

คุณอติกานต์ สงพะโยม (หนึ่งในผู้วิจัย) กล่าวว่า ผมศึกษาอยู่หลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีปิโตรเลียม ซึ่งต้องเรียนเกี่ยวกับปิโตรเลียม และพลังงานทดแทน โดยการทำวิจัยในครั้งนี้ ผมได้นำความรู้จากห้องเรียนมาผนวกกับการทำงานจริง ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน ซึ่งผมและเพื่อนๆ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน และต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (084) 397-5266

Advertisement