LD50 เป็นค่าที่ระบุถึงความเป็นพิษของสารเคมี ที่ควรรู้

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมมีความสงสัย อยากรู้ความหมายของ LD50 นั้นคืออะไร มีนักวิชาการบางท่านเคยพูดถึงอักษรและตัวเลขดังกล่าว เกี่ยวพันกับสารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ที่กำลังมีปัญหากันอยู่ในขณะนี้อย่างไร ผมขอคำอธิบายจากคุณหมอเกษตร ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับตัวผมเองและผู้อ่านทางบ้านไปด้วยกัน อีกหนึ่งคำถาม หากมีการแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แล้วจะมีผลกระทบกับการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี และข้าวโพด จากสหรัฐอเมริกาอย่างไร ผมจะคอยติดตามอ่านในคอลัมน์หมอเกษตรต่อไป ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

วรชัย พันธุเสมา

พระนครศรีอยุธยา

ตอบ คุณวรชัย พันธุเสมา

ค่า LD50 นิยมใช้กันในทางวิชาการเท่านั้น แต่ในสังคมวงกว้างกล่าวถึงกันน้อยมาก คำถามของคุณวรชัย นับว่าก้าวหน้าและมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังที่คุณกล่าวมา

Advertisement

LD50 ย่อมาจาก Lethal Dose fifty หมายถึงการให้สารพิษกับหนูทดลอง จำนวน 100 ตัว เมื่อหนูกินเข้าไปแล้วตายลง จำนวน 50 ตัว ภายในเวลา 2-4 วัน โดยมีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ต่อไปผมขออนุญาตใช้ มล./กก. แทน) หมายเหตุ เนื่องจากขนาดหนูทดลองที่นำมาทดลองในแต่ละครั้ง อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง นักวิจัยจึงต้องชั่งน้ำหนักหนูทดลองทั้ง 100 ตัว ในทุกการทดลองไปเป็นคู่ขนานกัน เพื่อให้ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด

กลับมาที่สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ที่กำลังถกเถียงกัน คงไม่จบง่ายๆ คำว่า วัตถุอันตราย นี้คงจะอาถรรพ์เอาเรื่องทีเดียว สารชนิดแรก พาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทสัมผัสตาย คือฉีดไปที่บริเวณสีเขียวของวัชพืช ส่วนใหญ่คือที่ใบ แล้วจะเหี่ยวเฉาตายภายใน 2-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ พาราควอตเป็นสารไม่เคลื่อนที่ไปตามท่อน้ำ ท่ออาหารได้ ทำให้วัชพืชตายเฉพาะส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินเท่านั้น พาราควอตจะหมดฤทธิ์เมื่อตกถึงพื้นดิน แล้วถูกอนุภาคของดินจับไว้อย่างเหนียวแน่น ต่อมาถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในดินและถูกแสงแดดแผดเผา จึงสลายตัวไปภายในเวลา 30-40 วัน เนื่องจากพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ไม่เลือกทำลาย

Advertisement

พืชปลูกสีเขียว เมื่อถูกสารนี้ก็จะเหี่ยวเฉาตายไปด้วย ฉะนั้นเกษตรกรจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นพืชปลูกก็จะเฉาตายไปด้วยกัน ในนาข้าว ชาวนาจะฉีดพ่นเฉพาะบริเวณคันนาเท่านั้น ค่า LD50 ของพาราควอต อยู่ที่ 30-50 มก./กก. สารชนิดที่สอง ไกลโฟเซต มีชื่อการค้าว่า ราวด์อัพ เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทเคลื่อนที่ในต้นวัชพืชได้ ดังนั้น นอกจากจะทำลายที่บริเวณใบสีเขียวแล้ว ยังเคลื่อนที่ไปถึงระบบราก ทำให้วัชพืชตายทั้งส่วนเหนือดินและใต้ดิน ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวนี้จึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย การหมดฤทธิ์เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน พาราควอต ค่า LD50 ของไกลโฟเซตอยู่ที่ 5,000 มก./กก. และสารชนิดที่สาม คลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลง โดยใช้กำจัดเพลี้ยอ่อนได้ดี สารชนิดนี้จะเข้าทำลายระบบเอนไซม์ หรือระบบน้ำย่อยบางชนิดในตัวแมลง ทำให้แมลงตายลงในที่สุดเมื่อได้รับสารเคมีในปริมาณที่ถูกต้อง และเวลาที่เหมาะสม ค่า LD50 ของคลอไพริฟอส 197-276 มก./กก.

ข้อมูลเปรียบเทียบความเป็นพิษในระดับต่างๆ ของสารพิษ 1. พิษร้ายแรงมาก ค่า LD50 อยู่ที่ 5-50 มก./กก. 2. พิษร้ายแรงปานกลาง ค่า LD50 อยู่ที่ 50-500 มก./กก. และ 3. พิษร้ายแรงต่ำ ค่า LD50 อยู่ที่ 500-2,000 มก./กก.

(ข้อมูลอ้างอิง มาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร)

เพราะเหตุใดการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด แล้วมีผลต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี และข้าวโพด จากสหรัฐอเมริกา ตอบ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เฉพาะสารไกลโฟเซตเท่านั้น เนื่องจากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา ที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยล้วนเป็นพืช GMO หรือพืชตัดแต่งทางพันธุกรรมให้มีความต้านทานไกลโฟเซต ขออธิบายเพิ่มเติม เมื่อปลูกถั่วเหลืองไปแล้ว เมื่อมีวัชพืชเติบโตขึ้นในแปลงปลูก เกษตรกรเจ้าของฟาร์มจะฉีดพ่นไกลโฟเซตไปทั่วทั้งแปลง ผลคือวัชพืชตาย แต่ถั่วเหลืองไม่ตาย ดังนั้น รัฐบาลไทยก็อ้างได้ว่าผลผลิตถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกาใช้ไกลโฟเซตฉีด ฉันก็จะไม่ซื้อถั่วเหลืองของยู ทั้งนี้ลองมาพิจารณาดูว่า เรานำเข้าถั่วเหลืองจาก 3 ประเทศ ที่กล่าวมามากถึง 2.5 ล้านตัน เมื่อคิดเป็นตัวเงินแล้วมีมูลค่ามหาศาล ข้าวโพด เรานำเข้าประมาณ 7 แสนตัน ก็อยู่ในทำนองเดียวกับถั่วเหลือง ส่วน ข้าวสาลี มีการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ปีละ 1.6 ล้านตัน แต่ผมตรวจไม่พบว่าเป็นพืชต้านทานไกลโฟเซตด้วยหรือไม่ แต่ก็จะเกิดผลกระทบเช่นเดียวกับถั่วเหลืองอย่างแน่นอน

บทสรุป จะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังผลิต และใช้ไกลโฟเซตกันอยู่อย่างกว้างขวาง อีกทั้งจะเกิดปัญหาการส่งออกถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี มายังประเทศไทยได้ลำบากขึ้น จึงเป็นการหักเหลี่ยมทำให้เสียรายได้จำนวนมหาศาลของฝ่ายสหรัฐอเมริกา หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมาไม่กี่วัน ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศกร้าวว่า จะตัด จีเอสพี ของไทย หากไม่มีการแก้ไขแรงงานต่างด้าว โดยให้เวลาแก้ไข 6 เดือน การประกาศนโยบายของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้สถานทูตสหรัฐอเมริกาให้คำหวานว่า ไม่เกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมีดังกล่าว แต่ถ้ามองกันไม่นาน ทางไทยเราก็เสียงอ่อยลง การแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ก็เริ่มแกว่งไกว

ขณะที่ยังอึมครึมอยู่นี้ ขอให้ทางกระทรวงเกษตรฯ เร่งระดมเจ้าหน้าที่ออกแนะนำการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ใช้ ผู้บริโภค รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อมให้มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่านผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายขอให้เริ่มรณรงค์กันได้แล้ว โปรดสลัดความมึนงงในปัญหาข้างต้นทิ้งไป ให้สงสารเกษตรกรตาดำๆ และคุณหมอที่ปรารถนาดีต่อสุขภาพของประชาชนไทยทั้งชาติเถิดครับ สวัสดี