สาวโรงงาน ทิ้งเงินเดือน 5 หมื่น กลับบ้านเกิดทำเกษตรอินทรีย์ ส่งขายต่างประเทศ รายได้มากกว่าเงินเดือนที่ทิ้งมา

ยุคเศรษฐกิจขาลงเป็นวังวนที่เกิดขึ้นได้เสมอ จะผ่านอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต สุดท้ายจะกลับมาถึงจุดที่ถดถอยคล้ายกับเป็นวัฏจักรที่เมื่อถึงเวลาก็ต้องเจอ มีรุ่งเรือง มีตกต่ำ เหมือนกับชีวิตคนเรา เพียงแค่ต้องรับมือและใช้ชีวิตอย่างมีสติเท่านั้น

คุณสงกรานต์ หาญไชยนะ (พี่สาว) อยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรสาวคนเก่ง อดีตประธานกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี’59 เล่าว่า เธอเรียนจบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่งานประจำที่ทำก่อนลาออกกลับเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายที่เรียนมาเลย เธอทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับความสวยงามผลิตเครื่องสำอางส่งออกต่างประเทศ ได้รับค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละ 50,000 บาท หากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมาก แต่ก็ต้องมีเหตุจำเป็นที่ต้องลาออก หลายโรงงานที่ทำคล้ายกันเริ่มปิดกิจการไปเรื่อยๆ ถ้าทนอยู่ต่อ อาจจะเป็นโรงงานที่ตัวเองทำอยู่ จึงตัดสินใจลาออกจากงาน ได้เงินมาก้อนหนึ่งเพื่อกลับไปทำสวนที่บ้าน

“ช่วงแรก เพื่อนๆ และชาวบ้านที่รู้ข่าวก็ตกใจ บ้างก็ถามหาเพราะความเป็นห่วง บ้างก็หาว่าบ้าทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นมานั่งลำบากตากแดดตัวดำทำเกษตร แต่ใครหละจะรู้ว่าที่เราต้องลาออกเพราะอะไร”

คุณสงกรานต์ หาญไชยนะ (พี่สาว)

ตัดสินใจ ทิ้งเงินเดือน 50,000 บาท
เริ่มต้นล้มลุกคลุกคลานในงานเกษตรเป็นครั้งแรก

หลังจากลาออกจากงานประจำ พี่สาวเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรด้วยการเพาะเห็ด โดยก่อนหน้าที่จะออกจากงานเธอมีการเตรียมความพร้อม ด้วยคำแนะนำจากเพื่อนให้ไปทดลองศึกษาหาความรู้การทำเกษตรที่โครงการลูกพระดาบส จังหวัดสมุทรปราการ ที่โครงการแห่งนี้มีพื้นที่กว้างกว่า 100 ไร่ เปิดอบรมสอนทำการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งงานปศุสัตว์ ประมง ปลูกพืช โดยหลักสูตรแรกที่เธอเริ่มเรียนคือ การเพาะเห็ดแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเห็ด การเปิดดอก และการแปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เมื่อมีความรู้ในระดับที่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้ จึงลาออกจากงาน แล้วมาลงทุนเปิดฟาร์มเพาะเห็ดที่บ้านจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 40 โรงเรือน

ถือเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ในตอนนั้น โดยช่วงแรกยังไม่ได้มีการแปรรูป ขายแต่แบบสด เพราะในสมัยนั้นเห็ดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่หาคนเพาะแล้วประสบความสำเร็จมีน้อย เห็ดที่เพาะขายจะเลือกลักษณะให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภาคอีสาน คือร้อนชื้น เห็ดที่เหมาะกับการเพาะคือ เห็ดกระด้าง เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้า เพาะแล้วขายดีจนผลิตไม่ทัน จึงมีความคิดที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนในชุมชนได้ทำเป็นอาชีพและมีรายได้เหมือนกัน

ปลูกเห็ดฟางกองเตี้ย หลังฤดูเกี่ยวข้าว

เมื่อชุมชนเริ่มทำเป็น เห็ดก็เริ่มเยอะขึ้น สินค้าล้นตลาด จากเคยเป็นเจ้าเดียวที่ส่งตลาดสมเด็จ กลายเป็นมีหลายเจ้า จึงต้องเริ่มกระจายสินค้าส่งไปหลายจังหวัด และในหลายจังหวัดก็เริ่มมีการเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดไม่ต่างกัน จึงกลายเป็นว่าเห็ดเริ่มขายยากขึ้นเรื่อยๆ

ทำได้ 4 ปี เริ่มคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะลำบากแน่ ต้องโดนพ่อค้าคนกลางกดราคา จากเมื่อก่อนเป็นคนกำหนดราคาเอง ตอนนี้ต้องโดนกดราคา จึงนึกย้อนกลับไปตอนสมัยที่เรียนการแปรรูปเห็ด นำเห็ดสดที่มีอยู่มาแปรรูปเป็นหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งเห็ดสวรรค์ เห็ด 3 รส เห็ดอบกรอบ

จนถึงทีเด็ดคือ เฉาก๊วยเห็ด ใช้เวลาการลองผิดลองถูกนานเกือบ 4 ปี จนได้สูตรเฉาก๊วยเห็ดที่ยอดเยี่ยม คือการนำหญ้าเฉาก๊วยมาต้มเป็นน้ำก่อนแต่ไม่ต้องทำให้เป็นตัว แล้วนำเห็ดหูหนูมาล้างโซดาเพื่อล้างเมือกและดับกลิ่นสาบของเห็ดออก จากนั้นนำมาตุ๋นคู่กับเฉาก๊วยให้น้ำเฉาก๊วยเข้าไปในเนื้อเห็ด แล้วทีนี้เห็ดจะไม่มีกลิ่นและไม่มีเมือก รสชาติจะออกเหนียวปนกรุบกรอบ และมีกลิ่นหอมของเฉาก๊วยนิดๆ นำไปขายตามงานและตลาดต่างๆ ผลตอบรับดีมาก หากใครต้องการสูตรเพิ่มเติมสามารถติดต่อพี่สาวได้ ไม่หวงสูตร

พัฒนาจากฟาร์มเห็ด เป็นเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน
ส่งตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้หลักหมื่นต่อสัปดาห์

หลังจากเกิดเหตุการณ์เห็ดล้นตลาด พี่สาว บอกว่า เธอจำเป็นต้องลดขนาดโรงเรือนเพาะเห็ดลง จาก 40 โรงเรือน เหลือพื้นที่สำหรับเพาะเห็ดไว้ 1 งาน และเปลี่ยนพื้นที่เป็นเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยมีความรู้มาจากโครงการลูกพระดาบสอีกเช่นกัน โครงการลูกพระดาบสสอนให้เข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ทำอย่างไรให้อยู่ได้ และอยู่รอด จึงเริ่มจัดสรรพื้นที่ที่บ้าน จำนวน 7 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 2 งาน พื้นที่เลี้ยงไก่พื้นเมือง 1 งาน เลี้ยงโค-กระบือ 1 งาน สระเก็บน้ำไว้ทำเกษตร 1 งาน โรงเรือนคัดแยกสินค้าเกษตร 1 งาน พื้นที่สำหรับโรงงานแปรรูป 1 งาน พื้นที่ปลูกผักและผลไม้ 2 ไร่ และพื้นที่ปลูกข้าว 3 ไร่

 

การทำเกษตรของพี่สาวเริ่มจาก

  1. การขุดสระน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร 1 งาน สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี
  2. เลี้ยงไก่พื้นเมือง เพราะถ้าเลี้ยงไก่ไข่ ค่าอาหารจะสูง จะถือเป็นการเพิ่มต้นทุน จึงเลือกเลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงแบบปล่อยให้หาอาหารกินเอง ในบริเวณพื้นที่ 1 งาน เลี้ยงจำนวน 40-50 ตัว 1 เดือน จับขาย 1 ครั้ง ขายเป็นไก่เนื้อ ราคากิโลกรัมละ 90 บาท อาหารที่ใช้เลี้ยงคือ ผัก ผลไม้ที่เก็บจากสวนผสมกับรำจากโรงสีข้าวเล็กๆ จึงมีทั้งแกลบ และรำ เอามาผสมเลี้ยงไก่ ช่วยประหยัดต้นทุนไปได้เยอะมากแทบไม่ต้องใช้หัวอาหารเลย
  3. ปลูกผัก ผลไม้ 2 ไร่ ปลูกสลับกัน ปลูกฝรั่งกิมจู ระยะกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ระหว่างแถวจะมีช่องว่างตรงกลางก็ทำเป็นแปลงผัก กว้าง 1 เมตร ปลูกสลับกันไป 1 วัน เธอมีหน้าที่ปลูกผัก แค่วันละ 2 แปลง เพื่อให้ได้เงินรายวันอย่างต่ำ วันละ 300-500 บาท อย่างผักบุ้ง 1 แปลง ลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์ 150 บาท หว่าน 1 กิโลกรัม เก็บผลผลิตได้ประมาณ 50-80 กิโลกรัม ขายได้ 1,500 บาท ราคาจะดีหน่อยเพราะที่สวนมีมาตรฐานใบรับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ แม่ค้าประจำที่รับซื้อจะเข้าใจเป็นอย่างดี และมีรถมารับถึงหน้าสวน ให้ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ตลอดทั้งปี
  4. พืชผักสวนครัว ต้นหอม ขึ้นฉ่าย ผักชี พริก และอื่นๆ ในส่วนของพืชผักสวนครัวตอนปลูกจะต้องวางแผนให้ดี มีพืชเก็บขายเป็นระยะ หมายความว่า ถ้าเป็นพริก ต้องปลูกนานกี่เดือน และในขณะที่รอพริกโต จะสามารถปลูกผักอะไรแซมได้บ้าง อย่างที่สวนจะปลูกต้นหอมแซม กว่าพริกจะเป็นดอกก็ตัดต้นหอมขายได้ 3-4 ครั้ง เมื่อพริกเริ่มออกดอกก็จะหยุดปลูกพืชเข้าไปในแปลงพริก จะถือเป็นการปลูกผสมผสานในแปลงเดียว เพื่อประหยัดพื้นที่ และช่วยกำจัดโรคแมลงได้เป็นอย่างดี เพราะตามธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชจะเกิดความสับสนตอนบินมา อาจจะได้กลิ่นของต้นหอมแต่ผ่านไปสักพักได้กลิ่นเป็นพริก แมลงจะเกิดความสับสนและกลัวความเผ็ดของพริกก็จะหายไปเอง จึงไม่มีปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชมากนัก

แปลงพืชผักสวนครัว พืชสร้างรายได้ประจำวัน

การจัดการดูแล ปลูกพืชแบบประหยัดต้นทุน
ปุ๋ยทำเอง จากส่วนผสมที่หาได้ในสวน

การทำเกษตรอินทรีย์ของพี่สาว พี่สาว บอกว่า น้ำ คือปัจจัยสำคัญ เธอจึงไม่เสียดายพื้นที่สำหรับขุดสระน้ำไว้ใช้โดยเฉพาะ จำนวน 1 บ่อ ใช้รดแปลงผัก ทำทั้งระบบสปริงเกลอร์ ระบบน้ำหยด และใช้สายยางรดเองบ้าง ค่าไฟใช้สูบน้ำเดือนละไม่เกิน 900 บาท

ปุ๋ย ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง เพราะที่สวนเลี้ยงไก่ วัว และควาย ก็จะนำมูลของทั้งสามอย่างนี้มาผสมกับแกลบสด 1 ส่วน รำ 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน น้ำหมักผลไม้ 1 ลิตร ใช้แทนอีเอ็ม ปูนขาว 1 กิโลกรัม เพื่อปรับสภาพดิน และใส่ พด.1 ผสมให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 90 วัน เป็นอันใช้ได้ หากครบ 90 วัน ใช้ไม่ทัน สามารถกรอกใส่ขวดไว้ใช้ต่อได้ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ทั้งหมด ทั้งยังช่วยให้ผลไม้มีรสชาติหวานกรอบกว่าที่อื่นอีกด้วย

พืชผักหลากชนิดปลูกหมุนเวียนภายในสวน

ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ควบคุมวัชพืช
แล้ง-ฝน ใช้วิธีต่างกันนิดเดียว

พี่สาว เป็นเกษตรกรที่ปลูกแบบผสมผสานกลางแจ้ง เธอจึงมีเทคนิคกำจัดวัชพืชแบบภูมิปัญญาชาวบ้านเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก การคุมวัชพืช จะมี 2 แบบ คือไว้ใช้ฤดูแล้งและฤดูฝน แต่พื้นฐานอย่างแรกที่ต้องทำทุกฤดูคือ การนำแกลบดำมาปูพื้นเพื่อไล่มด วิธีการคือ นำแกลบสดมาแช่น้ำทิ้งไว้จนแกลบเปลี่ยนเป็นสีดำ เพราะถ้าใช้แกลบสดเลยไม่ได้ เพราะจะยังมีกลิ่นหอมของรำอยู่ ถือเป็นการล่อให้มดมา แต่ถ้านำไปแช่น้ำรำจะเริ่มมีสีดำและมีกลิ่นที่มดไม่ชอบ

ขั้นตอนการกำจัดวัชพืชหน้าฝน …เมื่อโรยแกลบดำปูพื้นเสร็จ ให้นำหญ้าคาแบบเดียวกับที่ใช้มุงหลังคามาปูทับแบบบางๆ เพราะคุณสมบัติของหญ้าคาคือ ไม่เก็บความชื้นและแห้งเร็วที่สุด เพราะเราไม่ต้องการให้แปลงอมน้ำเก็บน้ำแล้วจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย และอีกประการหญ้าคาจะช่วยลดการกระทบของดินกับน้ำ เมื่อน้ำไม่กระแทกโดนดิน ดินก็ไม่สามารถกระเด็นโดนต้นผักได้ การที่จะเกิดโรคเน่า ใบเน่า หรือเชื้อรา ก็จะน้อยลง

ขั้นตอนการกำจัดวัชพืชหน้าแล้ง…ใช้แกลบดำโรยปูพื้นเหมือนเดิม แล้วเปลี่ยนจากหญ้าคาเป็นฟางข้าว ใช้คลุมดินแทน เพื่อที่ตอนรดน้ำฟางจะช่วยเก็บความชื้น ทำให้ผักที่ปลูกไม่แห้งเหี่ยว และสามารถประหยัดน้ำได้ 2 วัน รดน้ำแค่ 1 ครั้ง

 

ทำสินค้าเกษตรให้มีมาตรฐานรับรองออร์แกนิก
ราคาดี ต่อรองกับตลาดต่างประเทศได้

พี่สาว เล่าถึงการตลาดของผักอินทรีย์ให้ฟังว่า ทำไม เกษตรกรจำเป็นต้องทำเกษตรออร์แกนิกและต้องมีใบรับรอง เธอบอกว่า เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น จะพูดแต่ปากไม่ได้ว่าของตัวเองเป็นอินทรีย์ ต้องให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น และถ้าอนาคตจะพัฒนาส่งขายตลาดต่างประเทศก็ง่ายขึ้นด้วย

ทุกวันนี้เธอมีตลาดส่งอยู่หลายที่

  1. ตลาดในชุมชนสมเด็จ
  2. ตลาดกรุงเทพฯ มีแม่ค้าที่ขายผัก ผลไม้อินทรีย์โดยตรงเข้ามารับซื้อ
  3. ตลาดต่างประเทศ สิงคโปร์และมาเลเซีย ส่งผ่านพ่อค้าคนกลางที่เขารู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ทำในรูปแบบเครือข่าย เพราะลำพังผลผลิตของเธอสวนเดียวคงมีไม่พอส่ง

ตลาดมาเลเซีย…เธอจะปลูกพริกเหลืองอินโดฯ ส่งรวมกับเครือข่ายคนอื่น ของเธอเก็บส่งได้ 200 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ราคาขาย กิโลกรัมละ 80 บาท และเครือข่ายที่ส่งทุกสวนจะต้องมีใบรับรองมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ด้วย

ตลาดสิงคโปร์… ส่งฝรั่ง แตงโม มะม่วง ราคาดี โดยมีเงื่อนไขกับตลาดต่างประเทศว่าขอเป็นราคาที่ตายตัว ขายราคาเดียวตลอดทั้งปี เช่น ฝรั่ง กิโลกรัมละ 40 บาท ตลอดทั้งปี 1 เดือน เธอส่งได้รอบละ 80-100 กิโลกรัม

นอกจากใบรับรองมาตรฐานแล้ว เกษตรกรทุกสวนจะต้องมีความซื่อสัตย์ เกษตรกรเครือข่ายทุกคนต้องวางแผนการปลูกและการเก็บให้ดี จะทำอะไรต้องนึกถึงผู้บริโภคหรือพ่อค้าที่รับของต่อจากเราไปด้วย เช่น ต้องมีการวางแผนการเก็บผัก จะต้องเก็บผักที่สดจริงๆ ไม่เก็บผักค้างคืนแล้วขายให้เขา เพราะเวลาที่พ่อค้าเอาไปต่อของก็ไม่สดแล้ว ลูกค้ากินรสชาติก็เสีย ที่เครือข่ายจึงทำเวลานัดหมายวันเก็บผลไม้ ทุกวันจันทร์นัดเก็บฝรั่ง ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสอง 5 โมงเย็น ทุกอย่างต้องเรียบร้อย และต้องเก็บผลผลิตพร้อมกัน ถ้าใครเก็บก่อนหรือนำของเก่ามาส่งจะรู้ทันที หากลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเราแล้ว นำไปตรวจถ้าเจอสารเคมีตกค้าง ทางเราก็จะมีรหัสเกษตรกรแยกอย่างชัดเจนว่าเป็นของใคร และถ้าเจอของเกษตรกรคนใดไม่ต้องจ่ายเงิน เกษตรกรที่ถูกตรวจเจอสารตกค้างจะโดนเตือนไว้ หากเกิดขึ้นเป็นรอบที่สองจะถูกตัดออกจากกลุ่มทันที

ส่วนต้นทุนกับรายได้ถือว่าคุ้ม ทำเกษตรแบบครบวงจร มีรายจ่ายน้อยมาก จะมีก็แต่ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักแค่บางชนิด ปุ๋ย น้ำ แทบไม่ต้องเสีย มีรายรับเต็มๆ สัปดาห์ละ 20,000-30,000 บาท พี่สาวกล่าวถึงทางรอดของเกษตรกรยุคใหม่

ขนุนแดงสุริยา รับประทานสุก เนื้อเหลืองอมแดง

ฝากถึงเกษตรกร ทั้งมือใหม่และมือเก่า

“ทำเกษตรอินทรีย์ ต้องทำให้ครบวงจร อย่างพี่ทำปุ๋ยเอง เลี้ยงสัตว์เอง ต้นทุนจะต่ำมาก แต่ถ้าไม่ได้เลี้ยงสัตว์เอง แล้วต้องไปซื้อขี้วัวขี้ควาย บอกตรงๆ ว่า ทำสู้เคมีไม่ได้”

  1. สำหรับเกษตรกรมือใหม่ คือจะต้องรู้ว่าพื้นที่ที่อาศัยสามารถปลูกอะไรได้บ้าง ดินมีสภาพเป็นอย่างไร
  2. จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับพืชที่ตัวเองจะปลูกให้ดี
  3. ต้องรู้กระแสของโลก ว่าตอนนี้ตลาดต้องการอะไร ซึ่งตอนนี้เทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรง ผู้บริโภคจะไม่เกี่ยงเรื่องราคา แพงแค่ไหนก็ซื้อ ขอแค่ให้ได้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น อะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพ และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเขาซื้อสินค้าเราไป จะได้สุขภาพที่ดี การทำเกษตรอินทรีย์ที่ดี อยากจะบอกทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ทำให้มีใบรับรองแล้วคุณจะพูดได้เต็มปากว่า สินค้าเราเป็นสินค้าอินทรีย์ที่มีใบรับรอง มันจะทำให้ลูกค้ามั่นใจ สามารถตรวจสอบย้อนกลับสถานที่ผลิต วันเก็บเกี่ยวได้ และที่สำคัญคือ ความซื่อสัตย์ จะทำให้ลูกค้าเชื่อใจตลอดไป พี่สาวกล่าวทิ้งท้าย

สอบถามความรู้การทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 064-624-6635

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2562