พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน เปลี่ยนคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ลำดับที่ 22 ที่หมู่บ้านเมืองกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำทีมโดย ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้พาเข้าชมรวมทั้งให้ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ดิน ป่า ประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาด้านการบริหารจัดการน้ำของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายาวนานกว่า 300 ปี ให้เกิดการเรียนรู้นำไปสู่การแก้ปัญหาและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่วางแผนการเพาะปลูก ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ มีผลผลิตหลากหลาย มีรายได้ทั้งปี ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ชุมชนอยู่อย่างพอเพียง

ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
ดร.รอยล จิตรดอน ในพิธีเปิดงาน

ดร.รอยล กล่าวว่า ชาวบ้านได้ทำเหมืองหรือฝายกันมา 300 ปี หรือ ชั่ว 5 อายุคน ซึ่งสำเร็จมาแล้ว มูลนิธิอุทกพัฒน์ ร่วมกับ สสน. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ได้เข้ามาต่อยอดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ และ สสน. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เข้ามาเสริมเรื่องการต่อท่อหรือเสริมสะพานน้ำ เป็นทางน้ำที่ข้ามกัน เดิมเขาได้สร้างไว้แล้ว ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ และ สสน. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ได้มาช่วยออกแบบ ใช้ความรู้สมัยใหม่ ว่าต้องสร้างฝายอย่างไร สร้างประตูน้ำอย่างไร เข้ามาช่วยในการปลูกพืชชนิดอื่น หรือการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่หางดำจอมทอง แล้วจึงกลายเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ จะเห็นได้ว่าการที่ได้เข้ามาช่วยชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ความเสี่ยงก็ไม่เหลือแล้ว

คุณประสิทธิ์ พรมยาโน

คุณประสิทธิ์ พรมยาโน ประธานคณะกรรมการเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน สืบสานมาจากบรรพบุรุษ โดยก่อสร้างจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เพราะน้ำคือปัจจัยหลัก ถ้ามีน้ำใช้มาก เมื่อก่อนเป็นแค่บริการร่วม แต่เดี๋ยวนี้เป็นเครือข่ายจัดการน้ำชุมชน ชุมชนเป็นคนสร้างพิพิธภัณฑ์ เราจะสามารถปลูกพืชสวนครัว หรือทำการเกษตรได้หลายๆ อย่าง เช่น การปลูกข้าว ปลูกผลไม้ อย่างลำไย สำหรับพื้นที่ในการทำการเกษตร 5 ไร่ เป็นเกณฑ์สำหรับ 1 คน ถ้ามากกว่า 5 ไร่ขึ้นไป เกณฑ์สำหรับ 2 คนขึ้นไป

ผู้จัดงานได้พาชมงานที่ฝายแม่หาด ที่บ้านเมืองกลาง มีจุดให้ความรู้ 4 จุดด้วยกัน

จุดที่ 1 ฝายแม่หาด ผันน้ำเปลี่ยนชีวิต

จุดที่ 1 ฝายแม่หาด ผันน้ำเปลี่ยนชีวิต

สมัยบรรพบุรุษ ปู่แนว จิตธร ซึ่งเสียชีวิตนานแล้ว เข้ามาเริ่มขุดลำเหมืองรอบเขา 600 เมตร ด้วยการเผาหิน ก่อไฟเผา โดยนำน้ำผ่านเข้าด้านข้างของลำน้ำแม่กลาง เป็นช่องผันน้ำสู่ลำเหมืองแม่หาด ระยะรวม 9.8 กิโลเมตร หรือ 9,800 เมตร โดยมีแต (แต คือ จุดแบ่งน้ำจากลำเหมืองแม่หาด) เป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ลำเหมือง มีการจัดสรรน้ำ แบ่งเป็นรอบเวรตามฤดูกาล ใช้ประโยชน์ใน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกู่ฮ้อสามัคคี บ้านเมืองกลาง และบ้านแม่หอย รวม 578 ครัวเรือน 1,950 คน ครอบคลุมพื้นที่ 3,800 ไร่

จุดที่ 2 แต ต๊าง แบ่งน้ำเท่าเทียม

จุดที่ 2 แต ต๊าง แบ่งน้ำเท่าเทียม

แต คือ จุดแบ่งน้ำจากลำเหมืองแม่หาด เข้าสู่ลำเหมืองซอย เพื่อส่งน้ำไปใช้

ต๊าง คือ จุดแบ่งน้ำจากลำเหมืองซอยเข้าสู่พื้นที่การเกษตร

ที่นี่มีเหมืองแก่ฝาย เป็นผู้ควบคุมการ เปิด-ปิด แต

แก่ฝาย เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการน้ำ เวลาน้ำไม่พอใช้ จะแจ้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ กรณีถ้า 1 ปี ชาวบ้านจะลอกเหมืองลอกคลอง 1 ปี 2 ครั้ง กติกามีอยู่ว่า ถ้าสมาชิกคนไหนขาดหรือไม่มา จะปรับวันละ 300 บาท ถ้ามีตะกอน หิน ดิน หรือทราย จะขุดร่องเป็นการดูแล บำรุง รักษา

สมาชิกที่อยู่ในกลุ่มและบริหารจัดการน้ำ ต้องช่วยกันลอกคลอง ใช้จอบ เสียม ในการลอกคลอง แทบจะไม่ใช้งบประมาณ ใช้แรงคนอย่างเดียว แล้วร่วมกันวิเคราะห์ปริมาณน้ำต้นทุนและพืชที่จะปลูก เพื่อให้น้ำเพียงพอต่อความต้องการ พร้อมทั้งกำหนดวันและลำดับการเปิดน้ำแต่ละจุด 

จุดที่ 3 น้ำลอด น้ำล้น กระจายน้ำ

จุดที่ 3 น้ำลอด น้ำล้น กระจายน้ำ

ระบบน้ำลอด น้ำล้น ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2542 เมื่อก่อนไม่มีท่อน้ำลอด น้ำล้น ใช้กระสอบทรายกั้นเป็นแนวเพื่อเอามาไปใช้ ให้อยู่ในพื้นที่การเกษตร เมื่อเข้าร่วม กับ สสน. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) จึงได้ท่อน้ำลอด น้ำล้นมาใช้ เวลาแตน้ำหลาก ในช่วงฤดูฝน ปล่อยท่อลงสู่ลำห้วยสาธารณะ แล้วไหลสู่แม่น้ำปิง โดยใช้ภูมิปัญญาชาวน้ำจากหลักการที่ว่า นำน้ำที่ต้องการใช้ลอดใต้ลำห้วย เพื่อไม่ให้ลำเหมืองถูกตัดขาด และบังคับทิศทางน้ำไปยังพื้นที่เกษตรอย่างทั่วถึง เวลาน้ำหลากสามารถล้นข้ามลำเหมืองลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วม ในพื้นที่เกษตร ลดตะกอนเข้าสู่ลำเหมืองแม่หาด และยังช่วยผันน้ำไปยังพื้นที่เกษตรในฤดูแล้งได้ 

จุดที่ 4 วิถีเกษตรชุมชน บนความยั่งยืน

จุดที่ 4 วิถีเกษตรชุมชน บนความยั่งยืน

คุณเอ๊าท์ หรือ คุณนิติ เที่ยงจันตา ผู้ประสานงานสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ อายุ 32 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของฟาร์มอำเภอใจ เล่าว่า ฟาร์มของเขา เกิดจากกิเลส อยากทำก็ทำ เขาอยู่กับการเกษตรอยู่แล้ว โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5 ไร่ ไม่ได้แบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน ซึ่งในฟาร์มมีทั้งนาข้าวที่ปลูกเอาไว้กินเอง พืชผักสวนครัวต่างๆ มีสัตว์หลายชนิด เช่น ปลา กบ ไก่ หมู วัว โดยรายได้หลักๆ แล้วจะมากับการเลี้ยงไก่ ซึ่งจะทำตลอดทั้งปี ไก่จะส่งออกให้กับโรงงานเบทาโกร ซึ่งไก่จะเป็นการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย ไก่ที่เลี้ยงคือไก่หางดำจอมทอง โดยโรงฟักไก่จะอยู่อีกที่แยกจากฟาร์มอำเภอใจ รายได้ 2,500 บาท ต่อสัปดาห์ ปลาจะเลี้ยงเฉพาะฤดูฝนกับฤดูหนาวเท่านั้น ผักสวนครัวจะเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการขายที่ตลาดนัดชุมชนทุกวันพุธ

เขาพัฒนาพื้นที่มาเรื่อยๆ ซึ่งฟาร์มนี้มีมา 7 ปีแล้ว ได้ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เรื่องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการทำเกษตร มีการวางแผนเพาะปลูกให้เหมาะกับปริมาณน้ำที่มีและมีผลผลิตหลากหลาย รวมทั้งพัฒนาด้านปศุสัตว์ ต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ตลอดปี ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ชุมชนอยู่ได้อย่างเพียงพอ

คุณเอ๊าท์ เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายนี้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

คุณเอ๊าท์ หรือ คุณนิติ เที่ยงจันตา ผู้ประสานงานสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

ประโยชน์ของการทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนเกิดประโยชน์ขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งชาวบ้านได้มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมต่างๆ ปลูกพืชผักสวนครัว ใช้อุปโภค-บริโภค ใช้ในการทำสวนผลไม้ต่างๆ สามารถทำให้คนรุ่นหลังเกิดสำนึกรักและหวงแหน แม่น้ำ ป่า ดิน ลำธารมากยิ่งขึ้น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น มีรายได้ให้กับครอบครัวในส่วนต่างๆ มากยิ่งขึ้น ลดการตัดไม้ทำลายป่าได้ ลดการเกิดไฟไหม้ที่จะเกิดขึ้น สามารถรู้จักการปรับใช้ในการทำการเกษตร โดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้ 120,000 บาท ต่อปี ต่อครัวเรือน

จะเห็นได้ว่า การจัดสรรน้ำของบรรพบุรุษให้ออกมาดี ส่งผลหลายๆ อย่างในกับคนยุคปัจจุบัน ทั้งมีน้ำใช้ มีรายได้จากการทำการเกษตร โดยมีน้ำจากลำเหมืองไหลมาในแปลงเกษตร น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อทุกชีวิต มีผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง และในขณะเดียวกัน ก็มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ในปัจจุบันการขาดแคลนน้ำกลายเป็นประเด็นที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว เราทุกคนจึงต้องช่วยกันในการจัดสรรน้ำปันน้ำให้พอดี อนุรักษ์น้ำและป่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในท้องถิ่นต่อไป

ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมเรื่องพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำ ได้ที่ คุณประสิทธิ์ พรมยาโน หมายเลขโทรศัพท์ (089) 261-2467

สอบถามเพิ่มเติมเรื่องการเกษตร ได้ที่ คุณเอ๊าท์ หรือ คุณนิติ เที่ยงจันตา หมายเลขโทรศัพท์ (088) 407-8594

หมูในฟาร์มอำเภอใจของคุณเอ๊าท์