หมู่บ้านวิชาการเกษตร 2020 คืนชีพที่ สวพ.8

เมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว หมู่บ้านวิชาการเกษตรมีกระจายอยู่ตามพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตร ที่เรียกย่อๆ ว่า สวพ. มี สวพ.1-8 ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ไปจนถึงภาคใต้ แล้วอยู่ๆ หมู่บ้านวิชาการเกษตรก็สูญหายไป

สมาชิกหมู่บ้านวิชาการเกษตร หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

หมู่บ้านวิชาการเกษตรยุคเริ่มต้น

ดร.วิชัย นพอมรบดี อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร สมัย ดร.วิจิตร เบญจศีล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เล่าว่า ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านวิชาการเกษตรในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวพ. เขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ คิดริเริ่มโครงการหมู่บ้านวิชาการเกษตรขึ้นเนื่องจากเป็นที่รู้กันในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ว่างานวิจัยเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ผลงานวิจัยที่สำเร็จแล้วจะต้องถ่ายทอดไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรอีกต่อหนึ่ง การส่งข้อมูลในสมัยนั้นจะเป็นเพียงการส่งเอกสารและการฝึกอบรมซึ่งยังไม่เห็นผลชัดเจน ก็มาคิดว่าทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีที่กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยแล้วส่งไปให้เกษตรกรได้ปรับใช้ในหมู่บ้านในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่

ในสมัยนั้นชาวบ้านทำการเกษตรหลายอย่าง ปลูกข้าว ทำพืชไร่ พืชสวน และอื่นๆ หลายชนิด ที่เรียกกันว่าไร่นาสวนผสมตามมีตามเกิด

คุณอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เยี่ยมชมหมู่บ้านวิชาการเกษตร จังหวัดสงขลา

หมู่บ้านวิชาการเกษตรเริ่มปี 2538

หมู่บ้านแรกเริ่มที่หมู่บ้านดงเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ดร.วิชัยซึ่งเป็น ผอ.สวพ.1 ได้ส่งนักวิชาการเกษตรของ สวพ.1 เข้าไปศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในหมู่บ้านดงเจริญ วิเคราะห์ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่ดิน สภาพของดินที่ทำการเพาะปลูก พันธุ์พืชที่ชาวบ้านปลูกเป็นพื้นเมืองหรือพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำข้อมูลต่างๆ ได้มาจากกรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดิน นักวิชาการจากศูนย์และสถานีต่างๆ ในภาคเหนือที่อยู่ในเขต สวพ.1 ได้ช่วยกันทำงานโดยใช้งบประมาณของศูนย์สถานีและเชิญเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่มาทำงานร่วมกันเพราะเขาใกล้ชิดกับเกษตรกรและมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าการจัดตั้งหมู่บ้านวิชาการเกษตรเป็นวิธีการที่ได้ผล นักวิชาการเข้าถึงเกษตรกร เข้าถึงปัญหาและแก้ปัญหาได้ตามความต้องการของเกษตรกร

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี เยี่ยมชมหมู่บ้านวิชาการเกษตร ที่จังหวัดสงขลาในอดีต

เริ่มขยายไปทั่วประเทศ

จาก สวพ.1 ดร.วิชัย ได้ย้ายเข้ามาเป็นผู้อำนวยการกองแผนงานในกรมวิชาการเกษตร ได้พยายามของบประมาณมาดำเนินงานขยายหมู่บ้านวิชาการเกษตรไปทั่วประเทศ หมู่บ้านวิชาการเกษตรเป็นที่พึ่งของเกษตรกรอย่างแท้จริงในยุคนั้น หมู่บ้านวิชาการเกษตรดำเนินการมาได้ 5 ปี ต่อมาได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการ หมู่บ้านวิชาการเกษตรได้หายออกไปจากระบบ มิได้มีการดำเนินการต่อเนื่อง อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอย่างเสียดาย

“เมื่อทราบว่า สวพ.8 ได้ริเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เป็นที่น่ายินดีที่งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรจะได้ถ่ายทอดไปถึงมือเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจะได้ร่วมมือกันทำงาน”

แปลงเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่จังหวัดพัทลุง

หมู่บ้านวิชาการเกษตรยุค 2 ที่ สวพ.8

หลังจากที่หมู่บ้านวิชาการเกษตรหายไปประมาณ 20 ปี คุณจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) จังหวัดสงขลา และ คุณธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 ก็ได้ทำการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยกลับมาใช้รูปแบบของ “หมู่บ้านวิชาการเกษตร” อีกครั้งหนึ่ง งานวิจัยจากหิ้งสู่ไร่นา

คุณจิระ กล่าวว่า การนำผลงานวิจัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์เป็นเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กรมวิชาการเกษตรมีผลงานศึกษาทดลองค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวิชาการเกษตรในด้านต่างๆ แต่ละปีมีผลงานออกมาอย่างมากมาย วัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะนำไปแก้ปัญหาและพัฒนาอาชีพการเกษตรของเกษตรกร และท้ายสุดสู่เป้าหมายคือ การสร้างรายได้แก่ครัวเรือน รวมถึงการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ

คุณจิระ กล่าวต่อไปอีกว่า หากผลงานวิจัยไม่ได้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรก็จะไม่เกิดประโยชน์ งานวิจัยแต่ละเรื่องกว่าจะประสบความสำเร็จ บางเรื่องใช้เวลาค้นคว้าทดลองนานนับสิบปี อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หากงานวิจัยที่สำเร็จแล้วไม่นำมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรหรือประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ก็นับว่าไม่คุ้มค่า ดังนั้น จึงต้องมีการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ให้กระจายไปถึงผู้ใช้ส่วนใหญ่คือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ ให้มากที่สุด และหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนนั้นก็คือ หมู่บ้านวิชาการเกษตร

คุณธัชธาวินท์ กล่าวว่า หมู่บ้านวิชาการเกษตรเป็นรูปแบบหนึ่งของการถ่ายทอดเทคโนโลยีลงสู่ชุมชนต้นแบบที่กรมวิชาการเกษตรคัดเลือกมาเป็นตัวแทนของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด รูปแบบการถ่ายทอดได้เปลี่ยนจากการเรียนรู้ในศูนย์วิจัยเปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้ในชุมชนจากนักวิชาการสู่เกษตรกรและจากเกษตรกรสู่เกษตรกร

“โกปี้บ้านโตน” กาแฟโบราณ หมู่บ้านต้นแบบวิชาการเกษตร จังหวัดสตูล

“ข้อดีของการดำเนินงานรูปแบบนี้ คือผลงานวิจัยที่ได้ศึกษาทดลองได้ถูกนำมาใช้ในสภาพแปลงของเกษตรกรจริง เกษตรกรได้ทำการปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของตนเองและเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรรายอื่นๆ นำไปใช้ต่อได้ง่าย เกษตรกรกับเกษตรกรสามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจได้ง่ายขึ้น”

ขั้นตอนการดำเนินการของ สวพ.8

คุณธัชธาวินท์ เล่าว่า เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานการเกษตรของจังหวัดมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เพื่อคัดเลือกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ที่จะดำเนินการ เมื่อได้ปักหมุดหมู่บ้านแล้วก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิเคราะห์หมู่บ้าน โดยจัดทีมศึกษาแบบสหสาขาวิชา คือมีทั้งชาวบ้าน ผู้นำในพื้นที่ นักปกครอง นักส่งเสริม และนักวิชาการเกษตรหลายสาขามารวมกัน

“เราใช้เวลาประมาณ 3 วันตั้งแต่เก็บข้อมูลหมู่บ้านมาศึกษาทำความเข้าใจเพื่อให้ได้รู้ถึงพื้นฐานทางภูมิสังคม จากนั้นก็จะทำการสำรวจศึกษาสภาพพื้นที่ของหมู่บ้าน วิเคราะห์การผลิตพืชและห่วงโซ่การผลิต แล้วนำประเด็นต่างๆ มาลำดับความสำคัญ รวมทั้งกำหนดวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนาการผลิต ตรงนี้แหละถึงเวลาที่จะนำผลงานวิจัยต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้ในการผลิตพืชของหมู่บ้าน” คุณธัชธาวินท์ กล่าว

คุณชัชธาวินท์ สระโณ ผู้ฟื้นฟูหมู่บ้านวิชาการเกษตร 2020 จังหวัดสงขลา

การนำผลงานวิจัยลงสู่หมู่บ้าน

นอกจากจะเป็นเรื่องที่ตรงกับประเด็นปัญหาแล้ว ผลงานวิจัยต่างๆ จะต้องผ่านการคัดกรองจากเกษตรกรเพื่อที่จะเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับตนเองและในขั้นตอนการนำไปใช้ จะมีนักวิชาการไปร่วมปฏิบัติงานกับเกษตรกรตลอดฤดูการเพาะปลูก

“ปัญหาทุกพืชทุกประเด็นที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงถูกแก้ไขด้วยผลงานวิจัย”

ที่มาของชื่อหมู่บ้านวิชาการเกษตร เรื่องที่นำมาบูรณาการสู่การใช้ประโยชน์จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านวิชาการเกษตร คือมีวิชาการที่หลากหลายสาขามาอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่เพียงแต่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้นแต่ยังมีงานด้านพัฒนาที่ดิน ปศุสัตว์ ประมง และอื่นๆ มารวมกันในหมู่บ้านนี้อีกด้วย

คุณธัชธาวินท์ กล่าวย้ำว่า ปรัชญาหมู่บ้านวิชาการเกษตรก็คือวิชาการเกษตรถูกนำมาปรับใช้โดยเกษตรกรและถ่ายทอดจากเกษตรกรต้นแบบสู่เกษตรกรรายอื่นๆ โดยนักวิจัยมีบทบาทเป็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนา

การพัฒนาการเกษตรจะไม่ประสบผลสำเร็จถ้าใช้วิชาการเกษตรเพียงอย่างเดียว จะต้องอาศัยเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรมชุมชน สภาพพื้นที่ ตลอดจนการตลาดและความต้องการของผู้บริโภคเป็นองค์ประกอบร่วมกัน หมู่บ้านวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานโดยนำองค์รวมดังกล่าวมาใช้ในการผลิตพืช การดำเนินงานหมู่บ้านวิชาการเกษตรยุคที่ 2 นี้ขับเคลื่อนวิชาการเกษตรบนฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการผลิตพืช คือ ใช้ “4 เสาหลัก สู่ความพอเพียง” ในการพัฒนาหมู่บ้าน ประกอบด้วย

  1. หัวใจพอเพียง คือ การพัฒนาเกษตรกรผู้นำแปลงต้นแบบ และการพัฒนาหมู่บ้านเป็นต้นแบบ
  2. 9 พืชผสมผสานพอเพียง คือ การปลูกพืช 9 กลุ่มพืชให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มพืชรายได้ พืชอาหาร พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืชสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช พืชอาหารสัตว์ พืชไม้ใช้สอย พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น และพืชพลังงาน
  3. ภูมิปัญญาภิวัตน์พอเพียง คือการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่นำผลงานวิจัยมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเกษตรกรจะเป็นนักวิจัยทำการทดลองด้วยตนเอง
  4. ดำรงชีวิตพอเพียง คือ ความตั้งใจในการใช้ชีวิตตามหลักพอประมาณ มีเหตุผลมีผล มีภูมิคุ้มกันรอบรู้ รวมทั้งคุณธรรมหมู่บ้านวิชาการเกษตร สวพ.8 เริ่มแล้ว 4 จังหวัด 8 หมู่บ้าน

คุณธัชธาวินท์ บอกว่า ในปี 2562 สวพ.8 ได้จัดทำหมู่บ้านวิชาการเกษตรไปแล้ว 4 จังหวัด 8 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดสงขลา หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งหวัง ได้พัฒนาแปลงต้นแบบพืชผสมผสานพอเพียง มีพืชอาหารหลากหลายชนิด พืชรายได้ ได้แก่ แตงกวา ถั่ว บวบ พืชสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ บอระเพ็ด ข่า หางไหล ตะไคร้หอม หนอนตายหยาก ยาสูบ เป็นต้น พืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น เช่น ยางนา ไม้ใช้สอย ได้แก่ ต้นตำเสา ตะเคียน พะยอม ไม้แดง พืชอนุรักษ์ดินน้ำ ได้แก่ ปอเทือง พืชสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน มะม่วงหาวมะนาวโห่ หญ้าหนวดแมว เป็นต้น พืชอาหารสัตว์ ได้แก่ หญ้าเนเปียร์ นอกจากจะเป็นพืชอาหารสัตว์แล้วยังใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพอีกด้วย

จังหวัดพัทลุง หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 10 ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ แปลงต้นแบบเป็นเกษตรอินทรีย์ “ชุมพลโมเดลพัทลุง” คือเริ่มทำเกษตรอินทรีย์จากแปลงเล็กๆ บริเวณบ้าน เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้ฝึกทักษะสร้างประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์และได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการผลิตก่อนจะขยายไปสู่เกษตรแปลงใหญ่เชิงการค้า โดยเริ่มที่แปลงพืชผักสวนครัวอินทรีย์ หนึ่งครัวเรือนหนึ่งแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร เช่น การใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา เชื้อบาซิลลัส เมตาไรเซียม และน้ำหมักจากพืชสมุนไพร เป็นต้น

จังหวัดตรัง หมู่ที่ 8 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว หมู่บ้านต้นแบบเป็นการผลิตพืชเสริมรายได้ของชาวสวนยางพาราซึ่งจะมีพืชหลากหลาย เช่น ลองกอง มังคุด เป็นพืชหลัก และปลูก 9 พืชผสมผสาน พร้อมมีการนำเทคโนโลยีด้านชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์

จังหวัดสตูล หมู่ที่ 6 ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน หมู่บ้านต้นแบบเป็นเกษตรอินทรีย์ และหมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบคือ กาแฟโบราณ กับ 9 พืชผสมผสาน

นอกจากนั้น สวพ.8 ยังได้จัด “เวทีวิจัยสัญจร” เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิด และประสบการณ์เพื่อพัฒนาการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดประชุมที่บ้านเกษตรกรหมุนเวียนกันไปเดือนละครั้ง ในการจัดเวทีวิจัย ประกอบด้วย เรื่องเล่าจากเจ้าของบ้านแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาการทำการเกษตรกับสมาชิกหมู่บ้านวิชาการเกษตรแต่ละแห่ง มีการสาธิตความรู้วิชาการใหม่ ๆ

เน้นในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดเวทีวิจัยสัญจรทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากเกษตรกรสู่เกษตรกร เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชซึ่งกันและกัน

สิ่งที่ได้นอกเหนือจากความรู้จากการพัฒนาอาชีพการเกษตรแล้วยังมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนชนบท ความรัก ความสามัคคี ความเป็นเพื่อนเป็นพี่น้อง การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังจะหายไปในสังคมปัจจุบัน หมู่บ้านวิชาการเกษตรได้ช่วยให้สิ่งเหล่านี้กลับคืนมา

ผู้เชี่ยวชาญธัชธาวินท์ กล่าวว่า เกษตรกรพึงพอใจในรูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านวิชาการเกษตร ที่หน่วยงานเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านแบบนี้มาก อยากให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง “หมู่บ้านวิชาการเกษตร” จะเป็นศูนย์รวมของเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรและเป็นศูนย์รวมของสหสาขาวิชาครบทุกภาคการผลิตทางการเกษตรของชุมชนที่หน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันสร้างเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนา เป็นสถานที่ให้ชุมชนอื่นมาศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานเพื่อขยายผลต่อไป เป็นเสมือนสถานีสาธิตของศูนย์วิจัยที่จัดการโดยชุมชนหมู่บ้าน ทั้งยังเป็นเวทีให้เกษตรกรเพิ่มทักษะและความสามารถในการเป็นผู้นำเพิ่มมาอีกด้วย

เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่สนใจจะเยี่ยมชมและศึกษาดูงานหมู่บ้านวิชาการเกษตรของ 4 จังหวัด สวพ.8 สงขลา ติดต่อได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) จังหวัดสงขลา โทร. (074) 445-905-6