สวทช. มุ่งขับเคลื่อน BCG โมเดล ด้านการท่องเที่ยว หนุนผู้เชี่ยวชาญไอทีช่วยผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวในภูเก็ต สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP จาก บริษัท อินเทลลิเจ็น ซิสเท็ม คอร์ปเปอร์เรชั่น จำกัด ในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานจองและจัดการข้อมูลการจองในธุรกิจเดินเรือและรับส่งผู้โดยสารทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการท่องเที่ยวออนไลน์ (Tourism Online ERP) สำหรับ บริษัท นิกรมารีน จำกัด เพื่อพัฒนาระบบ ERP การท่องเที่ยวออนไลน์ ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศเพื่อการบรูณาการข้อมูล และกระบวนการทำงานภายในองค์กร ตั้งแต่เตรียมฐานข้อมูลบริการ คู่ค้า และลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล เกิดเป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกันที่เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดกลยุทธ์ในอนาคตได้ สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

07-ริสแบนด์ RFID Tourist Tracking Technology

ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ของ สวทช. เพื่อให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต โดยมีภารกิจหลักคือ การสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) กับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) ในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการวิจัยและพัฒนา เข้าไปให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาถึงในโรงงานหรือสถานประกอบการ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ขั้นต้นที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ดึงดูดเงินตราต่างประเทศ และทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำและมีรายได้ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีกับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ITAP สวทช. สามารถเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการในการให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น โปรแกรมช่วยบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างความแตกต่าง เป็นต้น เพราะเมื่อหากกล่าวถึงประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทย ได้รับการจัดให้เป็นดินแดนในฝันอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ดี เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือการให้บริการที่มีคุณภาพ และระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ITAP จึงได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาและปรับปรุงซอฟต์แวร์ด้านการวางแผนทรัพยากรองค์กรหรือ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นการนำระบบสารสนเทศเข้าไปประยุกต์กับการบริหารจัดการของ ผู้ประกอบการ ให้เป็นระบบและง่ายต่อการใช้งาน รวมไปถึงมีการสร้างระบบออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มลูกค้ารวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว” ดร. ฐิตาภา กล่าว

สวทช. มุ่งขับเคลื่อน BCG โมเดลด้านท่องเที่ยว หนุนผู้เชี่ยวชาญไอทีช่วยผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวในภูเก็ต

นายเอกศักดิ์ โอศิริพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. และ CEO บริษัท อินเทลลิเจ็น    ซิสเท็ม คอร์ปเปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท นิกร มารีน จำกัด เป็นบริษัททัวร์ขนาดใหญ่ในเกาะภูเก็ต ให้บริการทัวร์ท่องเที่ยว บริการรถรับส่ง บริการเรือ สปีดโบ๊ด และเรือยอร์ช รวมถึงร้านอาหาร ช็อปขายสินค้า และบริการกีฬาทางน้ำบนเกาะ ได้ประสบปัญหาจากการใช้ซอฟต์แวร์หลายระบบ ต่างเทคโนโลยีกัน และทำงานซ้ำซ้อน ทำให้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจไม่สามารถปรับปรุงผลิตภาพ (Lean & Utilization) อย่างเรียลไทม์ ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและคุณภาพที่ส่งมอบให้ลูกค้า ฉะนั้น บริษัท อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. จึงเข้ามาช่วยในแต่ละขั้นตอน (Walk-Through Process) และคุยกับทีมผู้บริหาร ก่อนเกิดโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานจอง และจัดการข้อมูลการจองในธุรกิจเดินเรือและรับส่งผู้โดยสารทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการท่องเที่ยวออนไลน์ สำหรับ บริษัท นิกรมารีน จำกัด ขึ้นมา หรือจะเรียกชื่อว่าโครงการ Nikorn Marine Tourism Online ERP ก็ได้

“โครงการ Tourism Online ERP เป็นระบบบริหารจัดการงานจอง (Booking process management) ที่เป็นเฟสแรกของระบบอีอาร์พีใหญ่ ที่เริ่มตั้งแต่จัดเตรียมฐานข้อมูลสินค้าบริการ คู่ค้า และลูกค้าตามกลุ่มตลาด B2B และ B2C ทั้งในและต่างประเทศ ปรับปรุงขั้นตอนการจองบุ๊คกิ้ง (Booking) และลดความซ้ำซ้อนของการกรอกข้อมูล รวมถึงยังนำข้อมูลบุ๊คกิ้งไปทำการจัดรถไป-กลับ จัดไกด์เพื่อให้บริการประจำกรุ๊ป และนำข้อมูลบุ๊คกิ้งจัดเรือไป-กลับ ตลอดจนฟังก์ชั่น Check-in and Check-out นักท่องเทียวที่เข้ารับบริการทัวร์ รายงานส่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทประกันภัย ตัวอย่างเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เช่น การพัฒนา RFID Tourist Tracking Technology ในรูปแบบของ Digital Smart Wristband ซึ่งเป็น      ริสแบนด์ หรือสายรัดข้อมือ ที่ใช้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ารับบริการล่องเรือของบริษัทฯ สามารถระบุข้อมูลระดับบุคคลของนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้บริการทัวร์ รวมถึงส่งรายงานให้หน่วยงานราชการ เช่น กรมเจ้าท่า ได้เรียลไทม์ และส่งรายงานให้บริษัทประกันภัย ได้เรียลไทม์ด้วย ซึ่งประโยชน์จากการใช้งาน Tourism Online ERP ทำให้ได้ข้อมูลในการดำเนินงานทางธุรกิจทุกอย่างอยู่ในระบบเดียวกัน เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน (One Solution & Single Database) จึงสามารถเป็น Big data ให้กิจการนำไปวิเคราะห์ต่อยอดกลยุทธ์ในอนาคตได้อย่างง่ายดาย และเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวออนไลน์ของไทยต่อไป ความร่วมมือต่อจากนี้ระหว่างโปรแกรม ITAP สวทช. กับ บริษัท อินเทลลิเจ็นฯ และบริษัทนิกรมารีน คือ การยกระดับคุณภาพการให้บริการทัวร์ และความปลอดภัยในการท่องเที่ยวผ่านระบบบริหารจัดการและเทคโนโลยีต่างๆ   ที่บริษัทเลือกมาใช้ รวมไปถึงการเสิร์ฟทัวร์ท่องเที่ยวภูเก็ตให้ออกไปสู่ตลาดโลก ผ่าน           E-Commerce Platform ของบริษัท” ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าว

ด้านผู้ประกอบการ นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัทในเครือ นิกร มารีน กรุ๊ป กล่าวถึงที่มาในการขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. ว่า จากปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้กระดาษในสำนักงานที่มากเกินไป การทำบุ๊คกิ้งด้วยมือหรือการเขียน ทำให้บุ๊คกิ้งมีความผิดพลาดเนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูล และการตรวจเช็คข้อมูลล่วงหน้าหรือย้อนหลังทำได้ยากและล่าช้า เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลแบบเดิมเป็นเอกสารบางครั้งสูญหายหรือชำรุด ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานระบบ Tourism Online ERP ทำให้ใช้บุคลากรน้อยลง เป็นการลดต้นทุนของบริษัทฯ ระบบบุ๊คกิ้งมีความชัดเจน การเรียกข้อมูลมาใช้งานมีความถูกต้อง รวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดลงได้ สามารถเรียกดูข้อมูลต่างๆ ได้สะดวก เพิ่มความรวดเร็วในการประสานงานในแผนกต่างๆ และทำงานได้ง่ายขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเนื่องด้วยโปรดักส์ของบริษัทฯ มีหลายโปรแกรม จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องฐานข้อมูลให้ครอบคลุม เพราะทางบริษัทฯ คาดหวังการใช้งานจากระบบได้จริง มีการประชุมและพูดคุยกับทีมผู้ดูแลระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และมีการพัฒนาระบบทดลองใช้ ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนของบุคลากรที่ต้องใช้ระบบ ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อดีของการใช้ระบบกับทุกแผนก พร้อมจัดให้พนักงานเข้าฝึกอบรมทดลองใช้งาน จนสามารถเรียนรู้และเข้าใจการใช้ระบบบุ๊คกิ้งดังกล่าวจนมีความชำนาญ

“เมื่อมีการใช้นวัตกรรมไอที พนักงานผู้ใช้ระบบสามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และลดข้อผิดพลาดในการทำงาน รวมถึงการจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น ลดการทำงานซ้ำซ้อน รวมถึง ทางบริษัทหรือผู้ประกอบเองยังสามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารโปรโมชั่นต่างๆ ได้ตลอดเวลา ช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนค่าสื่อโฆษณาได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยตรงและสะดวกรวดเร็ว ทำให้สร้างโอกาสและช่องทางในการขายได้เพิ่มขึ้น ในอนาคต ทางบริษัทฯ จะมีการนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง มาพัฒนาปรับใช้กับการสื่อข่าวสารโฆษณาต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทกับลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุดด้วย” นาง     วิรินทร์ตรา กล่าว

Advertisement