“ดูปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติ” @ อ.ขลุง จันทบุรี กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

งาน “เทศกาลดูปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติ” @ อ.ขลุง จันทบุรี เมื่อวันที่ 13-17 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา มีคุณณัฐพงษ์ ศิริบุญ นายอำเภอขลุง เป็นประธานพิธีเปิด กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จัดต่อเนื่องมาทุกปีเป็นปีที่ 14 ไฮไลต์คือ เที่ยวชมดูปูแป้น ที่มีการย้ายถิ่นแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และกิจกรรมล่องแพเที่ยวชมธรรมชาติผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ชมฝูงนกเหยี่ยวแดง แพขวดพลาสติกเลี้ยงหอยนางรม และกิจกรรมตักปูแป้นเพื่ออนุรักษ์

ชุมชนเข้มแข็งมีส่วนร่วม
พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

คุณพินัย พะยม นายกเทศมนตรีตำบลเกวียนหัก คณะกรรมการจัดงานเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานมาตั้งแต่ครั้งแรก เล่าว่าพื้นที่บริเวณตำบลเกวียนหัก มี 10 หมู่บ้าน มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่ พืชพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อยทำให้เกิดปรากฏการณ์ปูแป้นย้ายถิ่นแพร่พันธุ์จากบริเวณน้ำกร่อยลอยตามกระแสน้ำออกสู่ทะเลในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี และเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดและลงสูงสุด เมื่อปี 2548

คุณพินัย พะยม นายกเทศมนตรีตำบลเกวียนหัก

เทศบาลตำบลเกวียนหัก (ขณะนั้น เป็นนายก อบต. เกวียนหัก) ร่วมกับชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ประกอบการเรือเล็กและกลุ่มชาวบ้านจัดงานดูปูแป้นชมธรรมชาติขึ้นมาครั้งแรก โดยไม่มีงบประมาณ ได้รับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมนั่งเรือดูปูแป้นเป็นไฮไลต์ แปลกไม่เหมือนใครและได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเรื่อยมาถึงปีที่ 14 กิจกรรมที่จัดมีนั่งแพ-ตักปูแป้น ชมธรรมชาติป่าชายเลน การดูฟาร์มเลี้ยงหอยนางรม การพายเรือคยัค กิจกรรมทุกอย่างมุ่งสร้างความตระหนักให้กับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่ใช้ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ โดยการท่องเที่ยวจะพัฒนาตามวิถีชุมชนอย่างยั่งยืนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เสริม

“ปูแป้น” จากงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จันทบุรี เก็บข้อมูล 5 ปี พบว่า มีแหล่งกำเนิดที่บริเวณเกาะจิก อำเภอขลุง เป็นแหล่งน้ำจืด-น้ำเค็ม มารวมกัน เรียกว่า “น้ำกร่อย” จะเจริญเติบโตได้ดี และได้มาอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนที่เป็นคลองเล็กๆ ที่เป็นน้ำกร่อยในเขตบริเวณพื้นที่ตำบลเกวียนหักเป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำลงจะไหลลงมาตามน้ำออกไปทะเลไปออกไข่เพาะพันธุ์ ซึ่งปูแป้นจะหมดไปด้วย 2 กรณี คือ ป่าชายเลนถูกทำลายหมด หรือถูกทำลายด้วยยาฆ่าแมลง ดังนั้น การตักปูแป้นยังคงเป็นกิจกรรมที่คงอยู่ไปตลอด

 

ตักปูแป้น
กุศโลบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

คุณพินัย เล่าว่า ตำบลเกวียนหัก มีทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนผืนใหญ่ เป็นเขตอนุรักษ์ลุ่มน้ำชั้นเอ ก่อนหน้านี้เคยมีการทำนากุ้งจนสภาพแวดล้อมเสียไป เมื่อนากุ้งหมดไปร่องรอยความสมบูรณ์กลับคืนมา การจัดกิจกรรม ดูปูแป้น ชมธรรมชาติ ติดต่อกันมายาวนาน 14 ปี และจะจัดต่อเนื่องไป เป้าหมายหลักไม่ใช่ตัวเงิน รายได้ของชุมชน แต่เราต้องการให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและช่วยกันรักษ์ไว้ให้คงอยู่และรายได้เสริมคือสิ่งที่ตามมา และการอนุรักษ์ต้องสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนจึงจะเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

“1 ปี มีครั้งเดียวที่จะตักปูแป้นได้ คือหลังออกพรรษา 7 วัน และมีระยะเวลาสั้นๆ เพียงเดือนเดียว ช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมต้นไม้บริเวณป่าชายเลนที่เป็นที่อาศัยของปูแป้น เมื่อน้ำลงไหลแรงปูแป้นจะลอยมาตามน้ำใช้ไฟส่องดูห่างจากเรือ เมื่อเห็นจะต้องรีบใช้สวิงช้อนให้ทัน การตักปูแป้นนี้เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นอาชีพจับมาขาย ได้กิโลกรัมละ 150-200 บาท ส่วนการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวตักเป็นกุศโลบายสร้างจิตสำนึกและช่วยอนุรักษ์พันธุ์ปูแป้นให้คงอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินกับธรรมชาติและสนุกสนานกับการตักปูแป้นแล้วจะมอบให้ เราจะนำกลับไปปล่อยในแหล่งน้ำให้แพร่พันธุ์และเจริญพันธุ์เพื่อสร้างความสมดุลต่อไป” คุณพินัย กล่าว

 

ล่องแพ ชมปู ดูเหยี่ยว เที่ยวเกวียนหัก
มาจันทบุรีเที่ยวเชื่อมโยง

คุณสมหวัง ประสานวงษ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 เล่าว่า การบริหารจัดการของชมรมผู้ใหญ่บ้าน มี คุณชรินทร์ สิงขุดร กำนันตำบลเกวียนหักเป็นประธาน และมีผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนันในหมู่บ้าน ทั้งหมด 10 หมู่บ้าน สมาชิก 33 คน จะร่วมมือกันในการจัดงานดูปูแป้น ตั้งแต่กลุ่มผู้ขับเรือแพ คนให้อาหารเหยี่ยว กลุ่มทำอาหาร และฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทางชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้คิดทำแพ ขนาดบรรจุ 30-40 คน 2 ลำ ใช้ท่อเอสล่อนเป็นทุ่นและใช้ฟากไม้ไผ่ปูพื้นเรือ เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ค่าบริการ คนละ 50 บาท ตั้งแต่เวลา 15.00-16.00 น. ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ สามารถนั่งแพไปชมธรรมชาติป่าชายเลน ดูการให้อาหารฝูงนกเหยี่ยวแดง การเลี้ยงหอยนางรมด้วยแพขวดพลาสติก และช่วงเวลาค่ำคืนน้ำลงไหลเชี่ยวจะเห็นปูแป้นไหลมาตามน้ำให้นักท่องเที่ยวได้ตัก หรืออาจจะเช่าเหมาแพเป็นหมู่คณะ ราคา 2,500  บาท/เที่ยว ใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง เพื่อสังสรรค์ส่วนตัวอาจจะสั่งให้จัดอาหารท้องถิ่นลงเรือไปในเรือได้ หากใครชอบพายเรือคยัคเล่น อัตราค่าเช่า ลำละ 100 บาท

คุณสมหวัง ประสานวงษ์ เป่านกหวีดเรียกนกเหยี่ยวแดง

คุณยงยุทธ ยมยิ่ง สมาชิกชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเกวียนหัก กล่าวว่า ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นจากงานเทศกาลดูปูวันแรก 30-40 คน เพิ่มสูงขึ้น 100 คน ตามแผนที่กลุ่มผู้จัดงานวางไว้ ต้นปี 2563 นี้ จะเปิดบริการ ในช่วงวันหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม จะเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับงานนมัสการรอยพระพุทธบาท (พลวง) เขาคิชฌกูฏ ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับฤดูกาลผลไม้ของจันทบุรี ซึ่งอำเภอขลุงเป็นแหล่งปลูกผลไม้จำนวนมาก ทั้งมังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ต่อไปตำบลเกวียนหักจะมีช่วงเดือนท่องเที่ยวขยายมากขึ้นจากตักปูแป้นได้คือ หลังออกพรรษา 7 วัน และมีระยะเวลาสั้นๆ เพียงเดือนตุลาคมเดือนเดียวในรอบปี จากนี้ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ตรงกับงานนมัสการรอยพระพุทธบาท (พลวง) เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และเดือนเมษายนที่ตำบลตะปอนใกล้เคียงกันมีถนนสายวัฒนธรรม มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากอยู่แล้ว

คุณยงยุทธ ยมยิ่ง

การเตรียมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเติมเต็มให้นักท่องเที่ยวและขายแพ็กเกจให้นักท่องเที่ยวเลือกได้แบบ 2 วัน 1 คืน คือ ท่องเที่ยว ล่องแพ ชมวิถีชีวิต ชิมอาหารท้องถิ่น และนมัสการรอยพระพุทธบาท ลงมาพักโฮมสเตย์ที่ตำบลเกวียนหัก และท่องเที่ยว เที่ยวสวนผลไม้ วิถีชีวิตท้องถิ่น หรือไปหมู่บ้านบางชันที่ได้ชื่อว่าหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ชมหิ่งห้อยที่ท่าสอน อำเภอขลุง หรืออาจจะไปเที่ยวทะเลจังหวัดตราดต่อ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มเข้าด้วยกัน และให้นักท่องเที่ยวกระจายตัว และอยากกลับมาอีก เพราะอำเภอขลุงยังมีของดีอีกมาก

 

เตรียมพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว โฮมสเตย์

คุณณัฐพงษ์ ศิริบุญ นายอำเภอขลุง กล่าวทิ้งท้ายว่า การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดูปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติของตำบลเกวียนหัก มีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจะรู้จักและมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น โดยโลกของการสื่อสารที่กระจายออกไปในวงกว้างและรวดเร็ว ซึ่งตนเองได้โพสต์แหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมทาง โลคอล ไกด์ (Local Guides) ที่มีผู้ชมหลายหมื่นคน และด้วยศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวป่าชายเลนของตำบลเกวียนหักเองสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากมีเกาะช้างของจังหวัดตราดกั้นลมพายุได้

คุณณัฐพงษ์ ศิริบุญ นายอำเภอขลุง

ทางด้าน คุณพินัย พะยม กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้หากท่านใดพลาดงานเทศกาลชมปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติ ก่อนถึงเทศกาลในปีหน้า ยังมีเทศกาลที่ใกล้จะถึง 3-4 เดือน ทั้งพระบาทพลวง งานสงกรานต์ ฤดูกาลของผลไม้ที่ตำบลใกล้เคียงที่สามารถมาพักค้างโฮมสเตย์ ล่องแพดูธรรมชาติ ก่อนไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ เพราะในชุมชนเตรียมจัดทำโฮมสเตย์ในราคาประหยัดให้บริการ หากสนใจ โทร.ติดต่อ คุณพิมพ์ใจ ระถะยาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 โทร. 087-833-3634

ห้ามพลาดแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ @ ตำบลเกวียนหัก

ล่องแพ
ล่องแพ