“ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ปลูกให้ผิวแดง รสชาติหวาน เทคนิคอยู่ที่การห่อ พ่นน้ำตาลทางใบ

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เป็นผลไม้ชั้นดีและเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดเพชรบุรี รสชาติของชมพู่เพชรสายรุ้งจะมีความหวาน กรอบ ผิวมีสีแดงปนเขียวขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ชมพู่จะมีสีชมพูไปถึงแดงได้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ชมพู่จะมีสีชมพูปนเขียว แต่เรื่องความหวานไม่เป็นปัญหา ถือเป็นที่สุดอีกสายพันธุ์หนึ่ง และมีราคาจำหน่ายที่ดีมาตลอด ชาวสวนบอกว่าราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 300 บาท มาตั้งแต่ ปี50 ถือได้ว่าชมพู่เพชรสายรุ้งได้กลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจทำเงินของเพชรบุรี และทำให้เกษตรกรเมืองเพชรกลายเป็นเศรษฐีมาหลายรายแล้ว

คุณประมวล ธาตุทอง (คุณเก) อยู่บ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง สืบทอดอาชีพมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นปู่ คุณเก เล่าว่า ตนเรียนจบปริญญาตรี สาขาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร แต่จบมาแล้วไม่ได้ทำงานตามสายที่เรียนมา มุ่งสานต่ออาชีพเป็นเกษตรกรปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งที่สืบทอดกันมาของที่บ้านเลย โดยชมพู่ต้นแรกของที่บ้านปลูกมาถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 58 ปี สามารถทำเงินได้ดีมาตลอด

“ตอนนี้ปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง 1 ไร่ ขายทั้งผลสด และกิ่งพันธุ์ ผลผลิตที่ได้ 2-3 ตัน ต่อไร่ อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่มากไม่น้อยไป ส่วนเรื่องรสชาติความหวาน และผิวสวยสีแดงสวย ต้องทำให้ได้มากกว่าที่อื่น”

คุณประมวล ธาตุทอง (เก)

จุดเด่น ของ ชมพู่เพชรสายรุ้งของ “สวนชมพู่ลุงไพฑูรย์”
ผิวต้องแดง รสชาติต้องหวานไม่ต่ำกว่า 13 บริกซ์

คุณเก บอกว่า การดูแลผิวชมพู่ทำให้สวยได้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือ ทำอย่างไรให้ชมพู่มีรสหวาน ชมพู่ของที่นี่จะมีจุดเด่น 2 อย่าง คือ

  1. สีสันต้องสวย ถ้าของคนอื่นทำได้สีชมพู ที่สวนไพฑูรย์ต้องทำได้สีแดง ถ้าของที่อื่นทำได้สีแดง สวนไพฑูรย์ต้องสีแดงเข้มกว่า อย่างน้อย 20-30 เปอร์เซ็นต์ สีสันต้องสวยกว่าของที่อื่นแน่นอน ไม่อย่างนั้นจะขายแพงไม่ได้ ขายกิโลกรัมละ 300 บาท มานานกว่าสิบปีแล้ว
  2. ความหวาน ถ้าออกมาจากสวนลุงไพฑูรย์ต้องมีความหวานไม่ต่ำกว่า 13 บริกซ์ มากกว่าที่ทางหน่วยงานราชการกำหนดไว้ ซึ่งทางหน่วยงานราชการได้กำหนดไว้ว่า หากใครจะขายชมพู่เพชรสายรุ้งจะต้องทำความหวานได้ไม่ต่ำกว่า 11 บริกซ์ แต่ชมพู่สวนไพฑูรย์จะสร้างมาตรฐานส่วนตัวไว้ อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 13 บริกซ์ เพราะเหตุผลส่วนตัวคิดว่า ความหวาน 11 บริกซ์ อาจจะน้อยเกินไปเวลาที่ลูกค้าได้สัมผัสอาจจะไม่มั่นใจ ว่านี่คือ ชมพู่เพชรสายรุ้ง แต่ถ้า 13 บริกซ์ กัดเข้าไปจะรู้ได้เลยว่านี่แหละคือ ชมพู่เพชรสายรุ้ง
ชมพู่เพชรสายรุ้งสีสันสวยงาม ขนาดลูกกำลังพอดี

เทคนิคการปลูกดูแลให้ผิวสวย ต้องห่อผล 2 รอบ
รสชาติหวานกว่าที่อื่น ต้องหว่านเกลือ พ่นน้ำตาล

เจ้าของ บอกว่า ก่อนที่จะไปรู้ถึงเทคนิคการปลูกทำให้ชมพู่หวาน ผิวสวย จะต้องรู้ถึงธรรมชาติของต้นชมพู่ก่อน ชมพู่เป็นพืชที่ปลูกดูแลไม่ยาก เพราะเป็นพืชที่หากินเก่ง ทนต่อสภาพน้ำท่วมได้ดีมาก ถ้าน้ำท่วมสามารถทิ้งต้นไว้ได้เลย 3 เดือน แช่ขังไปได้เลยต้นไม่ตาย เป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่ช่วงแรกสำคัญต้องให้น้ำอย่าให้ขาด หลังจาก 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอกบำรุง

การดูแลให้ผิวสวย รสหวาน ชมพู่ใช้เวลา 3 เดือน ในการผลิดอกออกผล ดอกผลิจนใกล้บานใช้เวลา 1 เดือน และใช้เวลาบานจนห่อได้อีก 1 เดือน ก่อนห่อผลให้ฉีดน้ำล้างช่อดอก เพื่อทำความสะอาดช่อดอก จากนั้นเริ่มห่อผลชมพู่ได้เลย ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตให้งดน้ำอย่างน้อย 5-7 วัน และต้องเก็บชมพู่ที่แก่เพื่อคุณภาพ

ดอกประมาณนี้สามารถเริ่มห่อถุงมืดได้ ดอกจะเป็นลักษณะรูปฉิ่งแต่ต้องไม่เกิน 7 วัน เพราะหลังจากนั้นแมลงจะมาวางไข่จะเกิดหนอนด้านใน

วิธีการห่อให้ผลสวย ห่อครั้งแรกห่อด้วยถุงมืดทั่วไป ห่อเสร็จเริ่มให้อาหารทางใบ หรือทางโคนต้น สามารถให้ได้เลย เปรียบเสมือนผู้หญิงเวลาตั้งครรภ์ ต้องมีการบำรุงเป็นพิเศษ ต้นชมพู่ก็เช่นกันเพราะตอนนี้ต้นมีลูก จำเป็นต้องมีการบำรุงให้ดี ให้อาหารทุกๆ 7 วัน เป็นฮอร์โมน ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ก่อนเก็บผลผลิต 3-5 วัน ให้เปลี่ยนจากถุงมืดเป็นถุงใส เมื่อเปลี่ยนจากถุงมืดเป็นถุงใส ชมพู่จะมีการคายน้ำมากขึ้น เพราะอยู่ในอากาศร้อน เมื่อชมพู่คายน้ำมากขึ้น สีสันก็จะสวยมากขึ้น เพราะพืชสามารถสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง และประโยชน์อีกอย่างคือ ทำให้เจ้าของสวนเก็บง่ายขึ้น ถุงใสจะช่วยให้มองเห็นได้ง่ายขึ้นว่าชมพู่ช่อนี้เป็นอย่างไร ลูกใหญ่หรือลูกเล็ก หวานน้อยหรือหวานมาก

ห่อด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล ส่วนใหญ่จะทำมาจากกระดาษถุงปูนซีเมนต์

“ที่สวนต้องการเก็บของสดที่สุด ถ้าออเดอร์สั่งบ่าย จะตัดตอนเช้า ถ้าสั่งเช้าจะเก็บเย็นไว้นิดหน่อยและเก็บตอนเช้าเพิ่ม เพราะต้องการให้ชมพู่สดที่สุด ถ้าเก็บไว้ก่อนชมพู่ถ้าเด็ดจากขั้วที่ต้นแล้ว อยู่ในอุณหภูมิปกติได้ไม่เกิน 3 วัน เข้าวันที่ 2 ผลจะเริ่มนิ่ม เพราะในผลชมพู่มีน้ำเยอะ จึงมีการคายน้ำได้เร็ว

เทคนิคทำให้รสชาติหวาน ให้ใช้เกลือเม็ดหว่านรอบโคนต้น วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อฝนฟ้าอากาศมากไป ฝนตกมากไป แต่ถ้าไม่มีปัญหาสภาพอากาศก็ไม่ต้องใช้ ช่วงเวลาการหว่านให้หว่านช่วงก่อนห่อถุงมืด 3-5 วัน หรือหว่านพร้อมตอนที่กำลังห่อผลก็ได้ สามารถยืดหยุ่นได้ตามความสะดวก ปริมาณการหว่าน 1 กิโลกรัม ต่อ 10 ตารางเมตร หว่านครั้งหนึ่งอยู่ได้นาน อาจจะอยู่ได้ถึง 2 รุ่น ของชมพู่ อย่าง 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม หว่านไม่เกิน 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อย่างปลายปีนี้แทบไม่ต้องหว่าน เพราะในดินไม่มีน้ำ ในอากาศน้ำน้อย ชมพู่ก็จะหวานเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าไม่หวานจริงๆ เจ้าของสวนจะรู้เอง รุ่นเดือนมกราคมจะเห็นผลชัดเจนว่าจะหวานหรือไม่หวาน ถ้าไม่หวานก็เริ่มหว่านเกลือ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์หน้าแล้งชมพู่ก็จะหวานเอง

การฉีดพ่นน้ำตาล อีกเทคนิคเพิ่มความหวาน วิธีนี้ต้องดูความจำเป็น หากประเมิณแล้วว่ารุ่นนี้ถ้าไม่ฉีดพ่นน้ำตาลช่วยจะไม่หวานแน่นอนถึงค่อยทำสูตรนี้ คือต้องดูที่ห่อไปจำนวนเท่าไรแล้วมีรุ่นน้องที่ติดต่อกันหรือไม่ ถ้ามีรุ่นน้องที่ติดต่อกันต้องฉีดเพิ่ม เพราะว่าจะแย่งอาหารกัน ความหวานจะไม่พอ ฉีดพ่นน้ำตาลต้องใช้ความระมัดระวังในการทำ การฉีดพ่นสามารถทำได้บ่อย 10 วันฉีดได้ 1 ครั้ง ยกตัวอย่าง 1 รุ่นการห่อจะฉีดพ่นไม่เกิน 1-2 ครั้ง พ่นทางใบตอนห่อผลแล้ว ในส่วนผสมจะมีน้ำตาลทราย 1 กก.ผสมน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวให้น้ำตาลสุก แล้วนำมาผสมน้ำตาล 100 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร เป็นส่วนผสมที่เจือจางมาก เพื่อให้เปลี่ยนรสชาติเพียงนิดเดียว ถ้าผสมมากกว่านี้จะไม่ดี เพราะความเหนียวของน้ำตาลจะไปเคลือบใบมากไปทำให้ฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคมาเกาะและอาจทำให้เกิดแมลงมารบกวนได้

ภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้คุณเกบอกว่า คุณพ่อของเขาคือคุณไพฑูรย์ ธาตุทอง เป็นคนคิดค้นทำมานานกว่า 30-40 ปี แล้ว สูตรเหล่านี้ทำแล้วได้ผลดีมาตลอดและไม่หวงสูตรด้วยใครมาถามก็บอกหมดอย่างละเอียด แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทำตามกันเพราะค่อนข้างยุ่งยากสลับซับซ้อน บางคนก็บอกว่าสิ้นเปลืองต้องเปลี่ยนถุงห่อ 2 ครั้ง ต้องมีต้นทุนการฉีดพ่นเพิ่มเติมอีก แต่อยากจะบอกว่าถ้าทำได้ถือว่าคุ้มต้นทุนค่าถุงเพิ่มอีกไม่กี่บาท แต่ถ้าเราห่อถุง 2 รอบ จากที่จะขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท กลายเป็นขายได้ 250-300 บาทต่อกิโลกรัม ขายได้สบาย แล้วลูกค้าก็จะยิ้มด้วยเพราะชมพู่ที่เขาได้ซื้อไปมีสีสันที่สวยงามเพิ่มขึ้น สามารถดึงดูดสายตาได้ใครเห็นก้อยากซื้อ

ก่อนเก็บผลผลิต 3-5 วัน เปลี่ยนถุงห่อ เป็นถุงใสเพิ่มสีสันให้ชมพู่

ป้องกันโรคแมลงด้วยพริกแกงผสมเหล้าขาว ชมพู่ก็เหมือนผลไม้ทั่วไปที่มีศัตรูตัวสำคัญคือแมลงวันทอง หรือแมลงวันผลไม้ อันดับสองคือหนอนกินใบ สูตรการทำสารไล่แมลงมีดังนี้ ใช้พริกแกง 1 ขีด ผสมเหล้าขาว 5-10 ช้อนโต๊ะ ขยำให้เข้ากันเพื่อให้เหล้าคั้นเอาสารที่อยู่ในน้ำพริกแกงออกมา แล้วกองเอากากออก จากนั้นนำน้ำที่ได้ไปผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร แล้วฉีดพ่นไปที่ใบ ในช่วงเวลาตอนเย็น ถือเป็นการป้องกันและขับไล่แมลง

 

ตลาด ชมพู่เพชรสายรุ้งยังไปได้ดี
ขายได้ราคามานานกว่า 10 ปี

เจ้าของบอกว่า ราคาชมพู่เพชรสายรุ้งดีมานานต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว ลักษณะการแบ่งไซซ์ของชมพู่จะมี 4 เบอร์ มีเบอร์0-4 เบอร์0 จะใหญ่ที่สุด ขนาดไม่เกิน 5-8 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม ราคาจะอยู่ที 350 บาทต่อกิโลกรัม แต่ที่สวนไพฑูรย์ส่วนใหญ่ผลิตได้เบอร์ 1และเบอร์2 ราคาลดหลั่นลงมาตามลำดับ เบอร์ 1 กิโลกรัมละ 300 บาท เบอร์ 2 กิโลกรัมละ 250 บาท แต่ความต้องการของลูกค้ามีทุกขนาดไซซ์ บางคนถ้าซื้อไปฝากผู้ใหญ่เขาก็จะเลือกเบอร์0 แต่ถ้าซื้อกินเองจะเลือกเบอร์ลองลงมา หรือไซซ์เล็ก บางคนก็ซื้อแบบมีตำหนิไปก็มี เพราะเรื่องขนาดลูกไซซ์ไม่สำคัญประเด็นสำคัญอยู่ที่ความหวานต้องได้

ชมพู่เพชรสายรุ้งสีสันสวยงาม ขนาดลูกกำลังพอดี

“ซึ่งตลอดระยะเวลาที่สวนไพฑูรย์ทำมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราใช้คุณภาพเข้าสู้ถึงทำให้มีตลาด ทุกวันนี้ไม่ต้องนำผลผลิตออกไปขายที่ไหน ปลูกเองขายเอง มีลูกค้ามาซื้อถึงสวนกิโลกรัมละ 250-300 บาท ก็อยู่ได้สบาย และช่วงที่หมดฤดูชมพู่ก็ทำกิ่งพันธุ์ขายต่อ ราคาของกิ่งพันธุ์มีขายตั้งแต่ต้นละ 200-15,000 บาท ราคาต้นละ 15,000 บาท สามารถซื้อไปปลูกแล้วมีลูกเก็บกินได้เลย ความสูงของต้นไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร ทรงพุ่มไม่ต่ำกว่า1.50 เมตรเหมือนกัน”

อนาคตชมพู่เจ้าของมองว่ายังไปได้อีกไกล เพราะสาเหตุที่ชมพู่เพชรสายรุ้งมีราคาสูงเพราะปัจจุบันปริมาณต้นชมพู่ลดน้อยลง แต่ความต้องการของผู้บริโภคมีเท่าเดิมและเพิ่มขึ้น ฉะนั้นราคาก็สูงขึ้นตามข้อจำกัดด้วย คุณประมวลกล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจซื้อกิ่งพันธุ์ชมพู่เพชรสายรุ้งติดต่อคุณประมวลได้ที่เบอร์โทร.093-578-8557

รูปแบบการบรรจุขายแล้วแต่ลูกค้าชอบ กระเช้า ชะลอม กล่องกระดาษ สามารถระบุได้
บรรยากาศภายในสวนชมพู่ไพฑูรย์
ต้นกิ่งพันธุ์ชมพู่เตรียมขาย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563