“ชุมชนเกาะพิทักษ์” ชุมพร สร้างกลุ่มอาชีพเชื่อมโยงการท่องเที่ยว จดคัมภีร์ครัวเรือน ปลดหนี้ 29 ล้านบาท

“ชุมชนเกาะพิทักษ์” ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ชุมชนขนาด 50 ครัวเรือน ที่ให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์ มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติรอบเกาะ และพัฒนาสร้างกลุ่มอาชีพเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนถวิลหา

คุณอำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านเกาะพิทักษ์ เล่าให้ฟังว่า การจะให้ชาวบ้านอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรให้มันยั่งยืนได้ มาคิดอยู่เรื่องหนึ่งว่า ถ้าการอนุรักษ์มันสมบูรณ์ขึ้น ทำไมไม่เอาคนข้างนอกมาดูแลเราด้วย ให้มาดูว่าคนเกาะพิทักษ์ไม่ได้พึ่งพารัฐ ทำได้ก็เลยมาคิดว่า การท่องเที่ยวดีที่สุด จึงเริ่มนำการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทุกเรื่องเพราะการท่องเที่ยวผมถือว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม สังคม พัฒนาคน พัฒนาชุมชนให้มันเกิดขึ้นได้

การรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของทรัพยากรและดึงสิ่งที่มีในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างเข้าใจ เกิดการรวมกลุ่มสร้างอาชีพที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีในชุมชนเพิ่มขึ้น

“เกาะพิทักษ์ อาชีพหลักๆ คือ การประมงพื้นบ้าน เมื่อก่อนออกไป ได้ปู ได้ปลา ต้องรอนายทุน ต้องรอพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น การถูกบีบรัดเรื่องเงิน เรื่องราคาสินค้ามันหนัก บางทีขายไม่ได้ ปล่อยให้ปลาเน่า พอเแปรรูปขึ้นมา หาตลาดขายไม่ได้ แต่พอเราเอาการท่องเที่ยวเข้ามาใส่ ลูกหลานที่ได้ปลามาเล็กๆ น้อยๆ แม่นั่งอยู่ที่บ้าน มานั่งแปรรูป ชวนลูกหลานมานั่งสอนการแปรรูปปลาเค็มฝังทราย ทุกแห่งถ้าเอาการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ คุณจะทำอะไรสำเร็จหมด” คุณอำพล กล่าว

คุณพิชญาภา ปลอดสุวรรณ ประชาสัมพันธ์กลุ่มผ้ามัดย้อมบ้านเกาะพิทักษ์ กล่าวว่า ชาวบ้านนอกจากทำโฮมสเตย์และทำประมงแล้ว ช่วงหน้ามรสุมจะว่าง ผู้ใหญ่จึงแนะนำ ในเมื่อว่าง เราจะทำอะไรดีไหม แบบว่าหารายได้เสริม เราก็เลยมองเห็นว่าหลายๆ ที่ อย่างนักท่องเที่ยวที่มาเขาใส่ผ้ามัดย้อม เราก็เลยลองว่า เราน่าจะทำดู ก็เลยลองดู

“ตอนแรกที่เริ่มในกลุ่ม จับกลุ่มกันแค่ 10 คน หลังจากนั้นมาทดลองทำ แล้วก็พูดในที่ประชุม ทุกเดือนเราจะมีการประชุมหมู่บ้านกัน เราก็พูดกันว่า ถ้าเราเข้ามารวมกลุ่มกันเยอะๆ เราก็สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาอีก…ช่วงหน้ามรสุมเราจะได้มีอะไรทำมากขึ้น”

ด้าน คุณยุพา รอดรักษา สมาชิกกลุ่มผ้ามัดย้อมบ้านเกาะพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราก็มีวัตถุดิบในหมู่บ้านเราอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ เป็นใบไม้ เป็นพวกกาบมะพร้าว ไม้เคี่ยม อะไรพวกนี้ เวลามาทำ เราสามารถจะหยิบจับมาทำได้โดยที่ไม่ต้องซื้อไม่ต้องมีต้นทุนเยอะ แล้วก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย

“ทุกเดือนเราก็มีการประชุมว่า มีปัญหาอะไรไหม แล้วก็นำมาแก้ไขปัญหาพวกนี้ เวลามีงบประมาณอะไรเข้ามา ผู้ใหญ่ต้องถามชาวบ้านก่อน ไม่ได้ว่านั่งเทียนคนเดียวว่าต้องทำนั่นทำนี่ ผู้ใหญ่จะเรียกมาก่อน ประชุมแล้วก็ถามว่าต้องการแบบนี้ไหม ถ้าไม่ต้องการ ผู้ใหญ่ก็ไม่บังคับ แต่ว่าเราต้องคิดเอาเองว่า เราสมควรจะทำงานนี้ไหม ทำแล้วได้อะไร ชาวบ้านได้อะไร เราก็ต้องคิดจากตัวเราเองด้วย”

คุณอำพล กล่าวอีกว่า การรวมคนเกาะพิทักษ์ยากมาก เพราะคนเกาะพิทักษ์แตกเป็นเสี่ยงหมด เพราะแตกเป็นเสี่ยงหมด แล้วกว่าจะรวมเสี่ยง คือ 32 หลังคาเรือน เป็นหนี้ 29 ล้านบาท เพราะถือว่าหลังคาเรือนละเกือบล้านบาท ภายใต้ที่คนเกาะพิทักษ์เป็นหนี้อยู่ กว่าจะรวมคนพวกนี้ได้ ผมใช้เวลา 7 ปีเต็ม การทำงานของผม ผมไม่เคยคิดเอาเงินเป็นที่ตั้ง แต่เวลาขับเคลื่อนงานมันต้องไปหาเงินทุกครั้ง นั้นคือ ปัญหาหลักเรื่องทุน เราต้องขับเคลื่อนงานเอง กว่าจะขอตังค์ชาวบ้านให้เขาเข้าใจ ได้รวมกลุ่มกันลงหุ้นกันลงขันกัน

“หลักจริงๆ คนเกาะพิทักษ์ ทำบัญชีตัวเอง รายได้เท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร ต้องใช้จ่ายแล้วคิดกัน อีกส่วนคุณต้องมาตุนตรงนี้ และกว่าจะเอาเงิน 3 เปอร์เซ็นต์ คุยให้เขาตกผลึกได้ คนเราทุกแห่งคิดอย่างเดียวว่า เงิน 3 เปอร์เซ็นต์ คุณเอาไปทำอะไร ถ้ามองภาพส่วนรวมจริงๆ ภาพทั่วประเทศไทย ถ้าผู้นำไปเที่ยวไปกำเงินเป็นกองๆ ไว้ มันทำงานไม่ได้ แต่ผมมีวิธี ผมจะตั้งคนดูแลเป็นกลุ่มๆ กันไป ผมจะไม่แตะเรื่องเงิน คือเอาตัวเองเป็นตัวอย่างให้เขาดูว่า เราทำจริงนะ ไม่ได้พูดอย่างเดียว ดังนั้น การทำงานทุกแห่ง มันล่มสลายเพราะผู้นำเอาแต่พูดอย่างเดียว พูดแล้วสร้างภาพ แต่ตัวเองไม่ลงมือปฏิบัติ” คุณอำพล ธานีครุฑ กล่าว