“ส้มกา”ส้มพันธุ์หายาก ผลผลิตปีละครั้ง ปลูกแบบอินทรีย์ที่ทองผาภูมิ 40 ไร่ แรงงานแค่ 3 คน!

ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวชมสวนส้มกาที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ที่อำเภอทองผาภูมิ สวนส้มแห่งนี้ชื่อสวนลุงแกละ เจ้าของคือ “ลุงสมนึก  ชูปัญญา” ความจริงลุงสมนึกเป็นอดีตเจ้าของสวนส้มบางมด ที่ยึดอาชีพปลูกส้มมาตั้งรุ่นคุณพ่อ ยาวนานกว่า 40 ปี แต่เจอวิกฤตน้ำเน่าเสียและโรคระบาดทำให้ต้นส้มตาย  ลุงสมนึกจึงตัดสินใจมาซื้อที่ดินผืนใหม่ที่อำเภอทองผาภูมิเพื่อทำสวนปลูกผลไม้ตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอ เพราะที่นี่ดินดี น้ำดี อากาศดีกว่าแหล่งอื่น

สวนลุงแกละ มีเนื้อที่ประมาณ ในเนื้อที่  42 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผลไม้ที่เป็นพระเอกของสวนแห่งนี้ ที่ลุงภาคภูมิใจมากก็คือ ส้มกา คนรุ่นใหม่อาจไม่คุ้นหูกับพันธุ์ส้มชนิดนี้ ความจริงส้มกาก็คือ ส้มเช้ง เป็นส้มเปลือกหนาอีกสายพันธุ์หนึ่ง ชาวสวนบางรายมักเรียก “ส้มตรา” หรือ “ส้มกา”

ความจริงส้มกา มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเมืองจีน เป็นผลไม้กึ่งเมืองร้อนตระกูลเดียวกันกับส้มทั่วๆ ไป คนจีนในสมัยก่อนได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาหากินอยู่ในเมืองไทยก็ได้นำสายพันธุ์ส้มชนิดนี้เข้ามาปลูกด้วย โดยแหล่งใหญ่ที่ปลูกก็คือ ย่านบางมดนั่นเอง

ส้มกา มีผลผลิตปีละหนึ่งครั้ง ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนนิยมใช้ในพิธีไหว้บรรพบุรุษ คำว่า ส้มในภาษาจีนออกเสียงว่า “ไต่กิ๊ก” แปลได้ 2 ความหมาย คือคำว่า “ทอง” และคำว่า “ความสงบ”

นอกจากนี้ ส้มกายังมีสรรพคุณเด่น คือ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยในการขับถ่าย มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันโรคหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน รักษาเหงือก คุณค่าทางอาหารให้แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินซี ที่ผ่านมา เกษตรกรนิยมปลูกส้มกากันมากในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร

รศ.ดร. ระวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านส้มและมะนาว เล่าว่า ส้มกาหรือส้มตรา มี 2 พันธุ์ คือ “เม้งลิ้วเช้ง” ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีตราวงกลมที่ปลายผล ผิวผลเป็นสาแหรก หรือเป็นริ้ว มีแหล่งปลูกที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และ “ส้มเช้ง” มีลักษณะพิเศษ คือ ผิวผลเรียบ ไม่มีสาแหรก และมีตราวงกลมที่ปลายผล

ย้อนกลับมาชมสวนส้มกาของสวนแห่งนี้กันต่อ ลุงสมนึกเล่าว่า ตอนแรกลุงตัดสินใจปลูกลิ้นจี่ แต่ ผลผลิตเสียหายเยอะ จึงตัดสินใจโค่นต้นลิ้นจี่ทิ้ง และหันมาปลูก “ส้มกา” แทนต้นส้มกาปลูกและขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอน

ลุงปลูกส้มกาโดยคัดเลือกพื้นที่ที่ระบายน้ำได้ดี  เจาะหลุมลึกพอประมาณ และนำกิ่งตอนลงปลูก ในระยะห่าง  4-5 เมตร ให้น้ำในระบบสปริงเกลอร์ ให้หมุนกระจายรอบโคนต้น ทุกๆ 5 วัน เปิดให้น้ำนานประมาณ 30 นาที ต่อครั้ง

เมื่อต้นส้มกาอายุ 3 ปีจะเริ่มให้ผลผลิต โดยส้มกา แต่ละต้นจะให้ผลผลิตประมาณ 400-500 กิโลกรัม ต่อปี ลุงจะขายส่งให้แม่ค้าที่กรุงเทพฯ ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนราคาขายปลีกในท้องตลาดทั่วไปประมาณ 110 บาท ต่อกิโลกรัม

ลุงสมนึกยืนยันว่า ส้มกาขายได้ราคาดีกว่าส้มทั่วไป และเป็นที่ต้องการของแม่ค้าในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดศรีเมือง ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท

ที่ผ่านมา มีเกษตรกรจำนวนมากสนใจอยากปลูกส้มกา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นส้มกา ลุงบอกว่า เคล็ดลับสำคัญที่สวนส้มกาแห่งนี้ มีผลผลิตที่ดีตรงกับความต้องการของตลาดก็คือ ดูแลให้น้ำอย่างเต็มที่

ที่นี่ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องขับดันน้ำอย่างแรง ใช้ท่อส่งน้ำขนาด 8.5 นิ้ว สามารถให้น้ำบำรุงต้นส้มกาประมาณ 30-40 วันต่อปี ลุงสมนึกบอกว่า ที่ผ่านมา ผมแจกจ่ายกิ่งพันธุ์ส้มกาให้แก่ผู้สนใจนำไปทดลองปลูกแต่ไม่มีใครปลูกได้สำเร็จ มีเกษตรกรรายหนึ่งนำไปปลูกที่ราชบุรี แต่ปลูกไม่สำเร็จเพราะเป็นพื้นที่อับและขาดแคลนน้ำ

ที่อำเภอทองผาภูมิ มักเกิดลมพายุอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ระยะที่ฝนตกใหม่ๆ มักเกิดลมพายุพัดค่อนข้างรุนแรง ทำให้กิ่งไม้หักหรือต้นไม้โค่นล้ม ลุงสมนึกปลูกต้นปาล์มน้ำมันประมาณ  200 ต้น ทแยงฟันปลาสลับกับต้นส้มกา จำนวน 600 ต้น ในระยะห่างประมาณ 6 วา เพื่อเป็นแนวกำแพงกั้นลมให้กับต้นส้มกา

ลุงสมนึกเริ่มต้นดูแลสวนในระบบเกษตรอินทรีย์หลายปีก่อน ปรากฎว่า ไม้ผลนานาชนิดภายในสวนก็มีอัตราเจริญเติบโตที่ดีวันดีขึ้น มีนกและแมลงภายในสวนเพิ่มมากขึ้น เพราะสวนแห่งนี้ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลตามธรรมชาตินั่นเอง อาการป่วยต่างๆ ที่เคยรุมเร้าก็หายไปหมด ลุงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น จึงแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนเกษตรกรที่รู้จักหันมาดูแลสวนผลไม้ในเชิงเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

ลุงบอกว่า หลังจากหยุดใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีแค่ 2 ปี ปรากฎว่า ผลผลิตภายในสวนมีคุณภาพดีขึ้น สังเกตได้จากรสชาติความอร่อยเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ควบคุมปริมาณผลผลิตไม่ได้

ในแต่ละวัน ลุงจะตื่นตอนแต่เช้าตรู่ เพื่อทำงานตัดหญ้าเองทั้งหมด โดยไม่พึ่งพาแรงงานจากภายนอก พืชแต่ละชนิด เมื่อถึงช่วงฤดูจึงค่อยเข้าไปดูแลตัดแต่งกิ่งหรือให้ปุ๋ย ดังนั้น พื้นที่สวน 40 ไร่ ใช้แรงงานลุงและลูกน้องอีก 2 คน ทำงานได้อย่างสบายๆ

ช่วงเก็บเกี่ยวก็จะว่าจ้างแรงงานรายวันหลายคนหน่อย อาศัยหลักการบริหารจัดการที่มีต้นทุนต่ำไม่ถึงแสนบาท แต่สามารถเก็บผลผลิตออกขายกว่า 5 แสนบาท ต่อปี

ทุกวันนี้ลุงมีความสุขกับการทำงานในสวนแห่งนี้ เพราะการดูแลสวนแบบเกษตรอินทรีย์ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ ไม้ผลมีลำต้นสูงใหญ่ ต้องเสียต้นทุนค่านั่งร้านในการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่บ้าง แต่ลุงถือว่าคุ้มค่ากับผลตอบที่ได้รับแล้ว เพราะสุขภาพคนปลูกและผู้บริโภคก็ปลอดภัยเท่าๆ กัน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2562