เลี้ยงเป็ดให้ง่ายขึ้น ด้วยระบบฟาร์มอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

“การนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจและรายได้ส่วนใหญ่ของประชาชน จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และการประหยัดแรงงาน นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติต่างๆ ที่ควบคุมโดยพลังงานไฟฟ้าเมื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ก็เป็นแนวทางเลือกหนึ่งของพลังงานทดแทน”

1

อาจารย์พนิตา ภักดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยและอาจารย์ผู้ดูแลโครงการศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ เลขที่ 489 ถนนประชาพัฒนา แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ ในวันนี้นอกจากเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ภายใต้ความมุ่งมั่นเพื่อตอบสนองความต้องการสังคมในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณธรรม คุณภาพ และทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมไทยและประเทศไทย ด้วยแนวนโยบายของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ ดร. วิศิษฐ์ แสงหิรัญ อธิการบดี และ ดร. ณัฐกาญจน์ สุวรรณธารา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตและความอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น จึงสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของนักศึกษา ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แห่งนี้มา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้สนใจทั้งในชุมชนและที่อื่นๆ

ศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ อาจารย์พนิตา กล่าวว่า เป็นผลงานการวิจัยของนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่ต้องการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการจัดการระบบฟาร์มอัตโนมัติ และการประหยัดพลังงานภายในฟาร์ม รวมถึงการลดการใช้แรงงาน

3

ความโดดเด่นของศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะประกอบด้วยระบบอัตโนมัติที่สำคัญ 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบการให้อาหารและน้ำอัตโนมัติ ระบบควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ และระบบเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ ซึ่งทุกระบบสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำฟาร์มได้เป็นอย่างดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน

สำหรับสายพันธุ์เป็ดที่เลี้ยงในศูนย์แห่งนี้ ได้เน้นการเลี้ยงเป็ดเทศพันธุ์บาบารี่ โดย อาจารย์ประดิษฐ์ ดีใจ อาจารย์ที่ปรึกษาศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็ดเทศนั้นนอกจากจะเป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตไวแล้ว สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังเป็นสัตว์ปีกที่ตลาดมีความต้องการสูง

“ที่ผ่านมานั้น เฉพาะตลาดในท้องถิ่นใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกรและผู้สนใจมาติดต่อซื้อทั้งลูกพันธุ์เป็ดเทศและเป็ดเนื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นคำตอบได้อย่างดีในระดับหนึ่งสำหรับผู้สนใจที่คิดจะเลือกชนิดของสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ เป็ดเทศพันธุ์บาบารี่เป็นชนิดหนึ่งที่ยังมีความน่าสนใจ” อาจารย์ประดิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ ระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัตินี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมการเลี้ยงเกษตรอื่นได้ทุกอย่าง

“ตอนนี้เราขยายไปสู่การเลี้ยงปลาดุก โดยได้คิดค้นเครื่องให้อาหารปลาออกมาเป็นผลสำเร็จแล้ว ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษารูปแบบฟาร์มได้โดยตลอด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพของตนเอง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะให้ข้อแนะนำและเข้าไปช่วยในการจัดการวางแผน โดยขณะนี้ได้มีการขยายผลนำระบบฟาร์มอัตโนมัตินี้ไปจัดสร้างให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและชลบุรี”

อาจารย์ประดิษฐ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่นักศึกษาคิดค้นขึ้นนี้ประกอบด้วยระบบที่สำคัญ 3 ระบบ คือ

หนึ่ง ระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติ

สอง ระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอัตโนมัติ

สาม ระบบเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ

โดยแหล่งพลังงานของระบบจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีแผงโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งรวบรวม ใช้เป็นตัวควบคุมระบบไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวควบคุมระบบไฟฟ้าในโรงเรือน และระบบให้อาหารและน้ำแบบอัตโนมัติในฟาร์ม ที่เน้นการใช้วัสดุเหลือใช้มาดัดแปลงให้เกิดนวัตกรรมที่มีราคาถูก เกษตรกรที่มีรายได้น้อยสามารถนำไปใช้ได้จริง ส่วนระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น และการควบคุมระบบปิดและเปิดประตูของโรงเรือนเช่นกัน อุปกรณ์ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องตลาดและเกษตรกรสามารถนำอุปกรณ์นี้ไปใช้ในการทำโรงเรือนเลี้ยงสัตว์หรือการเกษตรนำไปต่อยอดได้อีก

“จากที่เราเน้นถึงการใช้วัสดุที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น จึงทำให้ต้นทุนในการจัดสร้างฟาร์มไม่สูงมาก และที่สำคัญได้ออกแบบระบบให้ทำงานง่าย ทำให้สะดวกเป็นอย่างมาก” อาจารย์ประดิษฐ์ กล่าว

อาจารย์ประดิษฐ์ กล่าวว่า ในทุกระบบที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ คิดค้นขึ้นนี้จะเน้นหลักการทำงานที่ง่ายและสะดวก อาทิ ระบบเครื่องให้อาหาร ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนของถังบรรจุอาหารและมอเตอร์ซึ่งเชื่อมต่อกับตัวควบคุมการปล่อยอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่บรรจุไว้ โดยจะคำนวณว่าในแต่ละวันพ่อแม่พันธุ์หรือลูกเป็ดต้องการอาหารเท่าไร เมื่อถึงเวลาที่กำหนดเครื่องจะปล่อยอาหารลงมาตามที่คำนวณไว้ ส่วนระบบการให้น้ำเช่นกันจะมีลูกลอยเป็นตัวควบคุมในการปล่อยให้น้ำออกมาเติมในที่ให้น้ำเท่ากับปริมาณที่ตั้งไว้ และยังมีการติดตั้งระบบการถ่ายเทน้ำอัตโนมัติ ซึ่งทำให้มีน้ำสะอาดให้เป็ดได้กินทุกวัน

2นอกจากระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของศูนย์สาธิตแห่งนี้คือ กระบวนการจัดการของเสียจากฟาร์มเพื่อการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ของเสียที่เกิดขึ้นไปสร้างประโยชน์ในลักษณะต่อเนื่อง โดยอาจารย์ประดิษฐ์ กล่าวว่า ได้มีการศึกษารูปแบบการใช้ประโยชน์จากของเสีย โดยขณะนี้สามารถนำมูลของเป็ดไปเป็นปุ๋ยคอกให้กับแปลงผักที่ปลูกอยู่ด้านข้าง และน้ำจากการเลี้ยงปลาดุกในรองส้วมซึ่งต้องมีการถ่ายออก ได้ถูกนำไปใช้ในการรดผักที่ปลูกเช่นกัน

“โครงการต่อไปเราจะมีการนำจากบ่อปลาไปใช้กับการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ เราพยายามที่จะทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และได้ผลประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทุกอย่างนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ ทั้งในรูปแบบของอาชีพหลักและอาชีพเสริม” อาจารย์ประดิษฐ์ กล่าว

ศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเป็ดอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง…

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563