กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าใช้นวัตกรรมเกษตรทำงานเชิงรุก แก้ปัญหาปากท้องเกษตรกรในปี63

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อวันที่ 3 มกราคม2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าว “มอบของขวัญปีใหม่ การขับเคลื่อนภาคการเกษตร ปี 2563” ซึ่ง 1 ใน 8 นโยบายสำคัญในปี 2563 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีตั้งใจนำมาใช้ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน คือ การจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data) และศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC)

จัดตั้งศูนย์ Big Data ด้านการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ หรือ National Agricultural Big Data ขึ้น เพื่อต้องการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของระบบการผลิตด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งระบบฐานข้อมูลการเกษตรแห่งชาตินี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) และBig Data ด้านสินค้าเกษตร ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบในงานเชิงนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้บริหารภาครัฐ

เนื่องจากวิวัฒนาการทางด้านการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงโลกตามยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology ส่งผลให้การบริหารจัดการภาคการเกษตร ต้องอาศัยข้อมูลที่ดี มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การทำการเกษตรแม่นยำ Precision Farming และหลักการตลาดนำการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯจึงมุ่งบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสินค้าเกษตร ทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวม 10 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ13 สินค้า ประกอบด้วย 1) ข้าว 2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3) สับปะรดโรงงาน 4) มันสำปะหลังโรงงาน 5) อ้อยโรงงาน 6) ยางพารา 7) ปาล์มน้ำมัน 8) ลำไย 9) เงาะ 10) มังคุด 11) ทุเรียน 12) มะพร้าว และ 13) กาแฟโดยมีรายละเอียดของข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.th ทั้งนี้ จะสามารถเปิดให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไปเข้าดูรายงานและใช้ข้อมูลในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานต่าง ๆ ตามสิทธิ์การเข้าถึง โดยกำหนดให้สามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2563

จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-technology and innovation center: AIC)

โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งรูปแบบจะเป็นการทำงานลักษณะศูนย์ Agritechในระดับภูมิภาค บูรณาการร่วมกันใน 6 ภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด ซึ่งจะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ

Advertisement

โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน มีการรวบรวม ช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart และ Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมความรู้ e-commerce รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่าง ๆ เพื่อให้ก้าวสู่ศูนย์เกษตร 4.0 ในระดับภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2563 นี้

Advertisement

จัดทำ Zoning โดยใช้ Agri-Map ตรวจสอบศักยภาพพื้นที่ 

กำหนดเขตการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) โดยการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตร โดยจัดทำระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือในการวางแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ

โดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้านกายภาพ และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งด้านกายภาพใช้ข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของดิน ด้านเศรษฐกิจใช้ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน แหล่งรับซื้อ โรงงาน การตลาด โดยในปี 2563 จัดทำแผนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญครบวงจร จำนวน 7 สินค้า และศึกษาสินค้าหรือกิจกรรมทางเลือก เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงสนับสนุนมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร

เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเดิมไปปลูกพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม เป้าหมาย จำนวน 100,000 ไร่ และผลักดันการปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสม เพื่อยกระดับรายได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต