สศก. ร่วมเวที COP 25 ผลักดันแก้ปัญหาโลกร้อน ผ่านกลไกบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP 25) ระหว่างวันที่ 2-9 ธันวาคม 2562 ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้น ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน เพื่อร่วมกันผลักดันแนวทางที่เป็นรูปธรรมให้บรรลุข้อตกลงในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับความตกลงปารีส โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย ผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีกรมวิชาการเกษตร และ สศก. ร่วมประชุม

สำหรับการเจรจาในส่วนของภาคเกษตร กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้เกิดความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนภาคเกษตร ภายใต้ “การทำงานร่วม Koronivia” (Koronivia Joint Work on Agriculture: KJWA) ซึ่งกำหนด Roadmap ระหว่าง 2018 – 2020 และการสนับสนุนจากองค์กรที่จัดขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพด้านการปรับตัวของภาคเกษตร ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดต้องการให้เกิดเป็นข้อตัดสินใจ (COP decision) และปัจจุบันการผลักดันข้อเรียกร้องนี้ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในการประชุม COP 25 ได้มีการหารือจัดการทรัพยากรดิน ซึ่งมีความสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศมาสะสมในดิน ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ในดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอันนำไปสู่ความมั่นคงอาหาร และหารือในประเด็นเครื่องมือในการคำนวณการปรับตัว และผลประโยชน์ร่วมจากการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

เลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทรัพยากรดิน มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร และมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตนเอง ในฐานะประธานสมัชชาดินโลกแห่งภูมิภาคเอเชีย เห็นว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการดินอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพ การศึกษา วิจัย ผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปริมาณคาร์บอนในดินของกิจกรรม วิธีการตรวจวัด การรายงานผล และตรวจสอบความถูกต้อง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับดินทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ ดำเนินการตาม Roadmap ของ KJWA ยังเหลือระยะเวลาอีก 1 ปี ดังนั้น จะต้องมีการเจรจาในประเด็นที่ต้องการผลักดันในอนาคตของ KJWA ว่าจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร ซึ่งการประชุม COP จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 20,000 คน จากทั่วโลก โดยเปิดกว้างให้ NGOs นักเคลื่อนไหว เข้าร่วมประชุมในกรณีที่เปิดเป็นสาธารณะ โดยการประชุม COP 26 จะจัดขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปี 2563 ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์