“เส้นใยธรรมชาติ” เพิ่มมูลค่าใบสับปะรด สร้างรายได้เกษตรกร จังหวัดราชบุรี

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผลผลิตโดยตรงจากอุตสาหกรรมเกษตรส่วนใหญ่ จะใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยวัตถุดิบทางการเกษตรบางส่วนจะเหลือทิ้ง ซึ่งวัตถุดิบเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น ใบสับปะรด เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่เหลือทิ้งในภาคการเกษตร ในการปลูกสับปะรดรุ่นหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี หลังจากนั้น เกษตรกรจะรื้อถอนแปลงออกด้วยการถอนต้นแล้วเผาซึ่งเป็นการสร้างมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้วิธีปั่นต้นแล้วตากให้แห้งและไถฝังกลบ เป็นปุ๋ยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ โดยภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้นำวัตถุดิบเหลือทิ้งเหล่านี้มาทำเป็นเส้นใยธรรมชาติ เป็นการสร้างมูลค่าให้กับใบสับปะรด

จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ในพื้นที่ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยสัมภาษณ์ นายสมชาย อุไกรหงสา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเส้นใยธรรมชาติบ้านคา พบว่า เกษตรกรในพื้นที่มีการร่วมกลุ่มผลิตเส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรดมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 22 ราย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จะนำใบสับปะรดที่เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ต่อไร่ มาผลิตเส้นใยสับปะรด โดยจะรับซื้อใบสับปะรดจากสมาชิกกลุ่ม ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท จำนวน 700-1,000 กิโลกรัม ต่อวัน จากนั้นจะนำมาคัดแยกใบ ที่มีขนาด 50 เซนติเมตรขึ้นไป แล้วตัดแต่งส่วนโคนและปลายใบออกเพื่อนำเข้าเครื่องรีดเอากากของใบออกจนเหลือแต่เส้นใย แล้วพักไว้ 1 คืน จึงนำมาซักน้ำเปล่าจนสะอาดนำไปตากแดดประมาณ 2 วัน หรือตากในร่มที่มีอากาศถ่ายเทประมาณ 3 วัน หลังจากนั้น นำมาเข้าเครื่องรีดเพื่อแยกเส้นใยอีกครั้ง จะได้เส้นใยพร้อมส่งจำหน่าย ซึ่งจุดเด่นของผลผลิตอยู่ที่การเป็นเส้นใยธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ไม่ใช้สารฟอกขาว ผงซักฟอก หรือเคมีอื่นๆ

สำหรับด้านการตลาด ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 260-300 บาท ต่อกิโลกรัม ร้อยละ 50 ขายส่งและขายปลีกตลาดในประเทศ ได้แก่ ตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มแม่บ้าน และลูกค้าทั่วไป ส่วนร้อยละ 50 ส่งออกตลาดต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ อยู่ในช่วงของการทดลองนำเส้นใยมาทอเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อนำไปตัดเย็บเสื้อผ้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย

ด้าน นางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกลุ่มผลิตเส้นใยธรรมชาติบ้านคา สามารถผลิตเส้นใย ได้ 300 กิโลกรัม ต่อเดือน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางกลุ่มจึงมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอนาคต นอกจากนี้ ทางกลุ่มกำลังทดลองและพัฒนาเครื่องรีดแบบอัตโนมัติเพื่อลดปัญหาด้านแรงงานอีกด้วย ซึ่งหากมีการขยายกำลังผลิตได้ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการขายใบสับปะรด ประมาณ 8,000-10,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งขณะนี้ มีกลุ่มพ่อค้าและกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาติดต่อขอรับซื้อล่วงหน้าจำนวนหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตเส้นใยจากใบสับปะรด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสมชาย อุไกรหงสา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเส้นใยธรรมชาติบ้านคา ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โทร. (089) 837-9257