เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยมีรายได้ยั่งยืน

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเน้นให้มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในชุมชน เพื่อให้เป็นจุดถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรของชุมชนและเป็นที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร บริการด้านการเกษตร ประกอบกับในสภาวะปัจจุบันสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรของเกาตรกรมีปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับปัญหาโรคและแมลง และพื้นที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณน้อยและมีคุณภาพต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงประสบกับการแก้ปัญหาการขาดทุน เกิดหนี้สิน และไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. ขึ้น มีอยู่จำนวนกว่า 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชนที่เกิดจากปัญหาของชุมชนและสามารถตอบสนองความต้องการด้านการเกษตรของชุมชนได้ และเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตร โดยเน้นการเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการประเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

กรมการข้าว เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรยนรู้ในพื้นที่ชุมชน ที่สามารถให้ความรู้ในเรื่องวิชาการ เทคโนโลยี การป้องกันโรค ตลอดไปจนถึงเรื่องของการเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และค่อยให้ความช่วยเหลือต่างๆ ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาได้อย่างถูกต้องและเท่าทัน

ดารณี สุวรรณโพธิ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า การทำนาของเกษตรกรไทยในช่วงฤดูกาลหลักของแต่ละปี กรมการข้าว ได้มีการมุ่งเน้นให้เกษตรกรได้มีการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพและลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงด้วยกรรมวิธีต่างๆ ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer) เพื่อให้มีเทคนิคและเคล็ดลับต่างๆ เพื่อให้การผลิตข้าวมีประสิทธิภาพและได้ราคา เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ เครื่องจักรกลทางการเกษตร การตรวจรับรอง GAP ข้าว โดยทั้งหมดนี้ได้คัดเลือกเกษตรกรผู้ลงมือทำนานจริงมาเป็นตัวแทนอบรมเพื่อนำวิธีการต่างๆ ไปสู่เพื่อนๆ เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

คุณจันทร์ พรมรังกา ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านนาป่าน ตำบลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน กลุ่มที่เขาได้ทำการดูแลอยู่นั้นนำวิธีการลดต้นทุนมาใช้เพื่อผลิตข้าว โดยทางศูนย์ข้าวชุมชนบ้านนาป่านได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อนำมาคัดเลือกให้เป็นเมล็ดพันธืที่ดีมีคุณภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจับแพร่ ซึ่งพันธุ์ข้าวเมล็ดที่ทำการคัดแยกอยู่ คือ พันธุ์ กข 6 พันธุ์ กข 10 สันป่าตอง 1 พันธุ์เหล่านี้เป็นข้าวที่เกษตรกรในจังหวัดน่านนิยมปลูก ซึ่งการทำนาของเกษตรกรในพื้นที่นี้จะเน้นทำด้วยวิธีดำต้องใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนการทำนาแบบใหม่ๆ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในการผลิต

“การทำงานแบบสมัยก่อนนั้น ค่อนข้างที่จะใช้เมล็ดพันธุ์มาก เราก็ได้เรียนรู้และมีการจัดการที่ดีเพิ่มขึ้น เพราะที่นี่มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง เราจึงได้รู้ถึงวิธีการต่างๆ เพื่อให้ข้าวที่ผลิตสามารถมีคุณภาพและประหยัดต้นทุน จากที่เคยใช้วิธีทำนาดำใช้เมล็ดพันธุ์ 20 กิโลกรัม ต่อไร่ พอเปลี่ยนมาใช้แบบนาโยน สามารถลดต้นทุนลงใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 4 กิโลกรัม ต่อไร่เท่านั้น จึงสามารถลดต้นทุนได้มากในเรื่องของการทนา” คุณจันทร์ กล่าว

จากการเรียนรู้วิธีการต่างๆ จึงทำให้ชาวบ้านที่อยู่ภายในกลุ่มนี้หันมาผลิตข้าวแบบนาโยนมากขึ้น และมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาคิดค้นสูตรทำปุ๋ยหมักขึ้นใช้ภายในกลุ่มเอง จึงสามารถลดต้นยทุนทางการผลิตได้อีกหนึ่งช่องทาง

จึงนับได้ว่าการทำเกษตรกรรมของไทยนั้น ได้มีวิทยาการและองค์ความรู้มากมายเข้ามาชวย จึงสามารถทำให้เกษตรกรไทย สามารถพัฒนาองค์ความรู้และเรียนรู้การปรับเปลี่ยนได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำองค์ความรู้มาช่วยเสริมสร้างและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพื่อที่จะมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต