ปี 63 การเกษตรไทย ยังล้มลุกคลุกคลาน จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ผมเป็นคนไทยที่รักชาติคนหนึ่ง รู้สึกไม่สบายใจที่ประเทศไทยเรายังมีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตร อีกทั้งปัญหาเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก็มีความคิดเห็นไปกันคนละทิศละทาง ผมคิดว่าคงไม่จบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน ผมจึงขอคำแนะนำจากคุณหมอเกษตร ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการเกษตรมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้ตัวผมเองและท่านผู้อ่านทางบ้านได้รับความรู้ไปพร้อมกัน แล้วผมจะติดตามอ่านคอลัมน์หมอเกษตร ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

วรศักดิ์ อิ่มอำนวยสุข

พิษณุโลก

ตอบ คุณวรศักดิ์ อิ่มอำนวยสุข

การพัฒนาการเกษตรของไทย เริ่มพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงติดต่อขอความร่วมมือจากจีน ในสมัยราชวงศ์ชิง ให้มาช่วยพัฒนาการผลิต การขนส่ง การแปรรูป (ข้าวสาร) และการตลาดข้าว นอกจากนั้น กษัตริย์ไทยทุกพระองค์ยังทรงส่งเสริมการผลิตข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1-2 ของโลกอย่างต่อเนื่องตลอดมา และคนไทยทุกคนต้องภาคภูมิใจที่ข้าวไทยส่งไปประกวดที่เมือง เรยีนา ประเทศแคนาดา ในรัชสมัยของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ผลงานคือ ข้าวพันธุ์ปิ่นเกล้า (ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว) ได้รับรางวัลชนะเลิศของโลก พร้อมกับรางวัลอื่นๆ อีกหลายรางวัล

ขอนำตัวอย่าง การพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านของเรา (เน้นเฉพาะเรื่องข้าว) เขามีเป้าหมายระยะเวลาและผลที่ได้วางไว้อย่างชัดเจน เช่น ฟิลิปปินส์ มีโครงการ นาซากานา 99 มีการเร่งพัฒนาการผลิตข้าวให้ได้มากที่สุด ด้วยฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ไม่พอเพียงบริโภคภายในประเทศ จำเป็นต้องสั่งนำเข้าทุกปี สาเหตุเนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด และเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นพัดเข้ามาทำความเสียหายเกือบทุกปี เริ่มจากการปรับปรุงพันธุ์ ร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างจริงจัง เมื่อสิ้นสุดโครงการ  ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ดีในระดับหนึ่ง และที่เขาภาคภูมิใจมากคือ สามารถนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย ในปริมาณที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการลัมปุง ของอินโดนีเซีย ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เน้นการเพิ่มผลผลิตข้าว เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ โดยเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูง ประการสำคัญรณรงค์ให้มีการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลง มีการอบรมเกษตรกรให้รู้จักแมลงทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ เพื่อให้รู้จักการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่ง ณ จุดนี้ของไทยเรายังก้าวไปไม่ถึง เมื่อสิ้นสุดโครงการ ผลคือ การนำเข้าข้าวลดน้อยลง เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ และอีกตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว คือ เวียดนาม จัดทำโครงการ โด๋ยเม้ย เป็นโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่อิงการพัฒนาการผลิตข้าวของประเทศ โดยมีเป้าหมายภายใน 10 ปี ต้องผลิตข้าวให้ส่งออกได้ ปัจจุบัน เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ในปริมาณใกล้เคียงกับประเทศไทย ในปริมาณ 9-10 ล้านตันข้าวสาร

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยเราเร่งการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร เพื่อการส่งออก มีข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสับปะรด และผลไม้อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ อีกทั้งระบบสหกรณ์ของไทยไม่ประสบกความสำเร็จ จึงไม่สามารถวางแผนการผลิตและการส่งออกได้ จึงเกิดปัญหาการผลิตสินค้าเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาตกต่ำ หากผลิตได้น้อยราคาก็สูงขึ้น หมุนเวียนสลับกันไป แม้แต่การแบน 3 สารเคมี ยังหาบทสรุปได้ไม่ ด้วยคนไม่รู้จริงมาทำงานเรื่องนี้ จึงหาความพอดีไม่พบ

ขอนำตัวอย่างที่ประเทศไทยเคยทำได้ดีมาแล้วในอดีต ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2525 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร จัดทำโครงการ กระจายการผลิต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลายชนิดผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ และประมง เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคและมีรายได้ตลอดทั้งปี แทนการทำนาเพียงอย่างเดียว ในโครงการเดียวกัน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จำแนกเกษตรกรออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 เกษตรกรรายย่อย ที่ถือครองพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ เป็นเกษตรกรที่ผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง ใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง ในบางช่วงยังออกไปขายแรงงานระยะสั้นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริม โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง ไม่จำเป็นต้องซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดแมลงจากภายนอกไร่นามาใช้

ประเภทที่ 2 เกษตรกรถือครองที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ เป็นเกษตรกรที่ผลิตสินค้าการเกษตร แบบกึ่งพึ่งพาตนเอง กึ่งธุรกิจ ยังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีการผลิต จากหน่วยงานของรัฐเข้าช่วย และมีการซื้อปัจจัยการผลิตมาใช้ในไร่นา และ ประเภทที่ 3 เป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 50 ไร่ ขึ้นไป ซึ่งมีทุนสามารถนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศและสามารถทำการตลาดด้วยตนเอง

ดังนั้น งานวิจัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์เกษตร วิจัยให้ได้เทคโนโลยีป้อนเกษตรกรแต่ละกลุ่มอย่างถูกต้อง และแม่นยำ สิ่งที่จะขาดไม่ได้ต้องมองไปยังตลาดต่างประเทศ ขอฝากงานไว้กับกระทรวงพาณิชย์ และนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศต่างๆ ช่วยมองหาตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุทวีปอินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา บางประเทศ ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก และประเทศแถบลาตินอเมริกา ให้ศึกษาถึงนิสัยใจคอวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน เพื่อเราจะสามารถป้อนสินค้าที่เหมาะสมกับแต่ละภูมิภาค ขอขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องเป็นการล่วงหน้า

ตัวอย่างการบุกตลาดต่างประเทศ มีหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มีการนำผลไม้ไทยไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโปร และเอเชีย อย่างต่อเนื่อง และได้ผลดี เป็นที่น่าชื่นชม และอยากให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสืบไป

บทสรุป การพัฒนาการเกษตรไทยต่อไปในอนาคต การคัดเลือกรัฐมนตรีที่จะมาดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องมีพื้นฐานทางด้านการเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่บ้าง เพื่อการเกษตรของประเทศจะได้ก้าวหน้าและมั่นคงสืบไปครับ