ที่มา | ไม้ดอกไม้ประดับ |
---|---|
ผู้เขียน | ณัฐริกา โพธิ์นา |
เผยแพร่ |
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ได้จริง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยมีชุมชนต้นแบบ 13 กลุ่ม

ในรอบนี้ วว.ได้พามาเยี่ยมชมหรือศึกษา ที่กลุ่มไม้ดอกประดับแปลงใหญ่ชุมชนต้นแบบ ตำบลสานตม และเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้ไม้ดอกไม้ประดับแปลงใหญ่ชุมชนต้นแบบ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการที่ทาง วว.เข้ามาช่วยอำเภอภูเรือ เป็นโครงการที่ทาง วว. ทำนวัตกรรมเกษตรแล้วมองเห็นว่า ดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของการเกษตรที่มีมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับการเกษตรในส่วนอื่นๆ แต่ว่าการทำเกษตรเกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับนั้นมีข้อจำกัด เพราะบางชนิดต้องปลูกในอากาศหนาวเย็น ในส่วนที่ วว.ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมนั้นมีที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปช่วยในส่วนเรื่องของดอกไม้ เพราะเมื่อเทียบแล้วมูลค่าต่อไร่สูงกว่า โดยสิ่งที่ วว.ได้ทำนั้นคือ ดอกเบญจมาศ เพราะดอกเบญจมาศนั้นมีความต้องการค่อนข้างสูงของตลาด ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียและประเทศจีน มีปริมาณมาก ทางประเทศไทยผลผลิตทางด้านนี้ไม่เพียงพอ วว.ได้เข้ามาปรับปรุงพันธุ์ เพื่อที่จะมีสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง

เบญจมาศของ วว.ส่งเสริมได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเบญจมาศสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการวิจัยของ วว. โดยมีจุดเด่นของพันธุ์คือ ดอกสวย สีสดเด่น ทรงพุ่มสวย บางชนิดมีศักยภาพต้านทานโรคราสนิม มากกว่า 44 สายพันธุ์ เพื่อพัฒนาเป็นไม้ตัดดอก และไม้ดอกในกระถาง เนื่องจาก วว.พัฒนาสายพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งจะเหมาะกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อายุดอกจะยาวขึ้น เบญจมาศของ วว.ไม่ใช้สารเคมี เพราะจะเน้นทำเกษตรปลอดภัย ซึ่งจะมีผลและประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเองและผู้อื่น

นอกจากจะมีดอกเบญจมาศแล้ว ยังมีลิเซียนทัสอีกด้วย การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงลิเซียนทัส มีจำนวน 2 กลุ่ม คือส่งเสริมและทดลองปลูกเลี้ยงต้นลิเซียนทัส ในรูปแบบไม้กระถาง เพื่อเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้สีสันใหม่ๆ และเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ที่จะเริ่มมีการปลูกเลี้ยงในพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ตั้งแต่กระบวนการเพาะเมล็ด การดูแลรักษา จนกระทั่งสามารถออกดอก ซึ่งปกติแล้วลิเซียนทัสจะไม่สามารถปลูกในประเทศไทยได้ ทาง วว.เลยได้มาช่วยพัฒนาให้สามารถปลูกในประเทศไทยได้

ลิเซียนทัส เป็นดอกไม้ที่มีหลากสี มีลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ ซึ่งจะไม่มีทั้งหนามและไม่มีกลิ่น เหมาะสำหรับคนที่แพ้เกสรหรือกลิ่นของกุหลาบ ซึ่งเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทาง วว. ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร สามารถรู้วิธีปลูก ทำให้เกษตรกรปลูกลิเซียนทัสได้ โดยถ่ายทอดจากการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของพืช ซึ่งเมล็ดพันธุ์ของราคาอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาท ซึ่งเกษตรกรจะไม่ค่อยชอบซื้อเมล็ดพันธุ์มาขยาย จะซื้อเป็นต้นกล้ามาแทน โดย 1 ต้น ราคา 10 บาท ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในขวดแก้ว ต้นละ 1 บาท มี 10 ต้น ถ้าสามารถย้ายออกจากขวดแก้วได้ จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งขั้นตอนการย้ายเนื้อเยื่อออกจากขวด ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับเกษตรกรจะสามารถขยายพันธุ์ได้มากมายและยังลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้นำงานวิจัยไปถ่ายทอดเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในพื้นที่ให้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้กรอบการดำเนินงานขององค์ความรู้ วทน. จำนวน 6 ด้าน ดังนี้

- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการขยายพันธุ์พืชจำนวนมาก สามารถลดต้นทุนในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้
- การจัดดอกไม้เป็นของขวัญ เพื่อใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับที่มีการปลูกเลี้ยงและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม
- การแปรรูปและพัฒนาชาดอกไม้จากพันธุ์ไม้ที่มีการปลูกเลี้ยง เช่น กาแฟ ดาวเรือง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่
- การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ฟางข้าว และกก พัฒนาเป็นภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
- การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีระดับครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้อปุ๋ยเคมี ประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำปุ๋ยหมัก
- การป้องกันโรคและแมลง เพื่อหาวิธีป้องกันจากศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ
คุณอ๋อง หรือ คุณพิเชษฐ์ อุทธังชายา เกษตรกรปลูกดอกเบญจมาศ อายุ 46 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองได้ปลูกเบญจมาศมานานแล้ว ทำมาหลายปี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ทำมาต่อเนื่องตลอด เพราะไม่มีแหล่งที่คอยมาส่งเสริม แล้วพันธุ์ไม่มีการพัฒนา ต้นทุนสูง โดยแต่ละสีต้องมี 500 ยอด หากไม่ถึง คนขายพันธุ์จะไม่ทำให้ โดยตกยอดละ 5-8 บาท จนกระทั่ง วว.ได้เข้ามาช่วยส่งเสริม ซึ่งจะเป็นการส่งต้นกล้ามาให้ในแต่ละชนิดของแต่ละสายพันธุ์ จากนั้นนำมาขยายพันธุ์เอง หลังจากนั้น ทาง วว.ได้ เริ่มทำเป็นเนื้อเยื่อในขวดแก้วมาให้ ซึ่งคุณอ๋อง ได้เล่าต่อว่า ตนเองทำตามธรรมชาติ ซึ่งจะได้ไม่ได้จะดูกันอีกที หากไม่ได้จึงบอกให้ทาง วว.ทราบว่า สามารถนำเป็นแบบต้นกล้ามาให้ได้รึเปล่า เพราะจะได้ง่ายต่อเกษตรกรหลายๆ คน เพราะหากมาเป็นเนื้อเยื่อในขวดจะเป็นปัญหา บางคนเพาะพันธุ์จากเนื้อเยื่อเองไม่ได้ เพราะสถานที่ไม่ปลอดเชื้อ แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย ต้นทุนต่างจากพันธุ์ที่เจ้าตัวทำอยู่แล้ว ซึ่งจำนวนของเบญจมาศในแต่ละรอบว่ามีกี่ต้นจากเนื้อเยื่อในขวดที่ วว.นำมาให้ ว่าสายพันธุ์นั้นมากหรือน้อย ใน 1 ขวด ไม่ต่ำกว่า 10 ต้น โดยได้มารอบละ 40-50 ขวด เฉลี่ยแล้วได้ไม่ถึง 500 ต้น อยู่ที่ประมาณ 300 ต้น ในแต่ละสายพันธุ์ โดยจะขายในราคาเดียวกันหมด ทั้งพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ของ วว. เพราะลูกค้าส่วนใหญ่แล้ว จะสนใจเพียงความสวยงามและสีของดอกไม้เท่านั้น

ลูกค้าแต่ละรายสนใจแตกต่างกันไป บางรายถามว่ามีกี่สี กี่พันธุ์ หากมีการลดราคาจะบอกว่าแปลงนี้มาจากหน่วยงานที่สนับสนุน ส่วนแปลงนี้เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ทางไร่ได้ปลูกอยู่แล้ว ให้ลูกค้าได้ตัดสินใจ โดยสีที่ขายดีของเบญจมาศคือสีเหลืองและสีขาว ซึ่งต้องติดไปทุกครั้งของการส่งให้ลูกค้า สมมติว่าต้องส่งสีฉูดฉาดให้กับลูกค้า จำเป็นที่จะต้องมีสีเหลืองและสีขาวติดไปด้วย รายได้ต่างๆ ในครอบครัวก็ดีขึ้น หลังจากที่ วว.ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมในโครงการนี้

โครงการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดังกล่าว เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ชุมชน ให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ช่วยเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ของ วว. หรือการส่งเสริมพัฒนาด้านการเกษตรสาขาอื่นๆ ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ โทร. (02) 577-9000 โทรสาร (02) 577-9009 E-mail : [email protected] www.tistr.or.th Line@tistr
สามารถสอบถามเพิ่มเติมเรื่องการปลูกเบญจมาศที่ คุณอ๋อง หรือ คุณพิเชษฐ์ อุทธังชายา หมายเลขโทรศัพท์ (093) 564-0020

